ธปท.ขาดทุน8.91หมื่นล้าน
ธปท.ขาดทุนสะสมเพิ่มเป็น 6.35 แสนล้าน ผลดำเนินงานปี 2558 ติดลบ 8.91 หมื่นล้าน จากรายได้ส่วนต่างดอกเบี้ยลด อัตราแลกเปลี่ยน
ธปท.ขาดทุนสะสมเพิ่มเป็น 6.35 แสนล้าน ผลดำเนินงานปี 2558 ติดลบ 8.91 หมื่นล้าน จากรายได้ส่วนต่างดอกเบี้ยลด อัตราแลกเปลี่ยน
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานงบการเงินประจำปี 2558 ว่า ธปท.มีผลขาดทุนประจำปีรวม 8.91 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.8 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนหน้าที่มีผลขาดทุนที่ 6.16 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ผลขาดทุนมาจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยรับและอัตราดอกเบี้ยจ่ายในการดูแลสภาพคล่องในระบบการเงิน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรในประเทศ
ดังนั้น จึงส่งผลให้ส่วนนี้มีผลขาดทุนอยู่ที่ 4.48 หมื่นล้านบาท และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ซึ่งมีผลขาดทุนอยู่ที่ 3.81 หมื่นล้านบาท และการขาดทุนจากการดำเนินการอีก 2.67 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ ธปท.มีการขาดทุนสะสม ณ สิ้นปี 2558 อยู่ที่ 6.35 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีขาดทุนสะสมที่ 5.73 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ดี ธปท.ยังรายงานงบการเงินที่รวมกำไรหรือขาดทุนจากการตีราคาทุนสำรองระหว่างประเทศที่เหลืออยู่ในบัญชีในราคาปัจจุบัน ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2558 เพื่อให้ทราบมูลค่าที่แท้จริงของทุนสำรองทางการระหว่างประเทศ พบว่าส่วนเปลี่ยนแปลงในบัญชีเงินสำรองอันเกิดจากการตีราคาสินทรัพย์และหนี้สิน (ที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง) มีกำไรรวม 1.84 แสนล้านบาท ทำให้พลิกกลับมาเป็นกำไรได้ จากปีก่อนหน้าที่มีผลขาดทุน 2.12 แสนล้านบาท แต่มีขาดทุนจากการประมาณการตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยอยู่ที่ 780 ล้านบาท ทำให้เมื่อรวมผลขาดทุนประจำปีแล้วอยู่ที่ 8.91 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้งบการเงินของ ธปท.แบบเบ็ดเสร็จในปี 2558 มีกำไร 9.43 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนหน้าที่มีผลขาดทุน 2.74 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ธปท.รายงานว่า ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2558 ที่ผ่านมา ในการดำเนินกิจการตามปกติ ธปท.ถูกฟ้องร้องเป็นทุนทรัพย์รวม 620 ล้านบาท ในขณะนี้ยังไม่ทราบผลของคดี และจากการคาดการณ์เมื่อคดีถึงที่สุด ความเสียหายซึ่งเป็นทุนทรัพย์ที่ถูกฟ้องร้องน่าจะไม่มีผลกระทบอย่างเป็นสาระสำคัญต่อฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของ ธปท.ในอนาคต
ทั้งนี้ ธปท.ได้คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2559 น่าจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แม้การส่งออกอาจจะยังติดลบ แต่เศรษฐกิจไทยจะได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชนที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการภาครัฐ การท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังได้รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือน พ.ค.ว่า ยังทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยอยู่ที่ระดับ 49.7 จุด ซึ่งทรงตัวใกล้กับระดับ 50 จุด ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งเป็นระดับที่สะท้อนความไม่เชื่อมั่นเพราะต่ำกว่า 50 จุด แม้เศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังคงกระจุกตัวในบางธุรกิจ ดังนั้นความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจจึงยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้นเล็กน้อยตามองค์ประกอบด้านผลประกอบการและคำสั่งซื้อในประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในกลุ่มยานยนต์ และกลุ่มผลิตกระดาษ และการพิมพ์ ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคบริการในกลุ่มธุรกิจที่พักแรมและบริการด้านอาหารปรับลดลงตามภาวะการท่องเที่ยวที่เริ่มเข้าสู่ช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ภาพรวมคำสั่งซื้อที่ปรับดีขึ้นทำให้ผู้ประกอบการคลายความกังวล และมองว่าข้อจำกัดด้านความต้องการจากตลาดในประเทศต่ำปรับลดลงในเดือนนี้
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประเมินว่าภาวะทางธุรกิจจะดีขึ้นจากปัจจุบัน สะท้อนจากดัชนีที่อยู่เหนือระดับ 50 และมากกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต