ข้อควรระวัง ก่อนยื่นภาษีปี’59
ในปีนี้มีหลายจุดที่แตกต่างไปจากเดิมที่เราต้องระมัดระวังในการกรอก
โดย...ดร.ฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์ ผู้บริหาร K-Expert ธนาคารกสิกรไทย [email protected]
ในช่วง 1-2 เดือนนี้ คงเป็นช่วงที่หลายท่านยื่นแบบ ภ.ง.ด. เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งปีนี้สามารถยื่นแบบฯ ทางอินเทอร์เน็ตได้ถึงวันที่ 10 เม.ย. 2560 สำหรับการยื่นแบบฯ ในปีนี้มีหลายจุดที่แตกต่างไปจากเดิมที่เราต้องระมัดระวังในการกรอก
จุดแรกคือ ช่อง “เงินได้พึงประเมินที่ได้ใช้สิทธิเลือกเสียภาษี โดยไม่ต้องนำมาคำนวณภาษีกับรายได้อื่น (เพื่อนำไปเป็นฐานในการคำนวณซื้อหน่วยลงทุนใน RMF หรือ LTF)” ซึ่งเป็นช่องใหม่ที่มีในปีนี้เป็นปีแรก โดยเงินได้ที่เราสามารถนำมากรอกในช่องนี้คือ ดอกเบี้ย เงินปันผลจากหุ้นสามัญ เงินปันผลจากกองทุนรวม ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว โดยเป็น Final Tax ซึ่งเราสามารถเลือกได้ว่า จะนำมารวมคำนวณเป็นเงินได้ในแบบ ภ.ง.ด.หรือไม่ก็ได้ สำหรับคนที่มีฐานภาษีตั้งแต่ 20% รายได้ในส่วนนี้ควรให้หักภาษี ณ ที่จ่ายไปเลย เพราะจะเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าการนำมารวมคำนวณเป็นเงินได้
อย่างไรก็ตาม การนำรายได้กลุ่มนี้มากรอกในช่องใหม่ ไม่ว่าจะเสียภาษีฐานไหน ก็สามารถนำมากรอกได้ โดยไม่ทำให้เราต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น แต่จะสามารถนำรายได้ในส่วนนี้มานับรวมเป็นฐานรายได้ เพื่อลงทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพิ่มเติมได้
ยกตัวอย่างเช่น เดิมเรามีรายได้จากเงินเดือนและโบนัสรวม 2,000,000 บาท ทำให้ลงทุนในกองทุน LTF ได้สูงสุด 300,000 บาท แต่ถ้ามีรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลเพิ่มเข้ามาอีก 100,000 บาท จะส่งผลให้ลงทุนในกองทุน LTF สูงสุดเป็น 315,000 บาท หรือ 15% ของ 2,100,000 บาท ดังนั้นหากท่านไหนที่ปี 2559 ลงทุนกองทุน LTF หรือ RMF เกิน 15% ของรายได้ ลองนำรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลเข้ามารวมในช่องใหม่ ซึ่งอาจช่วยให้ไม่ลงทุนกองทุน LTF/RMF เกินสิทธิ นอกจากนี้ สำหรับในปี 2560 และปีต่อๆ ไป ก็สามารถนำรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว มาเป็นฐานรายได้เพิ่มเติมในการลงทุนกองทุน LTF/RMF ได้
จุดที่สองคือ การใช้สิทธิบ้านหลังแรก สำหรับคนที่ซื้อบ้านหลังแรกในปี 2559 ราคาไม่เกิน 3,000,000 บาท สามารถนำเงินที่จ่ายไป 20% ของราคาบ้านมาลดหย่อนภาษีได้เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งเป็นมาตรการที่มีมาตั้งแต่ปี 2558 การใช้สิทธิลดหย่อนในส่วนนี้อาจเกิดความสับสนในการกรอก เพราะในปีภาษี 2559 ยังคงสามารถใช้สิทธิลดภาษีจากมาตรการบ้านหลังแรกซึ่งมีผลบังคับใช้ในปีภาษี 2554-2555 ได้ โดยข้อแตกต่างของการใช้สิทธิบ้านหลังแรกของทั้ง 2 ช่วงเวลาคือ มาตรการบ้านหลังแรกปีภาษี 2554-2555 เป็นการลดภาษีโดยตรง ซึ่งต้องกรอกในช่อง “หัก ภาษีเงินได้ที่ได้รับยกเว้นจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ฯ” ส่วนมาตรการบ้านหลังแรกปีภาษี 2558-2559 เป็นการใช้สิทธิลดหย่อน ต้องกรอกในช่อง “เงินได้ที่จ่ายเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์”
จุดสุดท้ายที่ควรระวังในการยื่นภาษีปี 2559 คือ การใช้สิทธิลดหย่อนเฉพาะกิจที่มีเฉพาะในปี 2559 ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายกินเที่ยวช่วงสงกรานต์ ค่าเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ค่าซื้อสินค้า OTOP และค่าซื้อสินค้าและบริการในประเทศ โดยมีรายละเอียดการใช้สิทธิลดหย่อน ดังนี้
• ค่าใช้จ่ายกินเที่ยวช่วงสงกรานต์ การทานอาหารและเครื่องดื่ม พักโรงแรม และซื้อทัวร์เที่ยวในประเทศไทย ในช่วงระหว่างวันที่ 9-17 เม.ย. 2559 สามารถนำค่าใช้จ่ายส่วนนี้มาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
• ค่าเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ หากมีการพักโรงแรมหรือซื้อทัวร์เที่ยวภายในประเทศ สามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้ โดยในช่วงระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 2559 ใช้สิทธิได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท และในช่วงระหว่างวันที่ 1-31 ธ.ค. 2559 ใช้สิทธิเพิ่มเติมได้อีก 15,000 บาท
• ค่าซื้อสินค้า OTOP ในช่วงระหว่างวันที่ 1-31 ส.ค. 2559 สามารถนำค่าซื้อสินค้า OTOP ซึ่งได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้วมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
• ค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศ ในช่วงระหว่างวันที่ 14-31 ธ.ค. 2559 สามารถนำค่าซื้อสินค้าและบริการมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
การใช้สิทธิลดหย่อนเฉพาะกิจเหล่านี้ควรเช็กช่วงเวลาและสิทธิที่สามารถใช้ได้ให้ถูกต้อง รวมทั้งตรวจสอบใบเสร็จต่างๆ ว่า มีการเก็บเอกสารเหล่านี้ไว้อย่างครบถ้วนและถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ เพราะกรมสรรพากรสามารถขอตรวจสอบใบเสร็จว่า เรามีการใช้จ่ายหรือเดินทางท่องเที่ยวถูกต้องตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้หรือไม่ครับ