พัชราภรณ์ เวชวิทยาขลัง งานที่ปรึกษา ต้องสร้างความเชื่อมั่นและรู้จริง
ผู้บริหารหญิงบุคลิกดี นิก-พัชราภรณ์ เวชวิทยาขลัง กรรมการผู้จัดการ บริษัทในเครือ FDI Group
โดย...วรธาร ภาพ... เสกสรร โรจนเมธากุล
ผู้บริหารหญิงบุคลิกดี นิก-พัชราภรณ์ เวชวิทยาขลัง กรรมการผู้จัดการ บริษัทในเครือ FDI Group เป็นกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาครบวงจรแบบ One Stop Service ให้กับนักลงทุนไทยและต่างประเทศ (ส่วนใหญ่ญี่ปุ่น) ที่เข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งกิจการ รวมทั้งให้บริการต่างๆ หลังได้ใบอนุญาตตั้งแต่รับทำบัญชี ออดิต รีครูทพนักงาน เซตระบบงานบุคคลวางระบบไอที ให้บริการโลจิสติกส์ รวมถึงมีเซอร์วิสออฟฟิศให้บริการลูกค้า และเธอยังเป็นเจ้าของเพจ Nik ppm:แม่เหล็กดึงดูดโชคดี ที่มีคนติดตามเกือบ 2 หมื่นคน
เป็นผู้บริหารที่มองโลกในแง่ดี คิดบวก ใฝ่ในการพัฒนาจิตใจอยู่เสมอ วันหยุดมักจะพาครอบครัวเข้าวัดทำบุญ นั่งสมาธิ และศึกษาธรรมตามโอกาส หากใครที่ขึ้นไปบริษัท FDI Group บนตึกไทมส์สแควร์ ย่านอโศก จะเห็นหนังสือธรรมะวางในมุมหนังสือไว้ให้พนักงานและผู้ที่มาติดต่องานได้หยิบอ่าน เหนืออื่นใดเธอมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นต้นแบบในการทำงานโดยได้น้อมนำหลักคำสอนของพระองค์มาปฏิบัติจนประสบความสำเร็จในธุรกิจการงานและความสุขในชีวิต
จากพนักงานบริษัทมาเป็นหุ้นส่วนบริษัท
นิกจบการศึกษาปริญญาตรี บริหารธุรกิจ และปริญญาโท ด้านบริหารองค์กร มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษ เริ่มทำงานตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรีที่บริษัท เอฟ ดี ไอ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งขณะนั้นเป็นบริษัทไอที ขายซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และพัฒนาซอฟต์แวร์ รวมถึงดูแลนักธุรกิจญี่ปุ่นที่เข้ามาเปิดกิจการระบบไอที ต่อมาพอคู่แข่งในตลาดเริ่มมากขึ้น ประกอบกับธุรกิจเริ่มชะลอตัวจากภาวะวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้ต้องมองหาวิธีที่จะทำให้บริษัทมีรายได้ด้วยการเข้าไปคุยกับหัวหน้าซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่น (ปัจจุบันเป็นหุ้นส่วนธุรกิจร่วมกัน) ในการที่จะเปิดธุรกิจคอนซัลต์ขึ้นมา
“ตอนที่เข้ามาทำงานในเอฟ ดี ไอ คอร์ปอเรชั่น นิกทำทุกอย่างตั้งแต่จัดระบบงานการเงินและบัญชี งานบริหารงานบุคคล งานวางระบบเอกสาร ดิวงานกับราชการเอง ตอนหลังมีลูกค้าญี่ปุ่นที่เข้ามาและมองหาบริษัทที่ปรึกษาซึ่งนิกคิดว่าเราน่าจะทำได้จึงปรึกษากับหัวหน้า แม้ว่าประสบการณ์ในการเป็นคอนซัลต์จะไม่มี แต่การที่ดิวงานกับราชการ เช่น กระทรวงพาณิชย์ที่เคยไปขอหนังสือรับรอง จดหนังสือบริคณห์สนธิ รวมถึงกระทรวงแรงงานและอื่นๆ ก็เอาพวกนี้มาเป็นไอเดียหรือโมเดลธุรกิจประกอบกับมีลูกค้าที่เคยมาอยู่กับเราพักหนึ่ง ซึ่งเขาให้บริษัทคอนซัลต์ดูแลทำให้เราได้มีโอกาสศึกษาเอกสารต่างๆ เลยชวนท่านประธานเปิดบริษัท เอฟ ดี ไอ อินเตอร์เนชั่นแนล ทำด้านคอนซัลต์
