พระที่นั่งราเชนทรยาน ศิลปกรรมชิ้นเอกแห่งยุครัตนโกสินทร์
ความวิจิตรงดงามของพระเมรุมาศ ตลอดจนริ้วขบวนในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้งานในทุกส่วนเกิดความสวยงามสมพระเกียรติ
เรื่อง กองทรัพย์/วราภรณ์ภาพ ทวีชัย ธวัชปกรณ์
ความวิจิตรงดงามของพระเมรุมาศ ตลอดจนริ้วขบวนในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้งานในทุกส่วนเกิดความสวยงามสมพระเกียรติ เกิดจากการรวบรวมช่างฝีมือด้านต่างๆ ทั้งประติมากรรม จิตรกรรม ศิลปกรรม และงานประณีตศิลป์ ซึ่งระดมทีมช่างฝีมือและผู้เชี่ยวชาญจากสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร รวมทั้งจิตอาสาอีกหลายร้อยชีวิตมาร่วมแรงถวายงาน
การบูรณะราชรถ และพระยานมาศ เป็นอีกหนึ่งงานสำคัญในการเตรียมความพร้อมสำหรับ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ เป็นการรวมพลังของหลายหน่วยงานที่เข้ามาปฏิบัติการร่วมกับสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร อย่างเต็มกำลัง เริ่มตั้งแต่สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเป็นผู้รับ ผิดชอบกระบวนการสำรวจราชรถ ทำความสะอาดที่กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ ส่วนทหารกรมสรรพาวุธทหารบกเป็นผู้ดูแลระบบการขับเคลื่อนล้อเพลาของราชรถ และพระยานมาศทั้งหมด
สำหรับราชรถ และพระยานมาศ ที่ใช้ในพระราชพิธีครั้งสำคัญนี้ ประกอบด้วย พระมหาพิชัย ราชรถ เวชยันตราชรถ และราชรถน้อย 3 องค์ เกรินบันไดนาค พระยานมาศสามลำคาน พระที่นั่งราเชนทรยาน และพระวอสีวิกากาญจน์ นอกจากนี้ยังจัดสร้างราชรถปืนใหญ่ และพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยขึ้นใหม่ ซึ่งถือเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศอย่างสมพระเกียรติยศดำเนินการโดยสำนักช่าง สิบหมู่ และกรมสรรพาวุธทหารบก
สุดตระการตา "พระที่นั่งราเชนทรยาน"
ลักษณะรูปทรงวิจิตรงดงามของพระที่นั่งราเชนทรยาน ซึ่งเป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นโดยช่างหลวงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 สร้างด้วยไม้สักทองแกะสลัก ลงรัก ปิดทองและประดับกระจกทั้งองค์ เป็นงานฝีมือที่ช่างบรรจงสร้างอย่างประณีตสุดฝีมือ พระที่นั่งองค์นี้จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปกรรมชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของยุครัตนโกสินทร์ และได้รับการเก็บรักษาในความดูแลของกรมศิลปากร ที่พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พระที่นั่งราเชนทรยานใช้เวลาเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนแห่อย่างใหญ่ที่เรียกว่า ขบวนสี่สาย เช่น ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะเสด็จพระราชดำเนินจากพระราชมณเฑียร ไปถวายสักการะพระพุทธ มหามณีรัตนปฏิมากร ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากนั้นแล้วยังใช้ในการเชิญพระบรมโกศพระบรมอัฐิพระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระบรมราชินี จากพระเมรุมาศท้องสนามหลวง เข้าสู่พระบรมมหาราชวังด้วย
