บ้านหอมเทียน เรียนรู้จากผิดสู่ความสำเร็จ
หากจะกล่าวถึงแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อในสวนผึ้ง เมื่อใครเดินทางไปแล้วต้องหยุดแวะ “บ้านหอมเทียน”
หากจะกล่าวถึงแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อในสวนผึ้ง เมื่อใครเดินทางไปแล้วต้องหยุดแวะ “บ้านหอมเทียน” ติดอันดับต้นๆ ในนั้น ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้เกิดขึ้นจากความสำนึกรักในบ้านเกิดของช่างทำเทียนคนหนึ่งที่ชื่อ “รัชนิกร ฉิมมะ” เป็นเจ้าของบ้านหอมเทียนในวัย 43 ปี
รัชนิกร กล่าวว่า เขาเริ่มหัดทำเทียนด้วยการลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง เพียงเพื่อต้องการทำเป็นของขวัญแจกจ่ายให้เพื่อนฝูงเมื่อ 20 ปีก่อน โดยที่ไม่เคยมีความรู้ดั้งเดิมว่าขั้นตอนทำเทียนเป็นอย่างไรบ้าง มีเพียงภาพที่เคยเห็นการหล่อเทียนพรรษา เมื่อครั้งเป็นเด็กวัด และการทดลองนี้เองนำไปสู่การประดิษฐ์เทียนที่มีลวดลายแปลกแหวกแนวไปจากตลาด เป็นลายการ์ตูน และสีสันสดใส ทำให้คนต้องการซื้อ และสุดท้ายเขาก็เริ่มทำขายตามจุดที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติไปมาก เช่น สวนจตุจักร ถนนข้าวสาร
จากที่ทำเองคนเดียวก็เริ่มไม่เพียงพอกับความต้องการ ต้องดึงเครือญาติอีก 5 คนมาช่วยทำ และหลังขายตามจุดท่องเที่ยว มีชาวต่างชาติมาซื้อจนติดใจ ก็เริ่มส่งออกไปต่างประเทศมากขึ้น ต้องดึงคนที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกันมาช่วยทำ เริ่มไปออกงานในต่างประเทศ และได้รับความนิยมมากจนกระทั่งส่งออกเกือบหมด แทบไม่มีขายในประเทศอีกเลย
เมื่อส่งออกเก็บเงินได้มากแล้ว ต่อมา รัชนิกรเริ่มเกิดความคิดว่า อยากขายเทียนที่ไม่มีใครในโลกผลิตได้แบบนี้ให้กับคนไทยบ้าง ประจวบเหมาะกับตัวเองอยากกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด อ.จอมบึง จ.ราชบุรี จึงตัดสินใจหันเหตัวเองกลับสู่บ้านและเลือก อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นอำเภอที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านเป็นที่สำหรับใช้ชีวิตเรียบง่าย ปลูกบ้านหลังเล็กๆ ปลูกผักรับประทานเอง ใช้ทรัพยากรในพื้นที่จำพวกเศษไม้เก่า หลังคามุงจาก ด้วยเวลา 2 ปี สร้างเป็นบ้านหอมเทียนขึ้นมา หวังให้เป็นพื้นที่สำหรับแสดงภูมิปัญญาท้องถิ่นออกไปให้คนได้เรียนรู้
