posttoday

ข้อมูลที่ควรเท่าเทียม

09 ธันวาคม 2558

โดย ปริย เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายงานเลขาธิการและสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

โดย ปริย  เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายงานเลขาธิการและสื่อสารองค์กร  สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

การได้รับข้อมูลข่าวสารที่เท่าเทียมกันเป็นหัวใจสำคัญที่สร้างความเป็นธรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์

ในตลาดทุน เพราะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีผู้ถือหุ้นจำนวนมาก การซื้อขายหลักทรัพย์โดยอาศัยข้อมูลที่ยังไม่ได้เปิดเผยให้ผู้ลงทุนได้รับทราบในวงกว้างอย่างเท่าเทียมกันจึงเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นทั่วไป

กฎหมายหลักทรัพย์จึงห้ามคนที่มีตำแหน่งหรือฐานะที่ล่วงรู้ข้อมูลภายในหรือ insider  ซื้อขายหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยอาศัยข้อมูลที่มีนัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์ที่ยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณะหรือข้อมูลอินไซด์ อันจะเป็นการเอาเปรียบต่อบุคคลภายนอก ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม และไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของตัวเอง หรือของบุคคลอื่น

การดำเนินการตรวจสอบและเอาผิด insiderมีอยู่เรื่อย ๆ นะครับ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ดำเนินการเอาผิดกรณีอินไซด์ไปแล้ว 6 กรณี ซึ่งเคสทั้งหมดก็เป็นการกระทำของกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัท

จดทะเบียน ซึ่ง ก.ล.ต. ก็ได้ออกข่าวให้ทราบในทุกกรณี ส่วนหนึ่งก็หวังว่า กรรมการและผู้บริหารจะตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น และงดเว้นการซื้อขายหลักทรัพย์ในระหว่างที่ข้อมูลภายในยังไม่เปิดเผย เช่น รู้ข้อมูลผลประกอบการของบริษัทที่ดีขึ้นอย่างมากหรือแย่ลงมากเมื่อเทียบกับอดีต  อย่างไรก็ดี ในบางครั้งก็จะเห็นว่ามีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับเมื่อไรถือว่าผิดเรื่องอินไซด์ 

ขอยกตัวอย่างให้เห็นชัดขึ้นว่าลักษณะข้อมูลอินไซต์จะรวมถึงข้อมูลที่บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาตกลงร่วมธุรกิจกับคู่ค้ารายใหญ่สมมติว่าดีลนี้เป็นเรื่องดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน หากเรานำข้อมูลที่ล่วงรู้นี้ไปซื้อหลักทรัพย์ แม้ตอนที่ซื้อหลักทรัพย์นั้นการเจรจายังไม่เสร็จสิ้นและไม่รู้ผลก็ตามลักษณะนี้ก็ถือว่าซื้อโดยใช้ข้อมูลอินไซต์แล้ว หรือสังเกตง่าย ๆโดยใช้มาตรฐานปกติของเราเองก็ได้ คือ ข้อมูลไหนที่เรารู้แล้ว จะทำให้เราอยากซื้อหรือขายหลักทรัพย์นั้นทันที เพราะเรากลัวว่าถ้าซื้อช้าอาจต้องจ่ายแพงหรือถ้าขายช้าอาจได้เงินน้อยลง ให้เตือนตัวเองไว้เลยว่าอาจเป็นข้อมูลอินไซด์แล้ว

หรือบางครั้งหุ้นที่ซื้อขายนั้นไม่ได้เป็นหุ้นบริษัทที่เราทำงานอยู่แต่ก็เข้าข่ายอินไซด์ได้เช่นกันถ้าเป็นการซื้อขายโดยอาศัยข้อมูลที่มีผลต่อราคาซึ่งล่วงรู้มาเนื่องจากเราได้เข้าไปมีส่วนในการเจรจาหรือเป็นที่ปรึกษากฎหมายหรือที่ปรึกษาทางการเงินไม่ว่าจะของฝ่ายผู้ซื้อหรือผู้ถูกซื้อก็ตาม ทั้งหมดถือว่าเป็นการล่วงรู้เนื่องจากตำแหน่งหรือฐานะ จึงเข้าข่ายอินไซด์ได้ครับ

ดังนั้น จึงอยากขอทำความเข้าใจและขอให้กรรมการหรือผู้บริหาร ตลอดจนบุคคลอื่น ๆ ที่อาจเป็นบุคคลวงใน เช่น พนักงาน ผู้สอบบัญชีใช้ความระมัดระวังในเรื่องนี้ด้วย เพราะการรู้ข้อมูลภายในไม่ใช่สิ่งผิดนะครับ เพราะคงเป็นข้อมูลที่สำคัญต่อการทำธุรกิจและตัดสินใจทางธุรกิจ  เพียงแต่สิ่งที่ต้องระวังคือเมื่อ “รู้” แล้ว ต้องไม่นำไปใช้ประโยชน์หรือนำไปบอกให้คนอื่นใช้ประโยชน์ จนกว่าข้อมูลนั้นจะได้รับการเปิดเผยเป็นการทั่วไปผ่านตลาดหลักทรัพย์แล้ว

การกระทำผิดกรณีอินไซด์นี้ กฎหมายมีบทลงโทษคือปรับไม่เกินสองเท่าของผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงจะได้รับ หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยกฎหมายระบุให้เป็นความผิดที่สามารถเข้าสู่กระบวนการเปรียบเทียบความผิดได้ (ขอขีดเส้นใต้ว่า เงินค่าปรับนำส่งคลังเป็นรายได้ของแผ่นดินนะครับ)  แต่หากไม่เข้าสู่กระบวนการเปรียบเทียบความผิด ก.ล.ต. ก็จะกล่าวโทษinsider ต่อพนักงานสอบสวนต่อไป ซึ่งแนวทางนี้ก็เป็นแนวที่ยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอดอย่างเท่าเทียมกัน

การดำเนินการทางกฎหมายตามที่ผมได้ยกมานี้ เป็นเพียงปลายทางที่ ก.ล.ต. เข้าไปดำเนินการเมื่อมีเหตุเกิดขึ้นแล้ว แต่กระบวนการป้องกันที่มีประสิทธิภาพควรเริ่มตั้งแต่การมีจิตสำนึกในเรื่องธรรมาภิบาลที่ดีของกรรมการและผู้บริหาร และวางระบบที่เข้มงวดเกี่ยวกับการป้องกันการใช้ข้อมูลภายในของคนในบริษัท และเปิดเผยรายละเอียดไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) ด้วย

อีกวิธีการหนึ่งที่ผมเชื่อว่าจะได้ผลดีก็คือการที่ผู้ลงทุนทั้งรายย่อยหรือผู้ลงทุนสถาบัน ติดตามข่าวสารการดำเนินการเอาผิดในตลาดทุน และนำข้อมูลไปใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุน และแสดงจุดยืนต่อต้านการกระทำที่ไม่เป็นธรรมในตลาดทุน ก็จะถือเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่จะทำให้ตลาดทุนเรามีความน่าเชื่อถือ และมีความยั่งยืนตลอดไปครับ

ก.ล.ต. มุ่งมั่นที่จะสร้างประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาตลาดทุนไทยให้น่าเชื่อถือและเติบโตอย่างยั่งยืนครับ

“ก.ล.ต. ดูแลตลาดทุน เพื่อให้คุณมั่นใจ”