ผู้บริหารหญิงมากความสามารถ เล่าว่า หลังจากตั้งบริษัท เอฟ ดี ไอ อินเตอร์เนชั่นแนล ก็ถือว่าโชคดีมากที่ได้ลูกค้ารายใหญ่ในเครือของอีซูซุ ซึ่งพอได้ลูกค้านี้จากนั้นก็ได้ต่อเนื่อง ลูกค้าเริ่มรู้จักเอฟ ดี ไอมากขึ้น และที่สำคัญตั้งแต่ทำธุรกิจมาไม่เคยทำความเสียหายให้ลูกค้า ทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่น ทั้งหน่วยงานรัฐบาลและแบงก์ญี่ปุ่นได้แนะนำลูกค้ามาเรื่อยๆ ทำให้มีโอกาสได้ขยายงานเปิดบริษัทต่างๆ เพื่อรองรับบริการของลูกค้าอีกหลายบริษัทรวม 5 บริษัท เพื่อให้ครอบคลุมการดูแลลูกค้า
“งานของเอฟดีไอคือเป็นที่ปรึกษาให้กับนักลงทุนไทยและต่างชาติ (ญี่ปุ่น 99%) ที่ต้องการเข้ามาจัดตั้งเปิดกิจการในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ขอไลเซนส์ จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท หรือสำนักงานผู้แทนเราสามารถขอไลเซนส์ให้ได้ รวมถึงใบอนุญาตต่างๆ เช่น ขอใบอนุญาตจัดตั้งบริษัท หรือใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งโรงงาน สถานศึกษา ร้านอาหาร เป็นต้น ซึ่งหลังจากที่ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งแล้วเรายังให้บริการโทเทิลเซอร์วิสตั้งแต่ดูแลในเรื่องของการทำบัญชี ทำออดิต โดยบริษัท เอฟ ดี ไอ ออดิต ถ้าต้องการหาบุคลากรให้ก็มีบริษัท เอฟ ดี ไอ รีครูทเมนท์ คอยสรรหาหรือเซตระบบบุคลากรให้ การขอวีซ่า ใบอนุญาตทำงานให้ต่างด้าว และในส่วนของการวางระบบไอทีก็มีบริษัทเอฟ ดี ไอ คอร์ปอเรชั่น ณ ปัจจุบันมีอยู่ 5 บริษัท ซึ่งรูปแบบของ 5 บริษัทก็แยกไปตามประเภทและความต้องการของลูกค้าเรา เราดูแลครบวงจรแบบวันสต๊อปเซอร์วิส ตอนนี้ได้ขยายไปในส่วนของงานโลจิสติกส์ ก็มีบริษัทเอฟ ดี ไอ โลจิสติกส์ ให้บริการลูกค้าครบวงจรได้ จากเดิมฐานลูกค้าคือญี่ปุ่น แต่เราได้มีลูกค้าหลากหลายสัญชาติที่ขยายเพิ่มเติม เช่น เอเชียและยุโรป และกำลังมองหาวิธีการสร้างนวัตกรรมขึ้นมารองรับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซให้สำหรับโลจิสติกส์อีกด้วย” ผู้บริหารหญิงกล่าว
สำหรับลูกค้าที่เข้ามาเปิดกิจการในประเทศไทย นิก เล่าว่า ช่วงแรกจะเป็นลูกค้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ช่วงที่ 2 เป็นช่วงที่เอสเอ็มอีจากญี่ปุ่นที่เข้ามาดูว่าจะทำธุรกิจอะไรได้บ้างในช่วงที่เซอร์เวย์ ซึ่งก็จะมีสำนักงานผู้แทน แต่ช่วงที่ 3 ส่วนใหญ่เป็นบริษัทด้านเซอร์วิส เช่น ร้านอาหารญี่ปุ่น โรงเรียนสอนภาษาสอนวัฒนธรรมญี่ปุ่น หรือโรงเรียนสอนนวัตกรรมของญี่ปุ่น เนื่องจากมองว่าคนไทยยังจับเทรนด์ของญี่ปุ่นอยู่