“ยุคที่สร้างบ้านหอมเทียน เป็นยุคที่เรื่องกองกำลังก็อตอาร์มี่ ชาวกะเหรี่ยงพม่า ในสวนผึ้งกำลังโด่งดัง แต่ก็ยังตั้งใจสร้างบ้านหอมเทียนขึ้นที่สวนผึ้ง เพราะมองว่าขนาดเรายังชอบสวนผึ้ง วันหนึ่งคนที่เดินทางมาก็จะชอบเหมือนกัน ซึ่งก็เห็นความเปลี่ยนแปลงได้เยอะ เมื่อเทียบกับช่วงเริ่มต้นมีบ้านหอมเทียนมีรถผ่านไปมาบริเวณสวนผึ้งไม่เกิน 10 คัน โดยในช่วงที่คนน้อย ก็ใช้เวลานี้เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ว่า ลูกค้าที่มาต้องการอะไร บ้านหอมเทียนจะเปลี่ยนแปลงตลอดทุก 1 ปี อาคารหลังแรกที่เกิดขึ้นปัจจุบันไม่เหลือแล้ว เพราะต้องสร้างอาคารใหม่ให้มั่นคงขึ้น มีพื้นที่มากขึ้นเพื่อแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งให้ชาวบ้านในท้องถิ่นมาขายสินค้าเลี้ยงชีพ โดยไม่ได้คิดค่าเช่าที่ใครที่ขายยังไม่มีกำไรก็ขายไปไม่ต้องเสียเงินอะไรให้กับบ้านหอมเทียน แต่ใครที่ขายมีกำไรอยู่ได้แล้ว ก็จะปันค่าที่ให้บ้านหอมเทียนบ้าง” รัชนิกร กล่าว
สำหรับบ้านหอมเทียนนั้น รัชนิกร มองว่า มียุคแห่งการเปลี่ยนแปลง 4 ยุคแล้ว เริ่มต้นยุคแรก รองรับกลุ่มวัยรุ่นที่ต้องการท่องเที่ยวแบบแตกต่าง มีลักษณะเฉพาะตัว ได้ประสบการณ์ใหม่ และในช่วงนั้นก็ถือเป็นช่วงเริ่มต้นที่เคยเริ่มไปสถานที่ที่มีมุมให้ถ่ายรูปมากๆ จากนั้นยุคที่ 2 จากวัยรุ่นก็เริ่มขยับสู่วัย 30 ปีขึ้นไป วัยกลางคน เริ่มเป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงขึ้น ยุคที่ 3 เริ่มมาสู่ความเป็นสาธารณะมากขึ้น มีคนทุกกลุ่ม คนกลุ่มที่ต้องการมาดูงาน ครอบคลุมทุกเพศ ทุกวัยเดินทางมาผสมผสานกัน และปัจจุบันถือว่าอยู่ในยุคที่ 4 ที่บ้านหอมเทียนมีความเป็นมาตรฐานมากขึ้น ขณะที่ชาวบ้านทั่วไปเริ่มมาเที่ยวมากขึ้น ส่วนกลุ่มคนฐานะดีก็ชอบมาเที่ยวเรียนรู้ ซื้อสินค้าพื้นบ้านกลับไป ขณะที่ยุคต่อไปนั้น เชื่อว่าจะย้อนกลับสู่ยุควัยกลางคนอีกครั้ง
รัชนิกร เน้นย้ำว่า สิ่งที่ทำให้บ้านหอมเทียนผ่านจากจุดเริ่มต้นที่คนยังเดินทางมาสวนผึ้งน้อยจนมามากอย่างทุกวันนี้ คือ ความอดทน เรียนรู้ และปรับตัวเรื่อยๆ ทำให้ผ่านอุปสรรคทุกอย่างมาได้ และเขายังระลึกเสมอว่า การมาทำบ้านหอมเทียนไม่ได้ต้องการค้าขายเพื่อร่ำรวย แค่ให้ดำรงชีพอยู่ได้เท่านั้น และต้องการให้เกิดการแบ่งปันความสุขร่วมกันระหว่างคนที่มาเที่ยวสวนผึ้งกับคนในท้องที่ ทุกวันนี้ที่ลงทุนมาปรับเปลี่ยนบ้านหอมเทียนให้มีกลิ่นอายเป็นถิ่นแห่งความทรงจำเก่า ให้คนที่มาเที่ยวรุ่นพ่อแม่ รุ่นหลาน คุยเรื่องเดียวกันได้
