posttoday

คลังห่วงหนี้บัตรเครดิตเสี่ยง

02 มีนาคม 2559

คลังแจงหนี้ครัวเรือน 81.1% ของจีดีพี แต่ยังจัดการได้ ห่วงหนี้บัตรเครดิต-สินเชื่อบริโภคเสี่ยงค่อนข้างสูง

คลังแจงหนี้ครัวเรือน 81.1% ของจีดีพี แต่ยังจัดการได้ ห่วงหนี้บัตรเครดิต-สินเชื่อบริโภคเสี่ยงค่อนข้างสูง

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้รายงานสถานการณ์หนี้ครัวเรือนและมาตรการลดภาระหนี้ภาคครัวเรือนและหนี้นอกระบบให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ โดยระบุว่า จากข้อมูล ณ ไตรมาส 3 ปี 2558 ของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยอยู่ที่ 81.1% ซึ่งเป็นระดับที่ทรงตัวจากที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถยนต์คันแรก บ้านหลังแรก และบางส่วนก็เพิ่มขึ้นจากบัตรเครดิต

อย่างไรก็ตาม เมื่อจำแนกหนี้แต่ละประเภทเมื่อเทียบกับหนี้ครัวเรือนรวม พบว่าหนี้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยมีสัดส่วน 27.1% ของหนี้ครัวเรือนรวม เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) 3.4% ของหนี้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย และหนี้เพื่อการซื้อรถยนต์มีสัดส่วน 15.1% ของหนี้ครัวเรือนรวม เป็นเอ็นพีแอล 1.4% ของหนี้เพื่อการซื้อรถยนต์ ซึ่งหนี้ทั้งสองกลุ่มนี้กระทรวงการคลังประเมินว่ามีความเสี่ยงต่อระบบสถาบันการเงินไม่สูงมาก

ขณะที่หนี้บัตรเครดิตมีสัดส่วน 2.5% ของหนี้ครัวเรือนรวม เป็นเอ็นพีแอล 3.4% ของหนี้บัตรเครดิต และหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคมีสัดส่วน 3% ของหนี้ครัวเรือนรวม เป็นเอ็นพีแอล 5.2% ของหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งหนี้ 2 กลุ่มนี้กระทรวงการคลังประเมินว่ามีความเสี่ยงต่อระบบสถาบันการเงินค่อนข้างสูง แต่ ธปท.มีมาตรการกำกับหนี้กลุ่มนี้แล้ว

พล.ต.สรรเสริญ ระบุว่า กระทรวงการคลังประเมินว่าหนี้สินครัวเรือนที่ระดับ 81.1% ยังไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยมากนัก เพราะเอ็นพีแอลอยู่ในระดับต่ำ แต่จะสังเกตได้ว่าคุณภาพ สินเชื่อจะด้อยลง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวในระดับต่ำไม่กระทบต่อการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือน และไม่ทำให้การผ่อนชาระสินเชื่อเพิ่มขึ้นมากนัก

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังรายงานความคืบหน้ามาตรการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนและหนี้นอกระบบ โดยเฉพาะหนี้สินเกษตรกรรายย่อยผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 8.18 แสนราย มูลหนี้ 1.16 แสนล้านบาท และตั้งแต่เดือน ก.พ. 2559 ได้จัดหน่วยเคลื่อนที่เข้าไปถึงชุมชนเพื่อดำเนินกิจกรรมไกล่เกลี่ยหนี้และประนอมหนี้นอกระบบ และให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ประชาชนระดับฐานราก พร้อมทั้งดำเนินมาตรการให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินเพิ่มขึ้นผ่านสินเชื่อนาโนไฟแนนท์