ชานกรุงระทึกเตรียมรับศึก น้ำเหนือทะลักถึงปทุมธานี
สถานการณ์ฝนตกหนักและอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ทำให้กรมชลประทานต้องเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ลงมายังพื้นที่ภาคกลางตอนล่างเพิ่มขึ้น
โดย...ทีมข่าวภูมิภาคโพสต์ทูเดย์
สถานการณ์ฝนตกหนักและอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ทำให้กรมชลประทานต้องเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ลงมายังพื้นที่ภาคกลางตอนล่างเพิ่มขึ้นจาก 1,800 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที เป็น 1,900 ลบ.ม./วินาที และคาดว่าในสัปดาห์หน้าจะเพิ่มการระบายน้ำเป็น 2,000 ลบ.ม./วินาที เพื่อเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ภาคเหนือ โดยระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาวัดได้ 16.70 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ร.ท.ก.) ส่วนด้านท้ายน้ำที่ระบายลงมาตอนล่างนั้น ระดับน้ำอยู่ที่เพียง 14.60 เมตร ร.ท.ก. จะเห็นได้ว่าระดับน้ำห่างกันถึง 2 เมตร
อุดมศักดิ์ ขาวหนูนา ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า หลังจากเขื่อนเจ้าพระยาปล่อยน้ำมาเกือบ 1,800 ลบ.ม./วินาทีนานหลายวัน ทำให้ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อยในเขต จ.พระนครศรีอยุธยา เกิดน้ำท่วมหนักในชุมชนริมแม่น้ำ ซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านเรือนพักอยู่อาศัยส่วนใหญ่ของคนในจังหวัด รวมแล้ว 6 อำเภอ ได้แก่ อ.บางบาล เสนา ผักไห่ พระนครศรีอยุธยา บางปะอิน และบางไทร ประชาชนได้รับผลกระทบ 18,472 หลังคาเรือน ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 50-100 เซนติเมตร
“เส้นทางน้ำไหลพบว่าแม่น้ำเจ้าพระยาไหลมารวมกับแม่น้ำป่าสักอีก 401 ลบ.ม./วินาที บริเวณเกาะเมืองกรุงเก่า น้ำทั้งหมดเอ่อท่วมพื้นที่ 10 ตำบลของ อ.บางปะอิน และบางไทร ซึ่งติดกับแม่น้ำน้อยก็ท่วมแล้วทั้ง 21 ตำบล และน้ำกำลังไหลต่อลงไปยัง อ.สามโคก จ.ปทุมธานี” ปภ.พระนครศรีอยุธยา กล่าว
ด้านจังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างก็เร่งเตรียมรับมือ โดยที่ จ.ปทุมธานี ได้เร่งสูบน้ำจากสถานีสูบน้ำปากคลองรังสิต อ.เมืองปทุมธานี อย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงน้ำจากคลองเปรมประชากร (ฝั่งใต้) ให้ไหลขึ้นเหนือมาลงคลองรังสิตไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยแบ่งน้ำไม่ให้เพิ่มภาระแก่ กทม.
ส่วนที่ จ.นนทบุรี เทศบาลนครปากเกร็ดเร่งวางกระสอบทราย 1 แสนใบ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาป้องกันน้ำที่เอ่อท่วม เช่นเดียวกับบริเวณท่าน้ำนนทบุรี อ.เมืองนนทบุรี ก็มีการเร่งวางกระสอบทรายสูงประมาณ 50 เซนติเมตร พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 2 ตัว เตรียมพร้อมรับภาวะฝนตกหนักเพื่อสูบระบายน้ำออกแม่น้ำเจ้าพระยา
รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ก็เห็นว่าภายในเดือน ก.ย.นี้ นาข้าวในเขต อ.ผักไห่ เสนา และบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ก็จะเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้น พื้นที่ทุ่งนาใน 3 อำเภอดังกล่าว เนื้อที่กว่า 1.9 แสนไร่ ซึ่งเป็นแก้มลิงตามธรรมชาติ ที่ระดับความสูง 1 เมตร จะไม่ทำให้เกิดความเสียหาย และสามารถดึงมวลน้ำ 450 ล้าน ลบ.ม.จากแม่น้ำเข้าทุ่งนา ซึ่งจะบรรเทาปัญหาน้ำท่วมสูงในชุมชนติดแม่น้ำได้
ด้านคันกั้นน้ำบ้านกรด อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งชำรุดหลายจุดตลอดแนว 10 กิโลเมตร ซึ่งหากปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นมากกว่านี้ ก็อาจส่งผลกระทบกับนิคมอุตสาหกรรม 5 แห่ง รวมถึงเขตเศรษฐกิจย่านถนนโรจนะและถนนสายเอเชีย ล่าสุด กรมชลประทานจัดงบประมาณให้จำนวน 7 ล้านบาท เพื่อซ่อมแซมให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน
ไมตรี ปิตินานนท์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า มั่นใจว่าการซ่อมแซมในทุกจุดจะแล้วเสร็จทันกำหนดเวลา ก่อนแม่น้ำเจ้าพระยาจะสูงขึ้นกว่านี้ เพราะหากน้ำท่วมจะไหลมาถึงหน้าคันกั้นน้ำ เขื่อนเจ้าพระยาจะต้องปล่อยน้ำที่ 2,500 ลบ.ม./วินาที แต่ปัจจุบันเขื่อนปล่อยอยู่ที่ 1,900 ลบ.ม./วินาทีเท่านั้น
แม้ปริมาณน้ำเหนือในปีนี้จะไม่หนักหน่วงเท่ากับน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 แต่การคาดการณ์ฝนที่จะยังตกหนักไปจนถึงช่วงกลางเดือน ต.ค. ก็ทำให้ทุกฝ่ายและทุกพื้นที่กังวลกับปัญหาฝนตกน้ำท่วมขัง เพราะหากน้ำเหนือยังระบายมาเพิ่มขึ้น การระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาก็จะไม่คล่องตัว ปัญหาท่วมขังในพื้นที่ต่างๆ ก็จะส่งผลกระทบมากขึ้น