เมื่อฟินเทคบุกตลาดหุ้น นักลงทุนยุคใหม่ เตรียมใจ...ฟิน
หนึ่งในหน่วยงานกำกับดูแลทางฝั่ง ตลาดเงินตลาดทุน ที่ต้อง “ยกนิ้ว” ให้ คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
โดย...สวลี ตันกุลรัตน์ [email protected]
หนึ่งในหน่วยงานกำกับดูแลทางฝั่ง ตลาดเงินตลาดทุน ที่ต้อง “ยกนิ้ว” ให้ คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพราะเอาจริงเอาจังกับ “ฟินเทค” (FinTech) หรือบริการด้านการเงินที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้
ล่าสุด ก.ล.ต.เปิดห้องเรียนให้ความรู้สื่อมวลชนเรื่อง “FinTech กับ ตลาดทุน” จึงทำให้รู้ว่า ในอีกไม่ช้าตลาดทุนไทยจะถูกกระแทกจาก FinTech ที่ดาหน้าเข้ามาพร้อมๆ ถึง 5 ทิศทาง ซึ่งแต่ละทิศทางที่เข้ามาปะทะสามารถเขย่า “ผู้ให้บริการเดิม” ให้สั่นคลอนไปจนถึงล้มหายตายจากก็ได้ ถ้าไม่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง
ในฐานะนักลงทุนก็ต้องเตรียมใจรับมือกับ FinTech ในโลกตลาดทุนเช่นเดียวกัน แต่ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะแต่ละทิศทางที่เข้ามาต่างมาทำให้นักลงทุน “ฟิน” แน่ๆ ถ้ารู้จักและเข้าใจ จนสามารถใช้ให้เป็นประโยชน์ได้
“การเข้ามาของ FinTech ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันและรุนแรงต่อภาคการเงิน เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเข้าถึงสินค้า/บริการ ให้ดีขึ้น เร็วขึ้น และราคาถูกลง โดยลดการพึ่งพาตัวกลาง และสามารถตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ได้” ปะราลี สุคนธมาน ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว
นั่นเพราะคนรุ่นใหม่ชอบความรวดเร็ว สามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา สะดวกสบาย และสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ได้เอง โดยไม่ให้คนอื่นมาช่วยเหลือ... และเชื่อว่า นักลงทุนรุ่นใหม่ (ไม่จำกัดว่าจะเกิดยุคไหน) จะชอบการเปลี่ยนแปลงในแบบเดียวกัน
เปลี่ยนที่ 1 : โครงสร้างพื้นฐานของตลาดทุน
จากรายงานเรื่อง Future of FinTech in Capital Markets ซึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2559 โดย Deutsche Börse AG บอกว่า “กระดูกสันหลังของตลาดทุน คือ โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นตัวเชื่อมโยงนักลงทุนกับตัวกลางเข้าไว้ด้วยกัน และในเวลานี้โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้กำลังถูกเปลี่ยน โดยจะทำให้เกิดความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
ปะราลี บอกว่า การเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่านี้เกิดขึ้นหลังจากวิกฤตการเงินโลก เมื่อปี 2550-2551 ทำให้ตลาดต้องปรับตัว เพราะนักลงทุนเริ่มไม่เชื่อมั่นสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันสถาบันการเงินเองก็ต้องเจอกับปัญหาการขาดทุนและถูกบังคับให้ต้องมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง
“นักลงทุนต้องการมากขึ้น ต้องการให้ตลาดมีสภาพคล่องมากขึ้น การส่งคำสั่งซื้อขายที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องการให้ต้นทุนลดลงด้วย จึงมีการเรียกร้องให้เกิดรูปแบบใหม่ๆ สำหรับการซื้อขาย การชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์” ปะราลี กล่าว
ดังนั้น จึงเห็นการเกิดขึ้นของ...