การอัญเชิญพระที่นั่งราเชนทรยานออกมาบูรณะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2527 ต่อมาปี พ.ศ. 2539 ใช้อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จากพระเมรุมาศท้องสนามหลวงกลับสู่พระบรมมหาราชวัง และในปี พ.ศ. 2551 พระที่นั่งราเชนทรยานได้เชิญพระโกศพระอัฐิสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ล่าสุดในปี พ.ศ. 2555 ใช้เชิญพระโกศพระอัฐิสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี จากพระเมรุท้องสนามหลวงกลับเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง
ศิลปกรรมชิ้นเอกของยุครัตนโกสินทร์องค์นี้ สร้างเป็นทรงบุษบก ย่อมุมไม้สิบสอง หลังคาซ้อน 5 ชั้น พนักพิงและกระจังปฏิญาณแกะสลักเป็นภาพเทพพนมไว้ตรงกลาง ครุฑยุดนาคซึ่งประดับที่ฐาน 14 ตัว มีคานสำหรับหาม 4 คาน แต่เวลาปกติจะคงคานประจำไว้ 2 คาน ความสูงจากฐานถึง ยอดสูงราว 4.15 เมตร กว้าง 103 ซม. ยาว 191 ซม. พระที่นั่งราเชนทรยานนี้สร้างคู่กับพระวอสี วิกากาญจน์
สุภาภรณ์ สายประสิทธิ์ นายช่างศิลปกรรมชำนาญงาน กลุ่มงานช่างปิดทองประดับกระจก สำนักช่างสิบหมู่ กล่าวถึงการบูรณะพระที่นั่งราเชนทรยานว่า "การบูรณะพระที่นั่งราเชนทรยานจะใช้วัสดุเดิม หุ่นเป็นของเดิม เพียงแต่นำไม้ใหม่มาเสริมให้แข็งแรงมากขึ้น เพราะพระที่นั่งราเชนทรยานสร้างมาเกินร้อยปีทำให้ไม้บางส่วนชำรุด จากนั้นจะทำการลงรักปิดทองและติดกระจกทั้งองค์ ซึ่งการดำเนินงานบางส่วนเราแกะสลักใหม่ ต้องลอกลวดลายคมชัด ขัดแต่งผิวให้เหมือนกับสมัยที่แรกสร้าง ซึ่งการดำเนินงานทุกขั้นตอนจะพยายามทำออกมาให้องค์พระที่นั่งเหมือนเดิมมากที่สุด แต่ถ้าส่วนไหนจะทำให้สมบูรณ์ได้มากขึ้น ช่างก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด เช่นเดียวกับพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยซึ่งจัดทำขึ้นใหม่ พอสำเร็จทั้งสององค์เหมือนกับว่าเราได้ราชรถใหม่ 2 องค์ ช่างสิบหมู่และจิตอาสาต่างภูมิใจที่ได้มีโอกาสถวายงานครั้งนี้" สุภาภรณ์ กล่าว
วรพงษ์ จงดี อายุ 48 ปี มีอาชีพขายเสื้อผ้า มือสอง แต่เคยเรียนเป็นช่างปั้นที่วิทยาลัยในวังชาย พสกนิกรชาวกรุงเทพมหานคร เขามาเป็นจิตอาสาบูรณะราชรถองค์เก่าอายุมากกว่า 200 ปี หน้าที่ของวรพงษ์คือลงรักปิดทอง ลอกสีลอกรักเก่าออก เพื่อทำให้ลวดลายแกะสลักดังเดิมชัดขึ้น ลงรักแล้วขัดลงแล้วขัดเพื่อให้รักลงไปรักษาเนื้อไม้และค่อยปิดทองลงไปอีกครั้งหนึ่ง วรพงษ์เล่าว่า เขาทำหน้าที่จิตอาสาได้ 7 เดือนแล้ว และปักหลักอยู่ ณ กองงานช่างสิบหมู่จนกว่างานที่ได้รับมอบหมายจะแล้วเสร็จ
"ครั้งแรกไม่รู้ว่าองค์นี้มีความสำคัญ พอทำไปรู้ว่าองค์นี้ใช้ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ก็รู้สึกดีใจมากเพราะเป็นองค์ที่จะใช้อัญเชิญพระอัฐิ เวลาก่อนขึ้นก็ต้องยกมือไหว้ด้วยความเคารพ ผมรู้สึกภูมิใจมาก ผมตั้งใจจะทำงานจนเสร็จสิ้นชิ้นงานให้มีความสวยงาม นี่คือความดีที่เราพอจะทำถวายพระองค์เป็นครั้งสุดท้ายได้"
"พระที่นั่งราเชนทรยานน้อย" พระยานมาศองค์ใหม่
