posttoday

อาลีบาบาจับมือรัฐ-เอกชน ดันอุตสาหกรรมไทยไปนอก

23 มีนาคม 2559

อาลีบาบามองว่าไทยประเทศที่มีศักยภาพและมีโอกาสขยายช่องทางการซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ไปทั่วโลกได้ไม่ยาก

โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ

การผลักดันธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าสู่ตลาดโลกนั้น ถือเป็นความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และตัวผู้ประกอบการเอง ซึ่ง อาลีบาบา (Alibaba) เบอร์หนึ่งในแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์แบบบีทูบีจากประเทศจีน ได้เล็งเห็นศักยภาพของตลาดเอเชีย 6 ประเทศหลัก ประกอบด้วย ไทย อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และตุรกี เพราะมองว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพและมีโอกาสขยายช่องทางการซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ไปยังฝั่งยุโรปและทั่วโลกได้ไม่ยาก

อู๋เจ๋อ ผู้จัดการประจำประเทศไทย อาลีบาบาดอทคอม กล่าวว่า เว็บไซต์อาลีบาบาเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ มีผู้ใช้งานกว่า 240 ประเทศทั่วโลก จำนวนร้านค้าออนไลน์กว่า 2 ล้านราย มีลูกค้าผู้ใช้งานกว่า 100 ล้านราย แปลภาษาได้อัตโนมัติกว่า 15 ภาษา และมีการใช้งานแล้วกว่า 40 ประเภทอุตสาหกรรม

“ผู้ใช้งานอาลีบาบาส่วนใหญ่จะมาจากสหรัฐกว่า 20 ล้านราย รัสเซีย 12 ล้านราย บราซิล 10 ล้านราย อินเดีย 5 ล้านราย เป็นต้น แต่จำนวนธุรกิจไทยที่เข้าไปทำธุรกิจในช่องทางของอาลีบาบายังมีไม่มากนัก เราจึงเข้ามาทำตลาดโดยร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเจ้าของกิจการที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมด้านการส่งออกประมาณ 3-4 หมื่นราย ได้หันมาใช้งานแพลตฟอร์มของอาลีบาบามากขึ้น” อู๋เจ๋อ กล่าว

บุรินทร์ เกล็ดมณี ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท เรดดี้แพลนเน็ต กล่าวว่า ไทยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 2.9 ล้านราย มีเอสเอ็มอีที่พร้อมใช้
งานออนไลนเพียง 1 ล้านราย และธุรกิจที่มีความพร้อมในเรื่องการส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศแค่ 3-4 หมื่นรายเท่านั้น

“นโยบายหลักของอาลีบาบามองว่าอี-คอมเมิร์ซจะเป็นอนาคตของธุรกิจ การเข้ามาสนับสนุนเรื่องการค้าส่งออกจะช่วยให้เกิดการซื้อขายออนไลน์และเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ๆ ได้มากขึ้น แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีระบบเพย์เมนต์และโลจิสติกส์ที่ดีพอ แต่การมีคู่ค้าและเครื่องมือที่ดีจะช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออกให้ดีขึ้น ธุรกิจไทยจึงควรฉวยโอกาสครั้งนี้ไว้” บุรินทร์ กล่าว

การเข้าร่วมโครงการกิจกรรมส่งเสริมเอสเอ็มอีทำธุรกิจในรูปแบบบีทูบีผ่านเว็บไซต์อาลีบาบานั้น จะมีการคัดกรองบริษัทที่อยู่ในกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจำนวน 200 ราย จากนั้นจะคัดกรองบริษัทที่มีความพร้อมให้เหลือ 50 รายในการเข้าอบรม ซึ่งขั้นตอนการคัดเลือกรอบแรกจะไม่เสียค่าใช้จ่ายจนถึงขั้นสุดท้ายจะเสียค่าอบรมเริ่มต้นตั้งแต่ 50,896-218,244 บาท

“การคิดค่าบริการระดับนี้ไม่ได้ถือว่าสูงหากเปรียบเทียบกับการไปตั้งบูธที่ต่างประเทศที่ต้องจ่ายเงินไม่น้อยกว่าหลักแสน การเข้ามาทำตลาดร่วมกับอาลีบาบานอกจากจะช่วยสร้างโอกาสและความน่าเชื่อถือในระดับโลกแล้ว ยังสามารถโปรโมทสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์อย่างกูเกิล เฟซบุ๊ก ที่เรดดี้แพลนเน็ตให้คำปรึกษา รวมทั้งได้เข้าคอร์สอบรมต่างๆ พร้อมคำปรึกษาจากทีมงานผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศให้ตีตลาดโลกได้อย่างแข็งแกร่ง” บุรินทร์ กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเองก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็น 1.สร้างความน่าเชื่อถือให้บริษัทและตนเอง อีเมลติดต่อควรเป็นในนามบริษัท ไม่ใช่อีเมลที่สร้างโดยผู้ให้บริการสาธารณะ 2.สินค้าต้องมีรายละเอียดครบถ้วน 3.รูปประกอบต้องน่าสนใจหรือทำเป็นคลิปวิดีโอแนะนำสินค้า คาดว่าในกลุ่มอุตสาหกรรมด้านการส่งออกทั้ง 3-4 หมื่นราย จะเข้ามาใช้ช่องทางออนไลน์ในการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศอย่างน้อย 10% ในระยะเวลา 1-2 ปี เพื่อสร้างโอกาสในการจับตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น