“ตอนนี้ร้านอาหารเข้ามาขอไลเซนส์เยอะมาก สมัยก่อนๆ เราทำแต่โรงงาน แต่หลายปีมานี้ทำธุรกิจเอสเอ็มอีด้วย ร้านอาหารบ้าง สถาบันบ้าง หรือบริษัทเทรดดิ้ง ซื้อมาขายไปยืดหยุ่นของเราไปตามสถานการณ์ แต่เทรนด์ที่จะมานำเทรนด์คือโลจิสติกส์ทั้งภาพใหญ่และภาพเล็ก อุตสาหกรรมก็ยังมีอยู่ เรื่องวัฒนธรรมและท่องเที่ยวน่าสนใจ เพราะเราค่อนข้างได้เปรียบประเทศอื่นๆ มาก”
มุมมองนักธุรกิจญี่ปุ่นต่อการลงทุนในไทย
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ในเครือเอฟ ดี ไอ กรุ๊ป กล่าวว่า ณ ตอนนี้มุมมองของนักธุรกิจญี่ปุ่นต่อไทยในแง่ของการลงทุนยังดีอยู่ ถึงแม้ว่าจะมีการย้ายฐานไปต่างประเทศบ้างเพราะญี่ปุ่นยังคงมองว่า ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมซัพพอร์ตที่มีมายาวนานโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ฉะนั้นจะยังคงมาที่ไทย ถ้าไปเวียดนามก็ยังต้องขนส่งมาที่นี่ปัจจัยที่สอง ญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีคนสูงอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ประมาณ 20% ทำให้ตลาดของญี่ปุ่นเล็กลง ทำให้ญี่ปุ่นต้องออกมาทำธุรกิจที่ต่างประเทศ และเมื่อมองมาที่
เออีซีญี่ปุ่นมองประเทศไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย
“อย่างไรก็ตาม ไทยยังได้เปรียบเวียดนามและอินโดฯ เพราะมีระบบสาธารณูปโภคที่เข้มแข็ง แต่เวียดนาม อินโดฯ ยังต้องรอเวลาสร้างอีก 5-10 ปี แต่คงไม่นาน แต่ระหว่างนี้มิใช่ไทมิ่งของเขาที่จะไปลงทุนในสองประเทศ ฉะนั้นถ้าช่วงนี้ไทยเราพัฒนาสร้างไทยให้เข้มแข็ง เชื่อว่าโอกาสที่จะดึงความเชื่อมั่นนักลงทุนญี่ปุ่นกลับมามีสูงเพราะระบบสาธารณูปโภคของเราดีกว่าเขาเยอะ”
นิก กล่าวต่อว่า ประการที่ 3 เกี่ยวกับระบบกษัตริย์ของญี่ปุ่นกับราชวงศ์ของไทยค่อนข้างมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมานานมาก เห็นได้ว่าประเทศแรกที่จักรพรรดิญี่ปุ่นหลังจากขึ้นครองราชย์เสด็จฯ มาเยือนคือประเทศไทย ทำให้ความเชื่อมั่นระหว่างกันยังมีเยอะอยู่ ที่สำคัญไทยกับญี่ปุ่นยังไม่มีข้อพิพาทต่อกันอีกด้วย
