posttoday

กทม.ไม่ยุบ "บีอาร์ที" ขึ้นค่าโดยสาร 15 บ./ตลอดสาย

27 มีนาคม 2560

กรุงเทพมหานคร ประกาศเดินหน้าโครงการ "บีอาร์ที" ต่อ โดยเตรียมขึ้นค่าโดยสารเพื่อลดภาระขาดทุน

กรุงเทพมหานคร ประกาศเดินหน้าโครงการ "บีอาร์ที" ต่อ โดยเตรียมขึ้นค่าโดยสารเพื่อลดภาระขาดทุน

เมื่อวันที่ 27 มี.ค. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการดำเนินการโครงการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) ว่า จากการสำรวจความคิดเห็นผู้ได้รับผลกระทบ ยืนยันกรุงเทพมหานครยังคงเดินหน้าโครงการต่อไป ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาเสนอ "ขอนแก่นโมเดล" จัดการเดินรถให้ฟรี ซึ่งต้องมีประชุมหารือเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม

"ถ้ายกเลิก เงินที่ลงทุนไป 1,700-1,800 ล้านบาท เมื่อ 8 ปีที่แล้วจะทำอย่างไร สถานีอยู่ตรงกลางก็ต้องรื้อทิ้งทั้งหมด ที่สำคัญไม่มีรถประจำทางวิ่งรับ-ส่งประชาชนในเส้นทางนั้นเลย ที่ผ่านมา กทม.จ้าง บีทีเอสจัดการเดินรถในราคา 230 ล้านบาท/ปี ค่าโดยสาร 5 บาท เก็บค่าโดยสารได้ 30 ล้านบาท/ปี ซึ่งทาง บีทีเอส ได้ยื่นข้อเสนอใหม่มาให้ กทม. คือ 200 ล้านบาท/ปี แต่ผมให้แค่ 170 ล้านบาท/ปี ถ้าไม่ได้ 170 ล้านบาท/ปี หรือต่ำกว่า ก็ไม่เอา ซี่งทางบีทีเอสก็กลับไปพิจารณาข้อเสนอของเรา เเละต้องได้ข้อสรุปทันก่อนหมดสัญญาในเดือนเมษายนนี้"

สำหรับเรื่องที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ท้วงเรื่องโครงการขาดทุนสะสมนั้น ผู้ว่าฯ กทม.บอกว่า ขณะนี้กทม.ปรับได้ขึ้นค่าโดยสารเป็น 10 บาท จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 50 ล้านบาท/ปี และในอนาคตถ้าจะได้เดินรถต่อก็จะเก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสายซี่งผลสำรวจประชาชนยอมจ่ายถึง 30 บาท แต่กทม.คิดเพียงแค่ 15 บาท ซึ่งเป็นอัตรากลางๆ จากที่คมนาคมเคยกำหนดที่ 13-19 บาท เเละจะทำให้มีรายได้เพิ่มเป็น 90 ล้านบาท/ปี

พล.ต.อ.อัศวิน บอกว่า หากจะต้องจ้างเดินรถ 170 ล้านบาท/ปี หักรายได้ 90 ล้าน เท่ากับกทม.จะจ่ายค่าดำเนินการ 80 ล้านบาท/ปี อย่าไปคิดประเด็นขาดทุน เพราะการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน ไม่มีกำไรขาดทุน ในส่วนของการต่อสัญญาจะต่อ 2-3 ปีเท่านั้น เพราะอนาคตตามแผนจะมีรถไฟฟ้าขนาดเบา(โมโนเรล) มาทดแทน และผู้โดยสารส่วนของเด็กนักเรียนและผู้สูงอายุยังคงให้บริการฟรี