posttoday

ค่าเงินบาทกับตลาดหุ้นไทย

06 กรกฎาคม 2559

โดย ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการลงทุน บลจ.ทาลิส

โดย ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการลงทุน บลจ.ทาลิส

ตั้งแต่การปล่อยลอยตัวค่าเงินบาทในปี 1997 ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวไปตามกลไกลตลาดมากขึ้น โดยค่าเงินบาทอ่อนค่าอย่างรุนแรง จาก 25 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ ไปเป็น47 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 88% ในปลายปี 1997พร้อมกับSET Index ที่ปรับตัวจากระดับประมาณ 832 จุดลงมาที่ระดับ 373 จุด หรือลดลง 55% ในเวลาอันรวดเร็ว

หลังจากนั้น เงินบาทได้ค่อยๆแข็งค่าขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงSET Index ที่ค่อยๆปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 482 จุดในปลายปี 1999 หรือคิดเป็นการปรับตัวขึ้น 29% ในขณะเดียวกัน ค่าเงินบาทก็แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 37.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือแข็งค่าขึ้น 20%

หากเรามองย้อนกลับไปดูดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา จะเห็นว่าค่าเงินบาทและSET Index มีการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างสัมพันธ์กัน โดยช่วงต้นปี 2000SETIndex อยู่ที่ระดับ 482 จุดและค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 37.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะซบเซาเป็นเวลา 2 ปี โดยSET Index ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 304 จุด หรือลดลง 37% ในปลายปี 2001ค่าเงินบาทก็อ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 44.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรืออ่อนค่าลง18%

หลังจากปี 2001 เนต้นมา SET Index ก็อยู่ในภาวะขาขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงก่อนเกิดวิกฤติซับไพรม์ในปี 2007 โดยดัชนี SET Index ปรับตัวขึ้นจาก 304 จุดมาอยู่ที่ 858 จุดในปลายปี 2007 หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 182% พร้อมๆกับการแข็งตัวของค่าเงินบาทมาอยู่ที่ 33.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือแข็งค่าขึ้น 24%

ในช่วงวิกฤติซับไพรม์ ดัชนี SET Index ลดลงอย่างรุนแรงอีกครั้งมาอยู่ที่ประมาณ 450 จุดภายในเวลาเพียง 1 ปี หรือลดลง 48% เงินบาทก็อ่อนค่าอย่างรวดเร็วไปอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรืออ่อนค่าลง 4%

เมื่อผ่านพ้นช่วงภาวะวิกฤติ เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ดัชนี SET Index ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายปี จาก 450 จุด มาอยู่ที่ 1,649 จุดในเดือนพฤษภาคม 2013หรือปรับตัวขึ้น 266% แน่นอนว่าค่าเงินบาทไทยก็แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือแข็งค่าขึ้น 14%

หลังจากนั้น ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ทำให้ดัชนี SET Index อยู่ในภาวะ sideway และผันผวนมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยดัชนีปรับลดตัวลงมาอยู่ที่ประมาณ 1,424 จุดในเดือนพฤษภาคม2016หรือปรับตัวลดลง 14% และเช่นกัน เงินบาทมีการอ่อนตัวมาอยู่ที่ประมาณ 35.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรืออ่อนค่าลง 19%

จะเห็นว่า ตลาดหุ้นไทยมีความสัมพันธ์กับค่าเงินบาท โดยมีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ เมื่อSET Index ปรับตัวขึ้น เงินบาทมีแนวโน้มที่จะแข็งค่า และเมื่อดัชนี SET Index ปรับตัวลง เงินบาทมีแนวโน้มจะอ่อนค่า

ค่าเงินบาทกับตลาดหุ้นไทย

 

นอกจากนี้ Ramasamy and Yeung (2005)ได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนและผลตอบแทนของหลักทรัพย์ในกลุ่มประเทศEmerging Markets รวมถึงประเทศไทย ระหว่างปี 1997 –2000 ผลการศึกษาโดยใช้ข้อมูลของประเทศไทยพบว่า ในช่วงปี 1997 - 2000 การเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน (Causality) ซึ่งสอดคล้องกับข้อสังเกตที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้

เมื่อมองไปข้างหน้า ตั้งแต่ปี 2016 ไปอีกอย่างน้อย 3 ปี กำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี คาดการณ์ว่าในปี 2018 กำไรรวมของบริษัทจดทะเบียนจะอยู่ที่ระดับมากกว่า9 แสนล้านบาท ดังนั้นSET Index ก็มีแนวโน้มที่จะทำจุดสูงสุดใหม่เช่นเดียวกัน และมีแนวโน้มสูงที่ดัชนี SET index จะทะยานขึ้นทดสอบระดับ 1,700 – 1,900 จุดได้ในขณะเดียวกัน เราอาจจะได้เห็นค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 28 - 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอีกครั้งในอีก 2 ปีข้างหน้า