posttoday

ใช่เราหรือไม่? แก่ยากไร้ เงินไม่พอกิน

03 กันยายน 2559

เป็นอีกครั้งที่ถูก “งานวิจัย” ตอกย้ำให้ช้ำใจว่า มนุษย์เงินเดือน ที่แม้จะมีการออมเงินอยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

โดย...สวลี ตันกุลรัตน์ [email protected]

เป็นอีกครั้งที่ถูก “งานวิจัย” ตอกย้ำให้ช้ำใจว่า มนุษย์เงินเดือน ที่แม้จะมีการออมเงินอยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้เงินบำนาญจากกองทุนประกันสังคม และยังมีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ (แถมบางคนยังได้บำเหน็จจากนายจ้างอีกต่างหาก) แต่ส่วนใหญ่ก็ยังมีเงินไม่พอใช้ในวัยเกษียณ

เพราะจากงานวิจัย เรื่อง “การวิเคราะห์ระดับสินทรัพย์การออมขั้นต่ำที่ผู้เกษียณอายุพึงมีสำหรับการประกันคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐาน (วัยสูงอายุ)” โดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า....

มนุษย์เงินเดือน 76% จะมีเงินไม่เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตในวัยเกษียณ ซึ่งคนที่มีโอกาสจะมีเงินไม่เพียงพอจะอยู่ในกลุ่มที่มีเงินเดือนปัจจุบันไม่เกิน 3 หมื่นบาท เงินเดือนขึ้นไม่ถึงปีละ 5.5% นายจ้างจ่ายเงินสมทบในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่ำกว่า 5.5% และไม่มีเงินบำเหน็จจากนายจ้าง

ขณะที่มีเพียง 24% เท่านั้นที่ผลการประเมินออกมาว่า “เพียงพอ” โดยคนที่มีโอกาสจะมีเงินเพียงพอก็จะเป็นคนในขั้นตรงข้ามของฝั่งที่มีเงินไม่เพียงพอ เช่น เงินเดือนปัจจุบันตั้งแต่ 3 หมื่นบาทขึ้นไป และนายจ้างจ่ายสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตั้งแต่ 5.5% ต่อปี

แล้ว “ต้องมีมากแค่ไหนถึงจะเพียงพอ” เพราะแม้จะเป็นมนุษย์เงินเดือนเหมือนกัน แต่ก็มีอีกหลายอย่างที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นรายได้ในปัจจุบัน รายจ่ายในวัยเกษียณ

ทีมวิจัยนี้จึงหาคำตอบมาให้ว่า คนที่เกษียณอายุแล้วในปัจจุบัน เขากินเขาใช้กันเดือนละเท่าไร ถึงจะเรียกว่า พอเพียง โดยแยกออกมาเป็นกลุ่มอาชีพที่ชัดเจน เช่น

ถ้าเป็นคุณหมอ ที่ใช้ชีวิตพอเพียงในวัยเกษียณจะมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 15,545 บาท แต่ถ้าขยับชีวิตให้สะดวกสบายมากขึ้นอีกหน่อย ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มเป็น 21,164 บาท/เดือน หรือจะยกระดับให้สบายแบบเต็มที่ก็ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายไปเป็น 40,754 บาท/เดือน

ใช่เราหรือไม่? แก่ยากไร้ เงินไม่พอกิน

 

แต่ถ้าเป็นอดีตสาวโรงงาน ที่ใช้ชีวิตพอเพียงในบั้นปลายชีวิตจะมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 7,248 บาท หรือถ้าจะใช้ชีวิตสบายขึ้น จะต้องใช้เดือนละ 9,494 บาท แต่ถ้าให้สบายที่สุดจะใช้อยู่เดือนละ 14,005 บาท

เมื่อรู้ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณในปัจจุบัน (บวกกับข้อมูลอื่นๆ) ทำให้งานวิจัยชิ้นนี้สรุปออกมาเป็นตัวเลข “เงินก้อนที่พึงมีระดับเพียงพอ ณ วันเกษียณอายุ” โดยนำมาเสนอในงานสัมมนาวิชาการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพียง 3 กลุ่ม ได้แก่

