ออมสินดีเดย์ให้กู้ซอฟต์โลนม.ค.นี้
เริ่มปล่อยซอฟต์โลน 5 หมื่นล้าน กลางเดือน ม.ค.นี้ เชื่อเอสเอ็มอีเร่งเบิกใช้
เริ่มปล่อยซอฟต์โลน 5 หมื่นล้าน กลางเดือน ม.ค.นี้ เชื่อเอสเอ็มอีเร่งเบิกใช้
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า การปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ (ซอฟต์โลน) ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ขยายวงเงินเพิ่มเติมอีก 5 หมื่นล้านบาทนั้น ธนาคารเตรียมจะหารือความพร้อมกับสถาบันการเงิน 19 แห่ง ในวันที่ 7 ม.ค.นี้ ก่อนที่จะลงนามในวันที่ 13 ม.ค.นี้ คาดว่าจะสามารถรองรับความต้องการสินเชื่อที่ค้างอยู่จากวงเงินรอบแรก 5 หมื่นล้านบาท
สำหรับการปล่อยกู้เพิ่มครั้งนี้ ธนาคารออมสินได้กำหนดเงื่อนไขการปล่อยกู้สินเชื่อซอฟต์โลนแตกต่างจากครั้งที่ผ่านมา โดยกำหนดวงเงินให้กู้ได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท จากเดิมที่ให้กู้ได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท/ราย คาดว่าจะมีการพิจารณาอนุมัติวงเงินภายในเดือน มิ.ย. 2559 และต้องเบิกจ่ายภายในวันที่ 30 ก.ย. 2559
นายชาติชาย กล่าว่า เชื่อว่าลูกค้าผู้ประกอบการที่ต้องการสินเชื่อให้เร่งติดต่อสถาบันการเงินโดยเร็ว เพื่อรับสิทธิอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยธนาคารประเมินว่าจะมีผู้ขอสินเชื่อในรอบ 2 นี้ได้ประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท
ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในปี 2559 ของไทย เชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะทรงดอกเบี้ยไว้ให้นานที่สุด เพื่อส่งเสริมให้กับภาครัฐและเอกชนเกิดการลงทุนในการพัฒนาประเทศ โดยเชื่อว่าจะมีการปรับดอกเบี้ยอีกครั้งในปลายปีประมาณ 0.25-0.50%
สำหรับผลการดำเนินงานของธนาคารในปี 2558 ที่ผ่านมา พบว่ามีอัตราการฝากเงินของประชาชนเพิ่มขึ้นประมาณ 3-4% ทำให้เงินฝากภาพรวมของธนาคารขยายตัวที่ 6% ด้านสินเชื่ออยู่ที่ 6.6% หลังจากนี้ธนาคารจะเน้นจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการออมมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนทั่วไปมีเงินออมไว้ใช้ในยามจำเป็น
ก่อนหน้านี้ ธนาคารออมสินได้จัดสินเชื่อซอฟต์โลนวงเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งปรากฏว่าธนาคารพาณิชย์ได้เบิกเงินกู้สินเชื่อซอฟต์โลน เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเต็มวงเงินภายในเวลาเพียง 2 เดือน โดยมีเอสเอ็มอีที่มากู้จำนวน 1.3 หมื่นราย เฉลี่ยให้กู้รายละ 8 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยังมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมากที่ยังมีความต้องการใช้สินเชื่ออยู่ โดยพบว่าธนาคารพาณิชย์ยังมีคำขอกู้ที่ค้างท่ออยู่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ครม.จึงมีมติเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ให้ธนาคารออมสินจัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพิ่มอีก 5 หมื่นล้านบาท เพื่อจัดสรรให้กับธนาคารพาณิชย์นำไปปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยให้คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 4% ต่อปี ระยะเวลาในการกู้ 7 ปี และจำกัดวงเงินกู้รายละไม่เกิน 10 ล้านบาท
ทั้งนี้ รัฐบาลชดเชยส่วนต่างดอกเบี้ยให้กับธนาคารออมสินในอัตราเท่ากับต้นทุนทางการเงินของธนาคาร คิดแล้วปีละ 1,430 ล้านบาท/ปีงบ รวมเวลาชดเชย 7 ปี เป็นเงิน 10,010 ล้านบาท ทั้งนี้ให้เบิกจ่ายตามที่เกิดขึ้นจริง