รัชนิกร มองว่า การเริ่มต้นเรียนรู้เองจากสิ่งที่ผิด โดยไม่มีโรงเรียนสอน จะทำให้ค้นพบสิ่งที่แตกต่างไปจากที่มีอยู่ในตลาดได้เสมอ ทุกวันนี้บ้านหอมเทียนไม่ใช่เพียงขายเทียนอย่างเดียว แต่ยังมีสอนทำเทียน เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวที่สนใจได้ร่วมลงมือทำด้วย โดยจะให้นักท่องเที่ยวลงมือด้วยตัวเอง เจ้าหน้าที่ของบ้านหอมเทียนมีหน้าที่เป็นแค่ผู้ช่วย ไม่ใช่ผู้สอน เพราะเชื่อว่า เราไม่สามารถสอนจิตใจมนุษย์ สอนเรื่องจินตนาการได้ แต่เราเป็นเพียงผู้สนับสนุนให้จินตนาการที่มีไปสู่จุดหมายได้ เช่น อยากได้เทียนลวดลายสุนัขขี่แมว เราก็จะเป็นผู้ช่วยทำให้คุณไปสู่จุดหมายนั้น แต่เราไม่สามารถบอกได้ว่าจินตนาการนั้นผิดหรือถูก
ทางด้านการเปิดโอกาสให้คนท้องถิ่นมาขายสินค้าในบ้านหอมเทียนนั้น ก็จะเน้นว่าทุกอย่างที่นำมาขายต้องถูกทำด้วยมือชาวบ้านเอง เพราะอยากให้บ้านหอมเทียนเป็นสถานที่สำหรับการเลือกซื้อสินค้าทุกอย่างที่มาจากฝีมือของคน ขณะเดียวกันก็อยากเห็นคนได้อยู่กับบ้าน อยู่กับท้องถิ่น อยู่กับสิ่งแวดล้อมแบบที่ตัวเองเกิด มีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิมโดยไม่ต้องย้ายถิ่นฐานไปที่ที่ตัวเองไม่ชอบ
นอกจากบทบาทการเป็นเจ้าของบ้านหอมเทียนแล้ว รัชนิกร ยังมีอีกบทบาทหนึ่งด้วย คือการเป็นคนสอนทำเทียนให้กับผู้ต้องขังในคุก ตามโครงการของมูลนิธิ ณภาฯในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ต้องการช่วยให้ผู้ต้องขังหญิงมีอาชีพ ซึ่งบทบาทนี้ทำมาแล้ว 4-5 ปี โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย สิ่งที่มุ่งหวังคือ ให้ทุกคนได้เรียนรู้ว่า มีอาชีพคนทำเทียนอยู่ หากตั้งใจจะทำอะไรก็ทำได้ และถ้าทำในสิ่งที่รัก ก็จะทำได้ดีกว่าคนอื่น ซึ่งจากการเข้าไปสอนก็ทำให้ผู้ต้องขังที่เคยเครียด มีความอ่อนโยนมากขึ้น และมีความหวังมากขึ้น หลังจากมองเห็นชีวิตของเขาที่ก็เริ่มต้นจากศูนย์เช่นกัน
รัชนิกร ยอมรับว่า เคยคิดเหมือนกันว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วก็อยากเลิกทำบ้านหอมเทียน อยากกลับไปปลูกผักกินเอง ไม่ต้องทำอะไรใหญ่โตเหมือนกับบ้านหอมเทียนทุกวันนี้ที่มีขนาดใหญ่โตมาก แต่ที่ยอมทำบ้านหอมเทียนให้ขยายมาถึงทุกวันนี้ ก็เพราะต้องการช่วยเหลือคน ซึ่งก็คงต้องทำต่อไป
เชื่อว่าหากใครอีกหลายคนมีสำนึกรักบ้านเกิดอันแรงกล้า เฉกเช่นที่เจ้าของบ้านหอมเทียนผู้นี้มี คนอีกหลายท้องถิ่นก็คงจะได้อวดภูมิปัญญาดีๆ ที่พื้นบ้านมีให้ชาวโลกรู้ ได้ทำงาน ได้เงินเลี้ยงชีพ ได้มีความสุขกับการใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเกิดตัวเอง ไม่ต้องกระเสือกกระสนเข้ามาไขว่คว้าหางานในเมืองกรุงอันวุ่นวายเหมือนเช่นที่หลายๆ คนจำยอมทำกัน เพียงเพราะไม่รู้ว่าจะกลับบ้านเกิดไปเริ่มต้นทำอะไรดี