posttoday

พระพรหมเมธี เสนอแก้ปัญหาเงินทอน

25 มิถุนายน 2560

ปัญหาเรื่องเงินทอที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงเรียกจากวัดที่ได้รับการอุดหนุน เป็นข่าวอื้อฉาวทุกวัน

โดย...ส.คนจริง

ปัญหาเรื่องเงินทอที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงเรียกจากวัดที่ได้รับการอุดหนุน เป็นข่าวอื้อฉาวทุกวัน จนชาวบ้านเข้าใจผิดคิดว่าคณะสงฆ์รู้เห็นเป็นใจ แต่ในความเป็นจริงแล้วคณะสงฆ์ระดับที่มีอำนาจในการปกครอง เช่น มหาเถรสมาคม (มส.) ก็ดี เจ้าคณะใหญ่ก็ดี ไม่เคยรู้เลยว่ารัฐบาลจัดงบประมาณอุดหนุนกิจการคณะสงฆ์ปีละเท่าไร

เรื่องนี้ พระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) กรรมการและโฆษก มส. เสนอแนวทางแก้แบบมีเหตุมีผล คือ ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) รายงานให้ มส.และเจ้าคณะใหญ่ทราบถึงงบประมาณที่รัฐบาลจัดให้แต่ละปี เพื่ออุดหนุน 1.การปฏิสังขรณ์วัด 2.เงินอุดหนุนสำหรับโรงเรียนพระปริยัติธรรม หรือพุทธศึกษา 3.เงินอุดหนุนการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และหรือกิจการเพื่อส่งเสริมการพระศาสนาที่เป็นรูปธรรมอื่นๆ

เมื่อ พศ.เห็นชอบว่าจะจัดสรรงบประมาณอุดหนุนให้แก่วัดไหน จำนวนเท่าไร พศ.ต้องรายงานให้ฝ่ายปกครองทราบ พร้อมทั้งเสนอแนะแก่วัดนั้นๆ ที่ได้รับงบอุดหนุน ว่าจะต้องจัดทำบัญชี และรายงานการใช้งบประมาณให้รัดกุม ตรวจสอบได้อย่างไรด้วย

วิธีที่นี้จะทำให้ผู้ปกครองรับรู้ ตรวจสอบได้ แต่ละวัดก็สามารถใช้เงินงบประมาณที่รัฐอุดหนุนได้ทุกบาททุกสตางค์ ปัญหาเงินทอนก็จะไม่มีต่อไป

ตามที่พระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์เป็นข่าวในแง่มุมต่างๆ ทุกวันนี้ มส.วิตกว่าประชาชนจะมองพระสงฆ์ว่ามัวหมอง มีส่วนร่วมในการทุจริตจ่ายเงินทอน ซึ่งในความเป็นจริงหากดูขั้นตอนการเบิกจ่ายงบประมาณแล้ว ไม่ง่ายเลย แต่การที่พระสงฆ์ต้องให้เงินทอนตามที่เรียกร้อง ก็ให้ด้วยความเกรงใจ หรือเกรงกลัว เช่น วัดแห่งหนึ่งใน จ.เพชรบุรี ได้เงินอุดหนุน 1 ล้านบาท จากรัฐก็ยินดี แต่เมื่อถูกเรียกเงินทอน 8 แสนบาทไม่มีให้ เพราะอยู่ในขั้นตอนการเบิกจ่าย วัดต้องไปขอยืมญาติโยมมาให้ เรื่องนี้ทำให้ญาติโยมกังขาว่าให้เงินอุดหนุนมาแล้ว ทำไมต้องจ่ายคืนไปจำนวนมาก จึงโวยจนเป็นข่าวใหญ่

เพื่อให้ มส.ได้ติดตามข่าวสารและวิเคราะห์วิจัยได้ทันเหตุการณ์ มส.จึงเห็นชอบให้มีคณะกรรมการติดตามข่าวสารที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา และกระทบศรัทธาประชาชน โดยเห็นชอบให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) กรรมการ มส. เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นประธาน คณะกรรมการ ประกอบด้วย กรรมการ มส.คือ พระพรหมเมธี พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) พระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม) พระพรหมมุนี(สุชิน อคฺคชิโน) พระพรหมโมลี(สุชาติ ธมฺมรตโน) และพระพรหมสิทธิ(ธงชัย สุขญาโณ) ส่วนฆราวาสมี 3 ท่าน ได้แก่ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการ พศ. บุญเชิด กิตติธรางกูร ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม และจำนงค์ สวมประคำ อดีตเลขาธิการวุฒิสภา (พ.ศ. 2545)

ในการนี้ สมเด็จพระวันรัต เสนอให้นับองค์ประชุมเป็นกรณีพิเศษ ว่ากรรมการมาประชุมกี่รูป/คน ถือว่าเป็นองค์ประชุม เพราะเห็นรายชื่อกรรมการแล้ว คงมีภารกิจมาก จะคอยให้ครบองค์ประชุมแต่ละครั้งคงยาก นอกจากนั้นให้ พศ.ไปยกร่างอำนาจหน้าที่ของกรรมการ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติต่อไปด้วย

 อนึ่ง ข่าวล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินทอนเงินอุดหนุนวัดนั้น เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2560 ผู้อำนวยการ พศ.เข้าพบ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี โดยได้แจ้งว่า ได้ตั้งกรรมการสอบวินัยข้าราชการ พศ. 4 ราย ตามที่พบมูลเหตุใน 12 กรณี และให้รายงานผลทุก 15 วัน แต่ยังตอบไม่ได้ว่าจะเสร็จเมื่อใด

วิษณุ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวทางการแก้ไขปัญหาว่า ให้ทำตามอำนาจหน้าที่ตามระเบียบ โดยกฎต่างๆ ได้กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งขั้นตอนอยู่ในเกณฑ์รัดกุมอยู่แล้ว ปัญหาการทุจริตจึงไม่ได้ทำง่ายๆ เหมือนเมื่อก่อน ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นก่อนปี 2558

ผู้อำนวยการ พศ.ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดที่มีข่าวว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมาระบุว่าพบวัดทางภาคใต้เกิดการทุจริตอีกประมาณ 70 แห่ง แนะให้ไปสืบข่าวจาก ป.ป.ช.

ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกันนี้ เมื่อวันที่22 มิ.ย. 2560 สรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้าคดีทุจริตเงินอุดหนุนวัด ที่ได้รับสำนวนจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวม 12 สำนวนว่า ฝ่ายเลขาธิการ ป.ป.ช.เสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้ว 7 สำนวนแรก เพื่อพิจารณาว่าจะตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนได้เลยหรือไม่ เหลืออีก 5 สำนวน ที่อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง ขณะเดียวกันสำนักงาน ป.ป.ช.ไต่สวนข้อมูลเบื้องต้นพบอีกอย่างน้อย 60-70 สำนวน ใน 60-70 วัด ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.สงขลา นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสตูล ที่อาจมีลักษณะเจ้าหน้าที่รัฐร่วมกระทำความผิดดังกล่าว โดยใช้โมเดลเดียวกัน คือ โอนเงินเกินแล้วมาเรียกเงินคืน หรือเงินทอน ซึ่งขยายผลจากกรณีบุกจับกุมผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสงขลา เมื่อปลายปี 2558 อย่างไรก็ตาม สำหรับความเสียหาย 60-70 สำนวน ประมาณ 90 ล้านบาทเศษ

วันนี้ จึงเสนอทั้งความเห็นและข่าว เพื่อความยั่งยืนแห่งพระพุทธศาสนา