posttoday

อาหารเช้านั้น สำคัญไฉน

22 มิถุนายน 2560

หลายคนอาจไม่ได้กินอาหารเช้า หรือบางคนคิดว่าในเมื่อดื่มกาแฟแก้วเดียวก็อยู่ได้จนถึงมื้อกลางวัน

โดย...ภาดนุ

ปัจจุบันคนส่วนใหญ่มักมีชีวิตประจำวันที่เร่งรีบ ทำให้บางวันหรือเกือบทุกวัน หลายคนไม่ได้กินอาหารเช้าเลย หรือบางคนคิดว่าในเมื่อดื่มกาแฟแก้วเดียวก็อยู่ได้จนถึงมื้อกลางวันแล้วละ

มีคนไม่น้อยที่เชื่อว่า การทำแบบนี้เป็นการประหยัดเวลา แถมยังประหยัดเงินอีกมื้อหนึ่ง และช่วยลดน้ำหนักได้ด้วย หลายๆ คนจึงคิดคล้ายๆ กันว่า ถ้าอย่างนั้นไม่กินอาหารเช้าคงจะดีกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว
การไม่กินอาหารเช้ามีผลเสียต่อร่างกายมากกว่าที่เราคิด การที่กินแค่กาแฟ ขนมปัง หรือนม ไม่ถือว่ากินอาหารเช้า เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มีสารอาหารน้อยจนไม่สามารถกินแทนอาหารได้

หากเปรียบร่างกายเหมือนเครื่องยนต์ อาหารก็คงเหมือนน้ำมัน ที่จะช่วยให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติ ลองจินตนาการดูว่า หากเราไม่กินอาหารเช้า อาหารมื้อล่าสุดที่ร่างกายเราได้รับก็คือ มื้อเย็นของเมื่อวาน กว่าเราจะได้กินอีกมื้อก็คือเที่ยง นั่นแปลว่าร่างกายเราจะไม่ได้รับสารอาหารติดต่อกันถึง 16-18 ชั่วโมง

การที่เราจะคาดหวังให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติ โดยที่ไม่ได้รับสารอาหารนานขนาดนั้นคงจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นคนที่ไม่ค่อยกินอาหารเช้า จึงมีโอกาสเป็นโรคต่างๆ ได้ดังนี้

- โรคอ้วน เบาหวาน และโรคหัวใจ

จากการประชุมประจำปีของสมาคมแพทย์โรคหัวใจ (American Heart Association) มีการเสนอผลวิจัยชื่อว่า Cardia Study ที่พบว่า อัตราการเกิดโรคที่เรียกว่าภาวะดื้อต่ออินซูลิน ที่ทำให้อ้วนและเป็นโรคเบาหวาน มีอัตราลดลงในผู้ที่กินอาหารเช้าอย่างสม่ำเสมอถึง 35-50% เทียบกับผู้ที่ไม่กิน คณะนักวิจัยเชื่อว่า อาหารเช้าเป็นอาหารมื้อที่สำคัญที่สุดในการป้องกันเบาหวานและโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดหัวใจ โดยคนที่ไม่กินอาหารเช้า สมองจะหลั่งสารนิวโรเปปไทด์ วาย (Neuropeptide Y) ซึ่งจะทำให้เรากินอาหารมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้กินจุบกินจิบทั้งวัน และกินอาหารในมื้ออื่นมากขึ้นกว่าปกติทำให้มีโอกาสอ้วนขึ้นได้ไม่ยาก

- อัลไซเมอร์

คือโรคหลงๆ ลืมๆ ที่หลายคนกลัว และคิดว่าคนแก่เท่านั้นที่เป็น แต่ถ้าเราไม่ได้กินอาหารเช้าจะทำให้สมองขาดสารอาหาร ส่งผลให้เรามีโอกาสเป็นโรคหลงๆ ลืมๆ ตั้งแต่อายุยังไม่มาก และมีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์ได้มากขึ้น

- ร่างกายทรุดโทรม

เมื่อร่างกายไม่ได้พลังงานจากอาหารเช้า ร่างกายก็จะดึงสารอาหารจากอวัยวะส่วนอื่นออกมา ซึ่งภายใต้กระบวนการนี้จะเกิดกรดชนิดหนึ่งออกมาด้วย และเมื่อร่างกายต้องผลิตกรดออกมาบ่อยๆ พออายุมากขึ้น เราก็จะเป็นโรคตามมาหลายอย่าง เช่น มะเร็ง หัวใจ

อาหารเช้านั้น สำคัญไฉน


- หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย อ่อนเพลีย

เมื่อตื่นนอนในตอนเช้าระดับน้ำตาลในเลือดเราจะต่ำ หากเรายังไม่กินอาหารเช้า ร่างกายจะไปดึงพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตที่สะสมไว้ที่ตับเพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติ แต่เมื่อไหร่ที่พลังงานส่วนนี้ถูกใช้จนหมดไป ในตอนเช้าระดับน้ำตาลในเลือดก็จะต่ำอยู่อย่างนั้น ทำให้เรารู้สึกหงุดหงิดอารมณ์เสียง่ายและอ่อนเพลีย ส่วนคนที่กินอาหารเช้าจะมีพลังงานในการทำงานได้นานกว่า และมีความอ่อนล้าในช่วงกลางวันน้อยกว่าคนที่ไม่กินอาหารเช้า

- สมองทำงานไม่ดีเท่าที่ควร

มีงานวิจัยหลายเรื่องที่ระบุว่า การกินอาหารเช้ามีผลต่อการเรียนของนักเรียน เพราะถ้าสมองได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ สมองก็จะไม่รับรู้เรื่องที่ครูสอน หรือไม่มีสมาธิในการเรียน บางคนไปสอบโดยไม่กินอาหารเช้าก็จะทำข้อสอบได้ไม่ดีเท่าที่ควร และเด็กที่อยู่ในวัยเจริญเติบโต หากได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ก็อาจทำให้มีไอคิวต่ำและร่างกายไม่แข็งแรงได้

ขณะที่คนในวัยทำงานก็จะมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง เพราะฉะนั้นเราควรกินอาหารเช้า เพื่อให้ร่างกายและสมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในปัจจุบันมีคนไทยประมาณร้อยละ 60 เท่านั้นที่กินอาหารครบ 3 มื้อ โดยกลุ่มอายุระหว่าง 20-39 ปี เป็นกลุ่มที่กินอาหารไม่ครบ 3 มื้อมากที่สุด โดยเด็กระดับ ม.ต้น และ ม.ปลาย กินอาหารเช้าเป็นประจำเพียงร้อยละ 50 ขณะที่เด็กอาชีวะและอุดมศึกษา กินอาหารเช้าเพียงร้อยละ 37 สิ่งนี้จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สุขภาพยิ่งแย่ลง ป่วยกันง่ายขึ้น และมีปัญหาเกี่ยวกับสมอง

ด้วยเหตุผลดังกล่าว เราจึงควรกินอาหารเช้าทุกวัน โดยกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีของตัวเราเองและคนในครอบครัว เพราะถ้าเราแข็งแรงไม่เจ็บป่วยง่าย ชีวิตเราก็จะยืนยาวไปด้วย