posttoday

ธปท.ยันระบบ "พร้อมเพย์" ปลอดภัย แจงเคลียร์บวรศักดิ์แล้ว

12 กรกฎาคม 2559

ธปท.เผยเคลียร์ "บวรศักดิ์" แล้ว ยันระบบพร้อมเพย์ปลอดภัย แนะไม่ควร "เจลเบรค" มือถือเสี่ยงแบงก์จะไม่รับผิดชอบ

ธปท.เผยเคลียร์ "บวรศักดิ์" แล้ว ยันระบบพร้อมเพย์ปลอดภัย แนะไม่ควร "เจลเบรค" มือถือเสี่ยงแบงก์จะไม่รับผิดชอบ

นางฤชุกร สิริโยธิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวชี้แจงถึงระบบความปลอดภัยของระบบ “พร้อมเพย์ – PromptPay” ที่ก่อนหน้านี้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ออกมาระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับระบบพร้อมเพย์ เพราะไม่มีความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลว่า ทางธปท.ได้ชี้แจงกับนายบวรศักดิ์ และนายบวรศัดิ์ก็เข้าใจแล้ว เพราะนายบวรศักดิ์บอกว่าถ้าระบบไม่ใช่การบังคับก็ไม่ติดใจ เพราะระบบเป็นเพียงทางเลือกในการรับโอนเงินและชำระเงิน

นอกจากนี้ธปท.ได้ชี้แจงถึงการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลว่า ธปท.มีพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน  มาตรา 154 ในการกำกับดูแลไม่ให้สถาบันการเงินนำข้อมูลความลับของลูกค้าไปเปิดเผยอยู่แล้ว และได้กำหนดบทลงโทษกรณีมีผู้ฝ่าฝืนทั้งจำและปรับด้วย แต่นายบวรศักดิ์ได้ฝากว่า อยากให้ผลักดันกฎหมายการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลในระดับประเทศ (data privacy law) ที่สามารถดูแลได้ในทุกภาคส่วนทั้งประเทศไทย

"ถามว่าหนักใจหรือไม่เพราะเพิ่งจะเริ่มต้นทำระบบพร้อมเพย์แต่ก็เกิดปัญหาความไม่เข้าใจค่อนข้างมากนั้น เราเข้าใจว่าเป็นพัฒนา เป็นการสนับสุนนระบบการชำระเงินที่เป็นการสร้างพื้นฐานของประเทศใหม่ อาจจะมีคำถามจากความไม่เคยชิน ซึ่งเราก็ต้องอธิบายไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและให้คนเข้ากันมากขึ้น"นางฤชุกรกล่าว

ด้านนางบุษกร ธีระปัญญาชัย ผู้อำนวยการ ฝ่ายตรวจสอบความเสี่ยงและเทคโนโลยีสารสนเทศ ธปท. กล่าวว่า หากจะให้ปลอดภัยขึ้นและให้ธนาคารรับผิดชอบความเสียหายที่อาจจะเกิดกับระบบ ประชาชนผู้ใช้บริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือไม่ควรไปทำเจลเบรค (jailbreak) หรือ การดัดแปลงระบบไอโอเอสของแอปเปิลเพื่อให้ลงแอพพลิเคชั่นต่างๆ ได้ฟรีโดยไม่ผ่าน แอพสโตร์ เพราะธนาคารอาจจะไม่รับผิดชอบความเสียหายจากการไม่มีระบบป้องกันไวรัสก็ได้ อย่างไรก็ดีขณะนี้ธนาคารหลายแห่งก็มีการช่วยลูกค้าด้วยการให้บริการอัพเดทไวรัสให้ด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีประชาชนมาลงทะเบียนผ่านธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐในช่วงวันที่ 1 ก.ค. – 11 ก.ค.ที่ผ่านมาแล้วทั้งสิ้น 9.7 ล้านราย แบ่งเป็น ลงทะเบียนผูกบัญชีธนาคารกับเบอร์โทรศัพท์ 1.6 ล้านราย และผูกหมายเลขบัตรประชาชนอีก 8.1 ล้านราย

ก่อนหน้านี้ นายบวรศักดิ์ ออกมาระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับระบบพร้อมเพย์ และหากไม่มีการออกกฎหมายบังคับใช้ จะไม่มีวันยอมเข้าระบบ เนื่องจากมีการใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชนที่ถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลมาเชื่อมโยงข้อมูล ซึ่งอาจจะไม่ปลอดภัย