เลื่อนหักเงินเดือนใช้หนี้กยศ.
กยศ.เชื่อมโยงระบบสรรพากร เรียกเก็บหนี้รายเดือนจากลูกหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาได้ไตรมาสแรกปีหน้า
กยศ.เชื่อมโยงระบบสรรพากร เรียกเก็บหนี้รายเดือนจากลูกหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาได้ไตรมาสแรกปีหน้า
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า กยศ.เตรียมเดินหน้าเชื่อมระบบกับกรมสรรพากรในการรับชำระหนี้ลูกหนี้ กยศ.จากองค์กรนายจ้าง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มหักเงินเดือนลูกหนี้ กยศ.ทั้งรายเก่าและใหม่เป็นรายเดือนได้ในไตรมาสแรกปี 2561
ทั้งนี้ กยศ.จะเชื่อมระบบกับสรรพากร แล้วให้สรรพากรจะเชื่อมระบบกับนายจ้าง หากนายจ้างไม่หักเงินเดือนนำส่ง นายจ้างจะต้องรับภาระจ่ายหนี้แทนลูกหนี้ กยศ. โดยสิทธิในการหักเงินเดือนของ กยศ.ตาม พ.ร.บ.ลูกหนี้จะต้องถูกหักเงินภาษีรายได้ให้กรมสรรพากรก่อน รองลงมา คือ ประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และต่อมาเป็น กยศ.ก่อน ที่จะสามารถหักเงินเดือนเพื่อใช้ให้สถาบันการเงินได้
การดำเนินการครั้งนี้ ถือเป็นการรองรับกับพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ที่มีผลบังคับใช้แล้ว โดยในเดือน ต.ค.นี้จะเริ่มนำร่องจัดการประชุมสัญจรกับสมาชิกสภาองค์กรนายจ้างแห่งประเทศไทย ที่ จ.ระยอง เป็นแห่งแรก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก
ปัจจุบันกองทุนมีผู้กู้ยืม 5.28 ล้านราย คิดเป็นวงเงินรวมกว่า 5 แสนล้านบาท มีลูกหนี้ที่ค้างชำระอยู่ประมาณ 2 ล้านราย คิดเป็นวงเงิน 6.2 หมื่นล้านบาท และมีลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้อง 1.2 ล้านราย คิดเป็นวงเงิน 1 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 ยังมีผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระหนี้กองทุนและค้างชำระหนี้ ซึ่งกองทุนได้ดำเนินคดีในปีนี้ประมาณ 1.4 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท จึงขอฝากถึงผู้กู้ยืมที่ได้รับหมายศาลว่าไม่ต้องกังวลขอให้ไปตามที่ศาลนัดหมายเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยและทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งทางกองทุนจะเปิดโอกาสให้สามารถผ่อนชำระได้อีก 9 ปีเต็ม ส่วนลูกหนี้ปกติจะมีระยะเวลาปลอดการชำระหนี้ 2 ปีแรก และหลังจากนั้นจะมีระยะเวลาในการ ในการชำระหนี้คืนให้กับ กยศ.นานถึง 15 ปี ซึ่งคณะกรรมการ กยศ. อยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องอัตราการชำระหนี้ใหม่แบบเป็นรายเดือนจากเดิมให้ชำระเป็นรายปี
สำหรับในปีที่ผ่านมาสภาพเงินหมุนเวียนดีขึ้นสามารถปล่อยกู้หมุนเวียนให้นักเรียน นักศึกษาได้กว่า 3.5 หมื่นล้านบาท โดยไม่จำเป็นต้องของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล คาดว่าในเดือน ก.ย.นี้จะมียอดชำระหนี้เข้ามาอีกกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 3 หมื่นล้านบาท หลัง พ.ร.บ.ใหม่มีผลบังคับใช้ให้ลูกหนี้ต้องเริ่มชำระหนี้เป็นรายเดือน ส่วนเรื่องการส่งรายชื่อลูกหนี้เข้าสู่ระบบเครดิตบูโรนั้น ต้องนำไปพิจารณาทบทวนใหม่ หลัง พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้แล้ว
นายชัยณรงค์ กล่าวว่า กองทุนขอให้ผู้กู้ยืมที่ชำระหนี้เพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษารุ่นน้อง รวมถึงหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชนและประชาชนที่มีส่วนร่วมช่วยกันสร้างจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อการชำระเงินคืนกองทุน เพราะการให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาเสมือนการให้ทุนแก่เยาวชนเพื่อไปสร้างอนาคตของตัวเองและสร้างทุนมนุษย์ให้กับผู้กู้ยืม ส่งมอบโอกาสคืนทุนการศึกษาให้กับคนรุ่นใหม่ต่อไป