ข้าราชการและอาชีพผู้เชี่ยวชาญ ที่จะเกษียณในปี 2573 แล้วอยากจะใช้ชีวิตพอเพียงเหมือนในวันนี้ที่มีค่าใช้จ่ายเดือนละประมาณ 1.6 หมื่นบาท จะต้องมีเงินก้อนอย่างน้อย 4.98 ล้านบาท

ถ้าเป็นแรงงานในโรงงานที่เกษียณในปีเดียวกัน ใช้ชีวิตพอเพียงเหมือนกัน เดือนละประมาณ 8,000 บาท จะต้องมีให้ได้ 2.22 ล้านบาท ขณะที่ระดับฐานราก ที่ขอให้มีค่าใช้จ่ายเทียบเท่ากับเดือนละ 5,000 บาทในปัจจุบัน ก็ต้องมีไว้สัก 1.2 ล้านบาท

แต่สำหรับคนที่ยังหนุ่มสาวกว่านั้น เหลือเวลาอีก 30-40 ปี กว่าจะเกษียณ ก็ยิ่งต้องมีเงินก้อนมากกว่านี้ จะได้มีพอกินพอใช้ ไม่กลายเป็น “คนแก่ยากไร้” มีเงินไม่พอรายจ่าย

แม้ว่าผลวิจัยจะออกมาว่า “คนส่วนใหญ่” จะมีเงินไม่พอกินพอใช้ แต่คนนั้นอาจจะไม่ใช่เราก็ได้...ใครจะไปรู้

แต่ สุนทรี เหล่าพัดจัน อาจารย์คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในทีมวิจัย บอกว่า อดใจรออีกไม่เกิน 2 เดือน หรือภายในเดือน ต.ค. 2559 ทางทีมวิจัยที่ได้รับทุนจากรัฐบาลจะเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้ลองมาใช้โปรแกรมคำนวณความเพียงพอของเงินออมวัยเกษียณกัน

เพียงแค่เข้าไปที่เว็บไซต์ retirement-checkup.com (ใครใจร้อนไปเปิดดูตอนนี้อาจจะผิดหวัง เพราะเขายังไม่เปิดให้บริการ)

แต่มั่นใจได้เลยว่า ถ้าเทียบกับโปรแกรมคำนวณเงินออมเพื่อการเกษียณหลายๆ อันที่มีอยู่ในปัจจุบัน (ไม่ว่าจะเป็นของภาครัฐ หรือเอกชน) โปรแกรมนี้น่าจะ “สมเหตุสมผล” มากที่สุด แม้ว่าจะยังมีบางจุดที่ต้องมีคนมาช่วยอธิบายเพิ่มเติม แต่กว่าจะถึงวันเปิดให้บริการจริงน่าจะมีการปรับปรุงให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

จุดเด่นอย่างหนึ่งของโปรแกรมนี้ คือ การกำหนด “อายุขัย” ของแต่ละคนโดยใช้หลัก “ความน่าจะเป็นในการมีชีวิตอยู่”

เพราะแม้ว่าคนไทยจะมีอายุยืนเฉลี่ย 75-80 ปี แต่ รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ไม่ใช่ว่าเราทุกคนจะตายทันทีเมื่ออายุ 80 ปี จึงต้องนำความน่าจะเป็นในการรอดชีวิตมาใช้ในการคำนวณหาอายุขัย จึงจะใกล้เคียงความจริงมากที่สุด

“ถ้าเราคำนวณอายุขัยด้วยวิธีที่ผิด จะทำให้จำนวนเงินที่ต้องออมเพื่อการเกษียณสูงกว่าความเป็นจริง จากผลการวิจัยจะเห็นแล้วว่าคนที่จะเกษียณในปี 2573 ถ้ามีเงิน 5 ล้านบาท ก็มีความสุขเท่ากับคนที่ใช้จ่ายเดือนละ 1.6 หมื่นบาทในปัจจุบันได้แล้ว” รุ่งเกียรติ กล่าว

นอกจากนี้ ในโปรแกรมยังเตรียม “ทางออก” ไว้สำหรับคนที่คำนวณแล้วพบว่า “ไม่พอเพียง” เพื่อให้แน่ใจว่า จะไม่ใช่เราแน่ๆ ที่แก่ไม่มีกิน