- ตลาดสำหรับการซื้อขายทางอิเล็กทรอนิกส์
- การรวมตลาดเข้าด้วยด้วยกัน เพื่อทำให้มีสภาพคล่องและสินค้ามากขึ้น
- การถือหุ้นหรือการเป็นพันธมิตรกันในระหว่างผู้ให้บริการแบบเดิมและแบบใหม่ (Startup)
- บางกรณียังนำเทคโนโลยี Blockchainมาใช้
ปะราลี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า Blockchain คือ การจัดเก็บข้อมูลเป็นระบบเครือข่ายที่มีความปลอดภัยและโปร่งใสสูง เนื่องจากทุกคนในเครือข่ายต้องร่วมกันรับรองและจัดเก็บข้อมูล ทำให้ข้อมูลนั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลง ปิด หรือทำลายได้
“Blockchain เป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่แม้จะเป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นเคย และไม่รู้ว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร แต่ในต่างประเทศมีการนำ Blockchain มาใช้ประโยชน์แล้ว โดยใช้กับธุรกรรมที่มีการโอนและบันทึกข้อมูล เพื่อลดภาระในการทำงานและเพิ่มความโปร่งใส” ปะราลี กล่าว
พร้อมกับยกตัวอย่าง ตลาด NASDAQ Private Market ซึ่งเป็นตลาดหุ้นในระดับโลกแห่งแรกที่ทดลองนำ เทคโนโลยี Blockchain มาใช้ โดยเป็นการซื้อขายแบบ OTC ชื่อ Linq เพื่อช่วยบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ออกหุ้นให้กับนักลงทุน (Venture Investor) แต่ยังไม่ใช่การออกหุ้นเสนอขายให้บุคคลทั่วไป
เปลี่ยนที่ 2 : กระบวนการหลังการซื้อขาย
Deutsche Börse AG ระบุในรายงานว่า การดำเนินงานหลังการซื้อขายจำเป็นต้องได้รับการเพิ่มประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงด้านปฏิบัติการลง
ในขณะที่ FinTech จะใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพงาน 2 ด้าน คือ
1.การดำเนินงานหลังการซื้อขาย (เช่น การรวมศูนย์การส่งมอบและชำระราคา และการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการทำงานหลังการซื้อขาย) และการบริหารจัดการความเสี่ยง (เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ติดตามพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสม หรือการปั่นหุ้น)
ปะราลี กล่าวว่า “ASX เข้าซื้อหุ้นบริษัท Digital Asset Holdings ซึ่งเป็น FinTech Startup ที่นำ Blockchain มาใช้ในการส่งมอบและชำระราคา ทำให้ ASX ตั้งความหวังว่า เมื่อนักลงทุนขายหุ้นแล้วจะสามารถเดินไปเบิกเงินจากตู้เอทีเอ็มได้ทันที โดยไม่ต้องรอเวลา T+3”
2.การใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการกำกับดูแล (RegTech)
“Regulator Technology หรือ RegTech คือ การใช้เทคโนโลยีหรือซอฟต์แวร์มาเพิ่มประสิทธิภาพงานด้านการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ หรือรายงาน ซึ่งคาดว่าจะมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) การใช้ API (การเชื่อมต่อระหว่างระบบ) และ Blockchain” ปะราลี กล่าว
ปะราลี กล่าวอีกว่า การนำ RegTech มาใช้ประโยชน์จำเป็นต้องสร้างพันธมิตร ระหว่างสถาบันการเงิน บริษัท FinTech หน่วยงานกำกับดูแล และผู้เกี่ยวข้องอื่น
“ตัวอย่างการนำ RegTech มาใช้ประโยชน์ ที่มีการพูดกันมากในต่างประเทศ คือ ใช้ Blockchain สำหรับต้องทำความรู้จักกับลูกค้า (Know Your Client หรือ KYC) และการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Client Due Diligence หรือ CDD) ดีหรือไม่ จะแน่ใจอย่างไรว่า สามารถทำได้ตามมาตรฐาน หรืออาจจะใช้การตรวจสอบจากข้อมูลทางชีวภาพ เช่น ลายนิ้วมือ ม่านตา ได้หรือไม่” ปะราลี กล่าว
นอกจากนี้ ในต่างประเทศ เช่น e-KYC ที่ประเทศอินเดีย เริ่มมีผู้ให้บริการทำ KYC ผ่านเว็บไซต์หรือระบบออนไลน์กันแล้ว โดยนำ Blockchain มาใช้สำหรับลูกค้าใหม่ ทำให้สถาบันการเงินอื่นสามารถนำข้อมูลไปใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องทำใหม่ทุกครั้งที่ไปสมัครใช้บริการสถาบันการเงินอื่น
เปลี่ยนที่ 3 : ปัญญาประดิษฐ์ และการวิเคราะห์
