เฟซบุ๊กใช้ AI ตรวจสอบผู้ใช้ที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย
เฟซบุ๊กป้องกันการถ่ายทอดสดวิดีโอฆ่าตัวตายด้วยการใช้ปัญญาประดิษฐ์สำรวจโพสต์ที่มีความเสี่ยง และให้ผู้ใช้งานร่วมเป็นหูเป็นตา
เฟซบุ๊กป้องกันการถ่ายทอดสดวิดีโอฆ่าตัวตายด้วยการใช้ปัญญาประดิษฐ์สำรวจโพสต์ที่มีความเสี่ยง และให้ผู้ใช้งานร่วมเป็นหูเป็นตา
เฟซบุ๊กเตรียมใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการตรวจสอบผู้ใช้งานที่มีแนวโน้มฆ่าตัวตาย โดยระบบที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้จะมองหาสัญญาณเตือน เช่น เนื้อหาการโพสต์ และความคิดเห็นจากเพื่อนๆของผู้ใช้ ว่ามีความเสี่ยงสูงแค่ไหนที่อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้
ประเด็นการใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือถ่ายทอดสดการฆ่าตัวตายนี้ถูกตั้งคำถามจากสังคม หลังเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา Katelyn Nicole Davis เด็กหญิงวัย 12 ปี ได้ถ่ายทอดสดการจบชีวิตของตัวเองลง และเฟซบุ๊กไม่สามารถควบคุมการแชร์วิดีโอดังกล่าวได้
หนึ่งเดือนต่อมา มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเฟซบุ๊ก ออกมาสร้างความมั่นใจให้แก่บรรดาผู้ใช้งานเฟซบุ๊กจำนวน 2 พันล้านคน ว่าขณะนี้เฟซบุ๊กพร้อมแล้วในการเสริมสร้างชุมชนบนโลกออนไลน์ที่ปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งรวมไปถึงการป้องกันเพื่อนบนเฟซบุ๊กของเรา จากการฆ่าตัวตาย
จากการแถลงข่าวเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ระบบ AI จะแพทเทิร์นของการโพสต์ซ้ำๆที่มีเนื้อหาเชื่อมโยงกับการฆ่าตัวตาย นอกจากนั้นยังรวมไปถึงความคิดเห็นจากเพื่อนๆเช่น "เป็นอะไรหรือเปล่า?" หรือ "ฉันอยู่ตรงนี้เสมอเพื่อช่วยเธอ" เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าคนๆหนึ่งกำลังเผชิญกับปัญหา และดิ้นรนต่อสู้กับมันอยู่
และเฟซบุ๊กยังเปิดโอกาสให้ผู้ใช้อื่นๆร่วมกันเป็นหูเป็นตาอีกด้วย หากพบสัญญาณที่สุ่มเสี่ยง หรือวิดีโอถ่ายทอดสดที่น่าเป็นกังวลก็สามารถคลิกปุ่มรายงานไปยังเฟซบุ๊กได้ ทางทีมงานของเฟซบุ๊กก็จะส่งคำแนะนำมายังผู้ใช้งานว่าควรให้คำแนะนำแก่ผู้ใช้รายนั้นอย่างไรได้บ้าง ซึ่งความช่วยเหลือนี้ได้รับความร่วมมือจากกรมสุขภาพจิตของสหรัฐ และสมาคมป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ เป็นต้น
ด้านมาร์กเองกล่าวว่า นอกเหนือไปจากแนวโน้มการฆ่าตัวตายแล้ว ปัญญาประดิษฐ์ใหม่นี้ยังสามารถใช้ในการติดตามโพสต์เนื้อหาที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นการก่อการร้าย หรือการใช้ความรุนแรงบนโลกออนไลน์ได้อีกด้วย ทั้งนี้บริการทั้งหมดนี้จะเริ่มทดลองใช้งานแค่ในสหรัฐอเมริกาก่อน เป็นประเทศแรก