กทค.ยึดมัดจำ-เรียกค่าเสียหาย "แจส" พร้อมเตรียมเปิดประมูลใหม่
กทค.แถลงยึดเงินมัดจำ 644 ล้านบาท พร้อมเรียกค่าเสียหายเพิ่ม หลังแจสเบี้ยวจ่ายเงินประมูล 4 จี พร้อมเตรียมเปิดประมูลใหม่ในราคาเริ่มต้น 7.5 หมื่นล้านบาท
กทค.แถลงยึดเงินมัดจำ 644 ล้านบาท พร้อมเรียกค่าเสียหายเพิ่ม หลังแจสเบี้ยวจ่ายเงินประมูล 4 จี พร้อมเตรียมเปิดประมูลใหม่ในราคาเริ่มต้น 7.5 หมื่นล้านบาท
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) แถลงว่า บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ ในเครือ บริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) ไม่ได้มาชำระเงินค่าใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ 900 MHz ภายในเวลาที่กำหนด 16.30 น.วันนี้ ดังนั้น กทค.จะมีหารือแนวทางดำเนินการต่อจากนี้ในวันที่ 24 มี.ค.นี้ เพื่อนำเสนอกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อไป
เบื้องต้นนี้ กทค.ยังคงย้ำมติเดิมที่ได้กำหนดแนวทางไว้ว่า หากผู้ชนะประมูลไม่มาจ่ายค่าใบอนุญาตจะมีการเปิดประมูลใหม่โดยจะใช้ราคาที่ แจส ชนะประมูลราว 7.5 หมื่นล้านบาทเป็นราคาเริ่มต้นประมูล และจะตัดสิทธิ แจส ในการเข้าประมูลอีกครั้ง แต่ไม่ตัดสิทธิรายอื่นที่เข้าประมูลครั้งก่อน
ส่วนการดำเนินการกับแจส ในกรณีที่ไม่ชำระเงินตามกำหนดจะมีการยึดเงินค้ำประกัน 644 ล้านบาทที่เป็นเช็คเงินสดที่สามารถขึ้นเงินได้ทันที รวมทั้งจะเรียกค่าเสียหาย ทั้งที่กำหนดไว้เดิมและอาจมีประกาศฉบับใหม่ นอกจากนี้ยังจะทบทวนใบอนุญาตให้บริการอื่น ๆ ที่แจสได้รับจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้วย
ด้าน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า จะมีการหารือเรื่องนี้อีกครั้งในวันพุธที่ 23 มี.ค.นี้ แต่ในขณะนี้ยังคงยึดหลักการเดิม คือราคาประมูลจะเริ่มต้นที่ 7.5หมื่นล้านบาทและใช้เวลาในการดำเนินงานประมูลรอบใหม่อย่างน้อย 4 เดือน
"วันนี้ยังไม่อยากให้คำตอบ หากยังไม่ได้คุยรายละเอียดที่ชัดเจนกับฝ่ายกฎหมายที่ต้องใช้ความรอบคอบและระมัดระวังที่สุดเพราะถือว่าเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ โดยทางกสทช.จะยึดหลักประกัน มูลค่า 644 ล้านบาท ของแจสที่สั่งจ่ายเป็นเช็คเงินสดทันที ส่วนค่าปรับอื่นๆ ต้องรอข้อสรุปจากที่ประชุมอีกครั้ง"นายฐากรกล่าว
นายฐากรกล่าวอีกว่า ต้องการให้ทางผู้บริหารแจสเป็นผู้ออกมาชี้แจงเอง เพราะเป็นบริษัทมหาชน ควรมีธรรมภิบาลในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งทางตลาดหลักทรัพย์เองก็ได้พยายามติดต่อผู้บริหารแล้วแต่ก็ไม่สามารถติดต่อได้ จะจ่ายหรือไม่จ่าย ถือว่าเป็นเรื่องของกระบวนการ แต่ความชัดเจนในการดำเนินธุรกิจเป็นสิ่งที่ต้องชี้แจงให้ประชาชนรับรู้ เพราะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญและหลังจากที่มีผู้ประสานงานติดต่อมาในช่วงเช้า และก็ไม่ได้มีการพูดคุยกันอีก เพราะหากเกินเวลา 15.30 น ที่เป็นเวลาทำการของธนาคาร ทางกสทช.ก็ถือว่าไม่มีการมาจ่ายแล้ว
อย่างไรก็ตาม มติกทค.ที่พิจารณาแล้ว มี 5 ข้อ ดังนี้
1. หากมีการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ครั้งใหม่เกิดขึ้น ราคาเริ่มต้นการประมูลจะต้องถูกกำหนดไว้ในราคาที่ผู้ชนะการประมูลครั้งที่แล้ว
2.การประมูลคลื่นความถี่ครั้งใหม่จะไม่ตัดสิทธิผู้ชนะการประมูลครั้งที่แล้ว ที่ได้นำเงินมาชำระในการที่จะเข้าประมูลใหม่เพื่อให้การแข่งขันมีมากราย
3.หากมีการประมูลแล้วไม่มีผู้สนใจเข้าร่วม ทางกสทช.จะไม่นำคลื่นความถี่ดังกล่าวมาประมูลในครั้งที่สองทันที โดยจะเก็บคลื่นไว้ไม่น้อยกว่า 1 ปี และหากมีการประมูลใหม่หลังจากนั้น ราคาเริ่มต้นก็จะต้องไม่น้อยกว่าราคาที่ผู้ชนะการประมูลชนะไปในครั้งที่แล้ว
4.ผู้ชนะการประมูลที่ไม่นำเงินมาชำระตามกำหนดเวลา นอกจากจะริบหลักประกันแล้ว ทางกสทช.ยังจะเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นตามกฏหมายหรือประกาศที่กำหนดไว้เพิ่มเติมอีก และจะตรวจสอบคุณสมบัติของการเป็นผู้ประกอบกิจการที่รับใบอนุญาตเดิมจากกสทช.ทั้งกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม
5.เนื่องจากเรื่องนี้ยังเป็นสิทธิของผู้ชนะการประมูลที่จะนำเงินมาชำระได้จนถึงวันที่ 21 มี.ค. 2559 ดังนั้น ขอให้กทค.ทุกท่านรวมทั้งกสทช.หลีกเลี่ยงการให้ข่าวที่เป็นอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้นในระหว่างนี้