ทรูฯ เกตเวย์ลุยลงทุน รับไทยเป็นดิจิทัลฮับ
การเชื่อมต่อเครือข่ายในไทยไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ทรู อินเตอร์เนชั่นแนล เกตเวย์ มีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิม
โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ
พฤติกรรมการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศและการโรมมิ่งสัญญาณไปยังต่างประเทศนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อเว็บไซต์ หรือระบบออนไลน์ รวมทั้งโซเชียลมีเดียและรับส่งข้อมูลขององค์กรระหว่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ทรู อินเตอร์เนชั่นแนล เกตเวย์ มีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิม
รุ่งเกียรติ กมลเดชเดชา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทรู อินเตอร์เนชั่นแนล เกตเวย์ กล่าวว่า การเชื่อมต่อเครือข่ายระหว่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากการใช้งานของลูกค้าทั่วไป การเช่าใช้เครือข่ายของกลุ่มผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) และองค์กรธุรกิจต่างๆ ทำให้บริษัทมีรายได้ในปีที่ผ่านมา 1,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 20% และในปีนี้ด้วยการใช้งานเชื่อมต่อเครือข่ายที่เพิ่มมากขึ้น บริษัทจึงตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 25% หรือ 1,800 ล้านบาท
“การเชื่อมต่อเครือข่ายในไทยไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปีที่ผ่านมามีการใช้แบนด์วิดท์เพื่อเชื่อมต่อสูงถึง 370 GB และในปีนี้คาดว่าจะมีการใช้งานออนไลน์ผ่านโมบาย และการรับส่งข้อมูลของภาคธุรกิจที่มีสาขาในต่างประเทศหรือเช่าใช้ในประเทศ บริษัทจึงลงทุนเพิ่มอีก 340 ล้านบาท เพื่อเพิ่มความจุให้มีประสิทธิภาพรองรับการใช้งานมากถึง 800 GB แบ่งเป็น แบนด์วิดท์สำหรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อให้บริการกลุ่มทรูและไอเอสพี 600 GB และวงจรเช่าใช้ระหว่างประเทศอีก 200 GB เพื่อให้ใช้งานได้อย่างราบรื่น ถือว่าเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตให้ไทยเป็นดิจิทัลฮับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” รุ่งเกียรติ กล่าว
ทั้งนี้ การใช้งานโซเชียลผ่านทางสมาร์ทโฟนและ 4จี ของคนไทย ทำให้การรับส่งข้อมูลผ่านเกตเวย์ออกไปต่างประเทศ ส่งผลเสียให้ไทยต้องเสียรายได้ส่วนนี้ออกนอกประเทศ รวมทั้งการบริโภคแบนด์วิดท์ขององค์กรต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น จากที่เคยคาดการณ์ว่าจะโตเพียง 30% กลับโตมากขึ้นถึง 50% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
“น่าเสียดายที่ผู้ให้บริการคอนเทนต์โพรไวเดอร์เหล่านี้ไปตั้งศูนย์ที่ต่างประเทศ เช่น เฟซบุ๊กที่สิงคโปร์หรือกูเกิล ที่มาเลเซีย หากมีความร่วมมือที่ดึงดูดบริษัทเหล่านี้ได้ เราคงจะไม่เสียโอกาสสร้างรายได้เข้าประเทศ เพราะคนไทยมีอัตราใช้งานออนไลน์เหล่านี้สูงมากขึ้นเรื่อยๆ ตามอัตราการเติบโตของสมาร์ทโฟน ซึ่งผมไม่มีตัวเลขส่วนนี้ที่ชัดเจน แต่ในกลุ่มทรูเองถือว่ายังมีโอกาสจากการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ ทำให้บริษัทจากจีนที่เข้ามาลงทุนตั้งสาขาในไทย ก็มีการใช้เกตเวย์ของเราเยอะมากเช่นกัน” รุ่งเกียรติ กล่าว
สุพจน์ มหพันธ์ ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจบริการระหว่างประเทศ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรู อินเตอร์เนชั่นแนล เกตเวย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มทรูได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกรอบความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ภายใต้โครงการแฮนด์อินแฮนด์ กับทางไชน่าโมบายล์ อินเตอร์เนชั่นแนลจากจีนและสตาร์ฮับ จากสิงคโปร์ ในการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อให้กลุ่มพันธมิตรทำงานร่วมกันได้แบบราบรื่นขึ้น
“การร่วมมือกับทั้งสองพาร์ตเนอร์จะมี 5 ด้าน คือ 1.ดีไวซ์ 2.โมบายบิซิเนส 3.ดาต้าบิซิเนส 4.เน็ตเวิร์ก และ 5.อินเทอร์เน็ตและอินโนเวชั่น ทำให้การร่วมมือกันดังกล่าวจะเกิดประโยชน์หลายด้าน เช่น โทรไปต่างประเทศได้ถูกขึ้น ช่วยให้องค์กรธุรกิจจากจีนที่มาตั้งสาขาในไทย ใช้อินฟราสตรักเจอร์ของทรูได้ หรือทรูไปเช่าใช้เคเบิ้ลใต้น้ำของคู่ค้าไปบางประเทศได้สะดวกขึ้น” สุพจน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทางทรูได้มีการเข้าไปพูดคุยกับทางภาครัฐ ในเรื่องของการขยายเกตเวย์อินเทอร์เน็ตไปยังต่างประเทศ โดยมีการเข้าไปร่วมฟังนโยบายและรายละเอียดต่างๆ แต่ยังไม่คืบหน้า