posttoday

ป่าชายเลนไทย แหล่งดูดซับคาร์บอนชั้นดีกว่าปีละ 9.4 ตันต่อไร่

02 มีนาคม 2566

‘ป่าชายเลน’ ถือเป็นพื้นที่ตามธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์ เพราะสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศ และช่วยกักเก็บก๊าซเรือนกระจกตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยพื้นที่ป่าชายเลนในไทยสามารถดูดกลับคาร์บอนได้กว่าปีละ 9.4 ตันต่อไร่

จากการที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันสารเข้าร่วมในภาคี “ความตกลงปารีส” (Paris Agreement) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันมีเป้าหมายเพื่อควบคุมการเพิ่มของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และควบคุมไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 20% – 25% ภายในปี พ.ศ. 2030 หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนจึงเล็งเห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน ซึ่งการปลูกป่าชายเลน ถือเป็นการลดก๊าซเรือนกระจกที่ดีรูปแบบหนึ่งเพราะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก

ป่าชายเลนไทย แหล่งดูดซับคาร์บอนชั้นดีกว่าปีละ 9.4 ตันต่อไร่

ทางด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ยังได้เร่งขับเคลื่อนการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกสุทธิภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน จำนวนทั้งสิ้น 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี ค.ศ. 2580 โดยมีมาตรการสำคัญ ได้แก่ การปลูกและฟื้นฟูป่าธรรมชาติ การปลูกป่าเศรษฐกิจ การเพิ่มพื้นที่พื้นที่สีเขียว และการป้องกันการบุกรุกป่าและเผาป่า และได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจกตามภารกิจหน้าที่ของหน่วยงาน

ป่าชายเลนไทย แหล่งดูดซับคาร์บอนชั้นดีกว่าปีละ 9.4 ตันต่อไร่

พร้อมมอบหมายให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวง ทส. เร่งดำเนินการกำหนดแนวทางการจัดการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ

ขณะที่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ระบุว่า จะตั้งเป้าฟื้นฟูป่าชายเลน 300,000 ไร่ ในพื้นที่ 23 จังหวัด ภายใน 10 ปี ตั้งแต่ปี 2565 - 2574 เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจก โดยได้รับประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต

โดยโครงการปลูกป่าเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต จะสามารถสร้างประโยชน์ได้ในหลายมิติ ที่นอกจากการเพิ่มพื้นที่ป่าและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรแล้ว ยังเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ  สร้างรายได้ต่อชุมชนให้สามารถประกอบอาชีพตามวิถีชุมชนในเขตป่าชายเลนได้ตามปกติ

ป่าชายเลนไทย แหล่งดูดซับคาร์บอนชั้นดีกว่าปีละ 9.4 ตันต่อไร่

นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลทรัพยากรป่าชายเลนได้มีการออกระเบียบ อาทิ การปลูกและบำรุงป่าชายเลนสำหรับองค์กรหรือบุคคลภายนอก พ.ศ. 2565 พื้นที่เป้าหมายที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขอรับพื้นที่ป่าชายเลนไปปลูกป่าเพื่อลดคาร์บอนเครดิต เพื่อรับมือกับมาตรการการค้ารูปแบบใหม่ ที่มีผลต่อการส่งอออกและเวทีการค้าระหว่างประเทศ พร้อมกันนี้ได้จัดทำคู่มือการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต และขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการปลูกป่าชายเลนกับ กรม ทช. เพื่อให้การดำเนินงานปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต เกิดประสิทธิภาพ สัมฤทธิ์ผลทุกมิติ และบรรลุเป้าหมายของทุกฝ่าย เปิดโอกาส สนับสนุนเอกชนและภาคประชาชนในการร่วมกันสร้างป่าชายเลนได้มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการลดงบประมาณของรัฐในการฟื้นฟูป่าชายเลนอีกด้วย

โดยมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ในการจัดเก็บข้อมูลการประเมินคาร์บอนเครดิตสำหรับผู้ที่เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งเดิมค่าคาดการณ์การกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของป่าชายเลนเท่ากับ 2.75 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อไร่ต่อปี จึงได้มีการศึกษาการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของไม้สกุลโกงกาง (Rhizophara spp.) ในพื้นที่แปลงปลูกป่าชายเลนของประเทศไทย ดำเนินการโดยคณะทำงานเพื่อศึกษาศักยภาพการเก็บคาร์บอนของป่าชายเลน ซึ่งคณะทำงานเป็นบุคลากรจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้รับเกียรติจาก ศ.ดร. สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และประธานสมาคมป่าชายเลนนานาชาติ (ISME) ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเพื่อปรับปรุง เพื่อใช้ข้อมูลอ้างอิงการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในป่าชายเลนของประเทศไทย

โดยมีการเก็บข้อมูลในพื้นที่ 4 โซน แบ่งออกเป็น โซนตะวันออก โซนอ่าวไทย ตัว ก โซนอ่าวไทย และโซนอันดามัน  ในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี เพชรบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง สตูล กระบี่ และพังงา จำนวน 116 แปลง ใน 16 ชั้นอายุ (แปลงปลูกป่าชายเลนที่อายุ 7, 8, 9, 10, 12, 13, 14, 15, 16, 18, 19, 21, 27, 28, 29 และ 30 ปี) โดยผลการศึกษาการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของไม้สกุลโกงกาง (Rhizophara spp.) ในพื้นที่แปลงปลูกป่าชายเลนของประเทศไทย พบว่าป่าชายเลนสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิ 9.4 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อไร่ต่อปี และในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก ครั้งที่ 2/2566 ซึ่งมี นายวิจารย์ สิมาฉายา เป็นประธาน มีมติรับทราบค่าศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนของป่าชายเลน และให้นำค่าเฉลี่ยศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนของป่าชายเลนเท่ากับ 9.40 tCO2eq/ไร่-ปี ไปใช้ในการคาดการณ์สำหรับโครงการ T-VER ของกิจกรรมการปลูกป่าชายเลน อย่างไรก็ตาม โครงการปลูกป่าเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต คาดว่าจะสร้างประโยชน์ในหลายมิติ ทั้งเพิ่มพื้นที่ป่า เพิ่มความสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ และลดการตั้งกำแพงภาษีจากสหภาพยุโรป ตลอดจนสร้างรายได้รวมถึงประโยชน์ต่อชุมชนและประชาชน ให้สามารถประกอบอาชีพตามวิถีชุมชนในเขตป่าชายเลนได้ตามปกติทุกประการ ในส่วนขององค์กรภาคธรุกิจก็จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด มีสิทธิเพียงการคิดคำนวณคาร์บอนเครดิตเท่านั้น และจะต้องดูแลป่าที่ปลูกขึ้นใหม่ต่อเนื่องไปไม่น้อยกว่า 10 ปี “นายอภิชัย กล่าวทิ้งท้าย”