ในยุคที่มีข้อมูลจำนวนมาก ทั้งที่เป็นข้อมูลพื้นฐาน และข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการที่กระจัดกระจายอยู่ในโซเชียลมีเดีย การรายงานข่าว ทั้งที่เป็นตัวหนังสือและภาพ ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์อย่างมากที่จะนำมาบริหารจัดการข้อมูล
ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อทำนายและแนะนำการลงทุนในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิมได้ โดยการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ซึ่งเป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถในการเรียนรู้ โดยเลียนแบบการเรียนรู้และการตัดสินใจของมนุษย์
“ในอนาคตเราอาจจะสามารถนำข้อมูลที่ไม่เป็นทางการ เช่น การเช็กอินร้านค้า กลุ่มเพื่อน มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลและพฤติกรรมของเรา เพื่อนำไปประกอบการวิเคราะห์สินเชื่อ หรือ ระบบ AI ที่จะเรียนรู้พฤติกรรมของนักลงทุน จากข้อมูลหลากหลายแหล่ง รวมทั้งในโซเชียล มีเดีย และนำมาเสนอรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมให้ได้” ปะราลี กล่าว
เปลี่ยนที่ 4 : เทคโนโลยีด้านการลงทุน
สำหรับประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงนี้น่าจะดูเป็นรูปเป็นร่างมากที่สุด เพราะมีที่ปรึกษาการลงทุนแบบดิจิทัลเกิดขึ้นแล้ว หรือ Digital Advisory เช่น บริการค้นหาหุ้นน่าลงทุนของ StockRadars และ Jitta
“จะเกิดนำเครื่องมือในการวิเคราะห์มาให้บริการนักลงทุน เพื่อการติดตามสภาพตลาด และทำให้การตัดสินใจลงทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” ปะราลี กล่าว
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการลงทุนยังทำให้เกิด Robo Advisory หรือบริการแนะนำการจัดสรรเงินลงทุนด้วยระบบอัตโนมัติ
ในประเทศไทยเริ่มมีให้บริการแล้วเช่นกัน คือ Finnomena NTER ที่ลูกค้าเพียงใส่ข้อมูลส่วนบุคคลและเป้าหมายการลงทุนลงไประบบจะให้คำแนะนำได้ว่า ควรจะลงทุนอะไร ในสัดส่วนเท่าใด เพื่อให้ถึงเป้าหมาย ภายในระยะเวลาที่ตั้งใจ (แต่บริการยังคงอยู่ในวงจำกัด ไม่เปิดบริการทั่วไป)
“ตัวอย่างการให้บริการของ Robo Advisory ในต่างประเทศ จะเริ่มตั้งแต่การทำ KYC แบบออนไลน์ จากนั้นจึงเสนอรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับแต่บุคคล โดยการกระจาย การลงทุนไปในสินทรัพย์หลากหลายประเภท” ปะราลี กล่าว
ขณะที่แนวโน้มการให้บริการของโบรกเกอร์ในอนาคตจะเน้นไปที่การให้บริการบริหารเงิน และการให้คำแนะนำการลงทุนที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ เช่น Robo Advisory
นักลงทุนอีกกลุ่มนี้ที่จะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ คือ ผู้จัดการการลงทุนที่มีนโยบายลงทุนเลียนแบบดัชนี (Passive หรือ Indexed Products) ซึ่งถือเป็นนักลงทุนกลุ่มใหญ่ที่สุดในโลก และได้รับการคาดหมายว่า ในอีก 4 ปีข้างหน้า นักลงทุนกลุ่มนี้จะมีถึง 1 ใน 3 ของมูลค่ากองทุนทั้งโลก
เปลี่ยนที่ 5 : ช่องทางระดมทุนแบบใหม่ๆ
เมื่อ FinTech เข้ามาในตลาดทุนจะทำให้เกิดช่องทางและรูปแบบการระดมทุนแบบใหม่ ที่ทำให้กิจการสามารถเข้าถึงเงินทุนหรือสภาพคล่องโดยตรง แทนการพึ่งพาสถาบันการเงินในรูปแบบเดิม
นอกจากนี้ ยังเป็นการระดมทุนที่มีต้นทุนต่ำ เพราะเป็นการระดมทุนผ่านระบบออนไลน์ที่ไม่มีตัวกลาง เช่น การระดมทุนผ่าน Equity Crowdfunding (ซึ่งประเทศไทยสามารถทำได้แล้ว แต่ยังไม่มีผู้ให้บริการรายได้เปิดตัว) และการกู้เงินจากประชาชนโดยตรง หรือ Peer-to-peer Lending ซึ่งยังไม่มีบริการในประเทศไทย
ปะราลี กล่าวว่า แรงผลักดันของการเปลี่ยนในข้อนี้มาจากวิกฤตการเงินเช่นเดียวกัน เพราะหลังวิกฤตทำให้เกิดปัญหา 2 อย่าง คือ ความเชื่อมั่นใจสถาบันการเงิน และการระดมทุนของกิจการ
แม้ว่าในปัจจุบันจะมองเห็นแล้วว่า FinTech จะเข้ามาทำให้นักลงทุนฟินได้อย่างไรบ้าง แต่ ปะราลี บอกว่า ในอนาคต FinTech ยังสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวงการตลาดทุนได้อีก และที่สำคัญ คือ จะเกิดขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าที่ผ่านมาหลายเท่าตัว
เพราะฉะนั้น นักลงทุนรุ่นใหม่อย่างเราๆ ต้องเตรียมใจพร้อมรับมืออยู่เสมอ