วิจิตร์ ไชยวิชิต หัวหน้ากลุ่มประณีตศิลป์และนักวิชาการช่างศิลป์ชำนาญการ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กล่าวว่า ในงานพระราชพิธีครั้งนี้ สำนักช่างสิบหมู่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดสร้างพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยองค์ใหม่ใช้ในการอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร หรือเถ้าพระบรมอัฐิ ในหลวง รัชกาลที่ 9 จากพระเมรุมาศท้องสนามหลวงไปยังพระบรมมหาราชวัง โดยเป็นพระราชยานทรงบุษบก พระที่นั่งราเชนทรยานน้อย ปรับแบบจากพระที่นั่งราเชนทรยานแต่มีขนาดเล็กลงลงรักปิดทองประดับกระจกทั้งองค์ โครงสร้างไม้สักทองทรงบุษบก ขนาดกว้าง 100 ซม. ยาว 548 ซม. รวมคานหามสูง 414 ซม. มีคานสำหรับหาม 4 คาน ใช้คนหาม 56 คน ซึ่งองค์นี้ประกอบด้วยการเข้าเดือยตัวผู้และตัวเมีย ที่ปลายไม้ ซึ่งเป็นวิธีการเข้าไม้แบบโบราณ ง่ายต่อการถอดประกอบ
วิจิตร์ กล่าวอีกว่า สำหรับลวดลายประดับพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยถือว่ามีความละเอียดสูงและประณีตอย่างมาก เมื่อช่างจะทำพื้นผิวต้องระมัดระวังเพื่อให้การลงสีงดงามและสมบูรณ์เหมือนกับที่ช่างได้แกะสลักลายต่างๆ ไว้อย่างงดงามเป็นพิเศษ "พระที่นั่งราเชนทรยานน้อยองค์ใหม่ สำนักช่างสิบหมู่จัดสร้างอย่างสมพระเกียรติเพื่อใช้ในงานพระราชพิธีครั้งนี้โดยเฉพาะเพื่อถวายความอาลัยพระองค์ท่าน ลายฉลุท้องไม้เป็นลายก้านขดประกอบหน้าสิงห์ ส่วนฐานประดับครุฑยุดนาค 12 องค์ ขณะนี้ช่างฝีมือกำลังดำเนินการแกะสลักครุฑยุดนาคแล้ว ในส่วนของลวดลายแม้จะแกะสลักใหม่ทั้งหมด แต่ยึดตามรูปแบบของพระที่นั่งราเชนทรยานองค์เดิม ถือเป็นงานครูเพื่อรักษาและสืบทอดงานศิลปกรรมไทยดั้งเดิมยุคต้นรัตนโกสินทร์" วิจิตร์ กล่าว
ธนเดช บุญนุ่มผ่อง วัย 58 ปี ช่างฝีมืองานไม้ทำเรือชะลอมจิ๋ว กำลังแกะสลักครุฑยุดนาคตรงบริเวณฐานขององค์ราเชนทรยานน้อยอย่างขะมักเขม้น เขาถือเป็นตัวแทนชาวบ้านจาก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มาเป็นจิตอาสาสมัครแกะสลักไม้สักราเชนทรยานน้อยและส่วนต่างๆ ความตั้งใจที่อยากมาเป็น จิตอาสาของธนเดช เพราะบ้านของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อยู่หัวหิน ดังที่พระองค์เคยมีรับสั่งว่า หัวหินคือบ้านของพระองค์ เขาจึงรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์นำความเจริญมาสู่หัวหินอย่างอเนกอนันต์ เขาในฐานะคนหัวหินจึงอยากมาถวายงานพระองค์เป็นครั้งสุดท้ายอย่างสุดกำลังความสามารถ
"เป็นจิตอาสา อะไรที่ไม่รู้ผมเรียนรู้เพิ่มเติม อีกทั้งได้เรียนเกี่ยวกับประวัติองค์ราเชนทรยานน้อย ซึ่งผมจะนำความรู้ไปเล่าให้ลูกหลานฟัง ครั้งแรกที่มาผมไม่รู้ว่าผมได้มาทำองค์ราเชนทรยานน้อย คิดว่าได้มาทำงานแกะสลักไม้ทั่วๆ ไป พอรู้ว่าได้มาทำองค์ที่มีความสำคัญก็รู้สึกภาคภูมิใจที่ครั้งหนึ่ง ครั้งเดียวและครั้งสุดท้ายในชีวิตที่ได้ทำงานถวายแบบนี้ ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้เป็นส่วนหนึ่ง ผมตั้งใจจะทำงานตรงนี้จนกว่างานจะเสร็จสิ้นไม่ว่าจะนานแค่ไหน เพราะผมตั้งใจสละรายได้สละความสุขของครอบครัวมาอยู่ตรงนี้ มันเป็นความสุขอิ่มใจของผม"
งานประณีตศิลป์ งานแกะ ฉลุลาย งานปัก ที่รวมอยู่ในมือของทีมช่างนี้ ดำเนินการคืบหน้าควบคู่ไปกับการก่อสร้างพระเมรุมาศ ที่ท้องสนามหลวง