“นิกคิดว่าการทูตน่าจะเข้มแข็งด้วยนะ ปีหน้าครบรอบ 130 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทยกับญี่ปุ่น สถานทูตญี่ปุ่นจะจัดงานและโปรโมทไทยกับญี่ปุ่นมากขึ้น เสียดายที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเราไม่อยู่ ถ้าพระองค์ยังอยู่จะสร้างความเชื่อมั่นและความเข้มแข็งให้กับไทยอย่างมาก ด้วยปัจจัยเหล่านี้ยังไงใน 5-6 ปี เชื่อว่าญี่ปุ่นยังอยู่ที่เรา อยู่ที่ว่าไทยเราต้องสร้างความงามเข้มแข็ง ต้องสามัคคีกัน อีกอย่างจุดเด่นของไทยคือธุรกิจด้านบริการและการท่องเที่ยวต้องทำให้ดี รวมถึงต้องพัฒนาฝีมือแรงงานด้านต่างๆ เน้นด้านไอที เทคโนโลยี นวัตกรรม และเอนจิเนียริงแล้วเราจะไปได้ไกล แต่ถ้าเราไม่พัฒนาแล้วทางเวียดนาม อินโดฯ เขาทำประเทศไทยก็มีสิทธิที่จะหลุดเหมือนกัน อย่าประมาท”
หัวใจสำคัญของการเป็นที่ปรึกษา
ผู้บริหารหญิงแห่งเอฟ ดี ไอ กรุ๊ป กล่าวว่า ทางด้านมาร์เก็ตติ้งและงานขายต้องยกความดีให้กับทางหุ้นส่วนคือท่านประธานและทีมงานคนญี่ปุ่นที่เข้าหาและไปสร้างความเชื่อมั่นให้กับหน่วยงานของรัฐญี่ปุ่น แบงก์ญี่ปุ่น ซึ่งด้วยรีเลชั่นชิปที่มีต่อกันมาทางญี่ปุ่นก็แนะนำลูกค้ามาให้ตลอด และที่ผ่านมาเอฟ ดี ไอก็ไม่ได้มีชื่อเสียงที่เสียหาย “ช่วงหลังที่เราเจอภาวะการเมืองและเศรษฐกิจโลกนักลงทุนหดหายบ้าง แต่เรายังอยู่ได้เพราะพัฒนาและยกระดับตัวเองตลอด แต่สิ่งสำคัญคือเรามีเซอร์วิสมายด์และสร้างความน่าเชื่อถือที่ให้กับลูกค้า เวลาที่คุยกับลูกค้าต้องมีความรู้ที่รอบด้าน ถูกต้อง ครบถ้วน ส่วนตรงไหนที่ไม่รู้ก็ต้องแจงลูกค้าไปตรงๆ ว่าจะหาข้อมูลให้ หรือจะตอบกลับข้อมูลให้เร็วที่สุด เราพูดคำไหนต้องเป็นคำนั้น ถึงแม้จะพูดไปแล้วอาจจะมีปัจจัยที่ทำให้เขาไม่ได้แต่ก็ต้องแจ้งเขาว่าจะหาวิธีหรือจะแนะนำในส่วนที่คิดว่าซัพพอร์ตเขาได้ เราจะดูแลลูกค้าด้วยใจและทำให้เขาสามารถเดินหน้าต่อไปได้”
ในการทำงานคอนซัลต์นอกจากต้องรู้จริง รอบด้านและมีเซอร์วิสมายด์แล้ว ผู้บริหารหญิงคนนี้ยังได้น้อมนำพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาใช้ในการทำงานและสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าจนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีด้วย
“ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสอนให้เราขยัน อดทน และหาความรู้ใส่ตัวอยู่เสมอ เพื่อที่เวลามีอุปสรรคหรือปัญหาก็จะสามารถผ่านไปได้ สองคือความสามัคคี นิกอยากเห็นทั้งในองค์กรและในระดับประเทศ ถ้าแตกสามัคคีก็จะไม่เข้าใจกัน หรือแบ่งฝักฝ่ายแล้วงานก็จะไม่เดิน ที่สำคัญคือความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า อันไหนทำได้ อันไหนไม่ได้ ต้องแจ้งลูกค้า พูดแล้วต้องทำได้ตามที่พูด ถ้าไม่ได้จะทำยังไงต่อก็ต้องบอก นิกบอกเลยว่างานที่ทำตรงนี้เป็นงานที่ช่วยประเทศชาติ เมื่อนักลงทุนเข้ามาเราจะได้เงินตราเข้าประเทศทั้งในรูปแบบการจัดเก็บภาษีและรายได้ช่วยให้คนไทยมีงานทำเพราะเราเป็นบริษัทที่จัดหางานให้คนไทยได้เข้าไปทำงานในบริษัทญี่ปุ่นทำให้ครอบครัวเขามีอยู่มีกิน” ผู้บริหารสาวแห่ง FDI Group ทิ้งท้าย