ระวังเงินบาทจะแข็งค่า
โดย ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ ทาลิส
โดย ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ ทาลิส
เริ่มมีผู้ที่ห่วงกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยว่าในปี 2559 นี้อาจจะเต็มไปด้วยความเสี่ยงจากปัจจัยการชะลอตัวจากเศรษฐกิจโลกและการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐภายในประเทศที่ดูจะเต็มไปด้วยความเชื่องช้า จากการที่ราคาน้ำมันโลกมีการปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง 2 ปีที่ผ่านมาได้ส่งผลในเชิงบวกต่อดุลการค้าของประเทศไทย จากในปี 2557 ที่มีการน้ำเข้าน้ำมันประมาณ 50 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นประมาณ 30 พันล้านเหรียญสหรับในปี 2558 ที่ผ่านมา และคาดว่าในปี 2559 นี้ ตัวเลขน่าจะอยู่ที่ประมาณ 25-30 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลให้การน้ำเข้าน้ำมันใช้จ่ายเงินน้อยลงประมาณ 20-25 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2559เมื่อเปรียบเทียบกับตอนที่น้ำมันราคาประมาณ 90-100 เหรียญสหรัฐในปี 2557
ในขณะเดียวกัน ในช่วงเวลาเดียวกันที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมีการเติบโตเป็นอย่างมาก ส่งผลให้รายรับจากภาคบริการหรือการท่องเที่ยวในประเทศมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมา โดยในปี 2558 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโต 2.8% โดยประมาณมากกว่าครึ่งของการเติบโตมาจากภาคการท่องเที่ยว(มีสัดส่วนประมาณ 10% ของขนาดเศรษฐกิจไทย) ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจที่เหลืออีก 90% ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเงินและอื่นๆ เติบโตประมาณ 1%เล็กน้อย นั้นคือในปีที่ผ่านมาถ้าไม่นับรวมภาคการท่องเที่ยว เศรษฐกิจไทยโตประมาณ 1% นิดหน่อย ซึ่งถือได้ว่าโตในระดับต่ำกว่าเศรษฐกิจโลกที่โตประมาณ 3.6%
สำหรับในปี 2559 ที่มีความคาดหวังว่าน่าจะโตได้ดีกว่าปีที่ผ่านมาที่ 2.8% นั้น เริ่มดูที่จะมีความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆจากปัจจัยราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 เหรียญสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยได้เปรียบดุลการค้าในระดับสูง และถ้าบวกกับภาคการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้ดีมากจากนักท่องเที่ยว 29.8 ล้านคนในปี 2558 เป็นประมาณ 34 ล้านคนในปี 2559 นี้ จะส่งผลให้ภาคบริการจะได้ดุลเพิ่มสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ว่าในปี 2558 ที่ประเทศไทยที่ได้ดุลบัญชีเดินสะพัดมากถึง 30 พันล้านเหรียญสหรัฐนั้น ในปี 2559 นี้อาจจะได้ดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณ 35-40 พันล้านเหรียญสหรัฐได้ ผลกระทบที่คาดว่าจะเห็นได้ชัดเจนนั่นก็ คือ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ(foreign reserve) จะมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในไตรมาสแรกของปี 2559 ก็ได้เห็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจาก 156.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 175.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มถึง 19 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าในไตรมาส 3 ของปี2559 นี้จะได้เห็นตัวเลขเงินทุนสำรองระหว่างประเทศปรับตัวขึ้นทำตัวเลขสูงที่สุดใหม่ที่เคยมีไว้ 189.9 พันล้านเหรียญสหรัฐเมื่อ เมษายน 2554 หรือ 5 ปีที่ผ่านมา และมีความเป็นไปได้ที่จะได้เห็นตัวเลขเกินกว่า 200 พันล้านเหรียญในสิ้นปีนี้หรือต้นปี 2560 การที่ประเทศมีตัวเลขเงินสำรองระหว่างประเทศที่สูงขึ้นน่าจะเป็นข่าวดีและสิ่งที่ดีสำหรับประเทศไทยในระยะยาว
แต่ในระยะสั้นแล้วอาจจะได้เห็นปรากฎการณ์ที่มีเงินไหลเข้าประเทศมาเป็นจำนวนมากนอกเหนือจากการได้เปรียบดุลบัญชีเดินสะพัด โดยส่วนหนึ่งจะไหลเข้ามาเพื่อเก็งกำไรค่าเงินและดอกเบี้ยของประเทศที่ยังอยู่ในระดับที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกเมื่อเปรียบเทียบกับเงินเฟ้อ ซึ่งอาจจะส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแนวโน้มจะต้องเข้ามาแทรกแซงค่าเงินบาทอย่างมากอีกครั้ง โดยสถานะการทำ forward น่าจะมีการปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆเช่นกันจากระดับ 10 พันล้านเหรียญในปี 2558 ที่ผ่านมา เป็น 20-30 พันล้านเหรียญในปี 2559 นี้ได้ เพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งเร็วและมากเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค เพราะมิฉะนั้นจะกระทบกับภาคการส่งออก ซึ่งก็อยู่ในสภาพที่ค่อนข้างลำบากอยู่แล้ว
ดังนั้นเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปี 2559 นี้นั้น การที่จะไปคาดหวังจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกจากการที่นักวิเคราะห์โดยส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าค่าเงินบาทในปี 2559 นี้น่าจะอ่อนค่ากว่าปี 2558แต่สำหรับในมุมมองของผมแล้วเงินบาทน่าจะมีแนวโน้มที่แข็งค่าขึ้นในปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับในปี2558 ที่ผ่านมา และน่าจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อภาคการส่งออกในครึ่งหลังของปีนี้ รวมถึงทั้งในปีหน้าด้วย ถ้าหากราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 เหรียญสหรัฐ และการท่องเที่ยวยังเติบโตได้เกิน 10% ต่อปีในปีนี้และปีหน้าในขณะเดียวกันผลกระทบจากภัยแล้งที่ค่อนข้างมากและความล่าช้าจากโครงการลงทุนภาครัฐคงเป็นอีกอย่างที่จะทำให้ตัวเลขการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2559 นี้มีความแนวโน้มและมีความเป็นไปได้ที่อาจจะต่ำกว่าปี 2558 ที่ระดับ 2.8%มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการเติบโตที่ชะลดตัวลงทางเศรษฐกิจจะยิ่งส่งผลให้ตัวเลขการนำเข้ามีแนวโน้มที่จะเติบโตติดลบอีกปีในปีนี้ ซึ่งก็ได้เห็นสัญญาณในไตรมาสแรกของปี 2559 แล้วว่าตัวเลขการนำเข้าติดลบมากกว่าตัวเลขการส่งออกครับ