จับตาพายุลูกใหม่เข้าไทย ส.ค.-ก.ย.
วันที่ 4-6 ส.ค. ให้จับตาภาคใต้และภาคเหนือ มีปริมาณฝนมากขึ้นจากอิทธิพลลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ โดยสถิติ พายุมักเข้าประเทศไทยช่วงเดือน ส.ค.และ ก.ย.ประมาณ 1-2 ลูก
โดย...ทีมข่าวภูมิภาคโพสต์ทูเดย์
สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.สกลนคร เริ่มคลี่คลาย ทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณตลาด เขตเทศบาลนครสกลนคร ระดับน้ำสูงประมาณ 50 เซนติเมตร โดยเร่งสูบน้ำลงแม่น้ำก่ำเพื่อระบายลงสู่แม่น้ำโขงด้าน อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ต่อไป หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่ม คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ปกติภายใน 1 สัปดาห์
รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ จะเพิ่มการระบายน้ำจากวันละ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เป็นวันละ 20 ล้าน ลบ.ม. อาจจะมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ อ.เมือง ยางตลาด กมลาไสย ฆ้องชัย และร่องคำ ซึ่ง ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนแล้ว
ด้าน จ.นครพนม แม่น้ำก่ำซึ่งรับน้ำมาจาก จ.สกลนคร ทะลักท่วมพื้นที่ อ.นาแก วังยาง เรณูนคร ศรีสงคราม และนาหว้า จ.นครพนม โดย ผวจ.นครพนม ประกาศให้ทั้ง 5 อำเภอเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ
อย่างไรก็ตาม หลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ 10 หน่วยงาน รองอธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยอีกครั้งว่า ช่วงนี้ไปจนถึงวันที่ 3 ส.ค. ปริมาณฝนน้อยลงเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ฝั่งตะวันตก และภาคตะวันออก ส่วนวันที่ 4-6 ส.ค. ให้จับตาภาคใต้และภาคเหนือ มีปริมาณฝนมากขึ้นจากอิทธิพลลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทั้งนี้โดยสถิติ พายุมักเข้าประเทศไทยช่วงเดือน ส.ค.และ ก.ย.ประมาณ 1-2 ลูก
“ได้ให้ทุกพื้นที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด อาจเกิดปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน เพราะจากพฤติกรรมฝนตกต่อเนื่องเป็นพื้นที่ เช่น จ.สกลนคร ช่วง 3 วันฝนตกมากถึง 465 มิลลิเมตร คิดเป็น 28% ของค่าเฉลี่ยฝนตกในพื้นที่ จ.สกลนคร ทั้งปี”
รองอธิบดีกรมชลประทาน บอกว่า ในปีนี้ปริมาณฝนตกทั่วประเทศมากกว่าเฉลี่ย 44% มากกว่าปี 2559 ประมาณ 45% แม้มีปริมาณฝนมากแต่จะหมดเร็วช่วงกลางเดือน ต.ค. จึงไม่เกิดอุทกภัยใหญ่เหมือนปี 2554 และเขื่อนใหญ่ 34 แห่งมีปริมาณน้ำ 2.3 หมื่นล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 45% ของความจุ ยังรับน้ำได้อีก 2.8 หมื่นล้าน ลบ.ม.
สำหรับข้อสงสัยเรื่องอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ซึ่งน้ำล้นสันเขื่อน รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สร้างมากว่า 60 ปี มีความจุ 2.66 ล้าน ลบ.ม. แต่รับน้ำเกินศักยภาพถึง 3.5 ล้าน ลบ.ม. จึงเกิดความเสียหายขึ้น ยืนยันว่าไม่ได้บิดเบือนข้อมูล
ด้าน สมภพ สุจริต ที่ปรึกษากรมชลประทาน กล่าวว่า ลักษณะความเสียหายของเขื่อนห้วยทรายขมิ้น เรียกว่าทำนบดินขาด ไม่ใช่เขื่อนแตก เขื่อนออกแบบไว้รับน้ำ 1.10 เมตร แต่ปริมาณฝนตกลงมาทำให้น้ำล้นถึง 1.30 เมตร น้ำจึงออกด้านข้าง
ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางลงพื้นที่ จ.สกลนคร เพื่อตรวจเยี่ยมการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในวันที่ 2 ส.ค.นี้ โดยมีการจัดบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ ย้อมบ้านล้างเมือง ที่เขตเทศบาลนครสกลนคร จากนั้นจะเดินทางไปเยี่ยมประชาชนในพื้นที่ชุมชนรอบหนองหานที่ประสบอุทกภัย รวมทั้งตรวจพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นที่ถูกน้ำกัดเซาะ
ทั้งนี้ กรมท่าอากาศยาน ยืนยันว่าท่าอากาศยานสกลนครพร้อมจะเปิดให้บริการตามปกติในวันที่ 1 ส.ค. โดยเมื่อวันที่ 31 ก.ค. เจ้าหน้าที่ระดมล้างรันเวย์และลานจอด หลังจากถูกน้ำท่วมขังตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค.เป็นต้นมา
ฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยภาพรวมสถานการณ์น้ำท่วม 42 จังหวัด สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 30 จังหวัด เหลือ 12 จังหวัด ประกอบด้วย จ.สกลนคร ร้อยเอ็ด เพชรบูรณ์ นครราชสีมา กาฬสินธุ์ ยโสธร มุกดาหาร พิจิตร พระนครศรีอยุธยา อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และหนองคาย
ด้าน กอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดี ปภ. กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ปภ. พบว่ามีพื้นที่ 9 ลุ่มน้ำอยู่ในเกณฑ์วิกฤตที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือ ได้แก่ 1.ห้วยน้ำก่ำ ส่งผลต่อพื้นที่ อ.นาแก และธาตุพนม จ.นครพนม 2.ห้วยน้ำยาม อ.สว่างแดนดิน วานรนิวาส และอากาศอำนวย จ.สกลนคร 3.แม่น้ำอูน อ.วาริชภูมิ พังโคน พรรณานิคม นิคมน้ำอูน จ.สกลนคร อ.ศรีสงคราม อ.นาหว้า จ.นครพนม 4.แม่น้ำสงคราม อ.บ้านม่วง สว่างแดนดิน และ อ.เมือง จ.สกลนคร อ.ศรีสงคราม ท่าอุเทน และเมือง จ.นครพนม 5.แม่น้ำชี อ.โกสุมพิสัย กันทรวิชัย เมืองมหาสารคาม อ.เชียงขวัญ ธวัชบุรี ทุ่งเขาหลวง อาจสามารถ เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด อ.เมือง พนมไพร มหาชนะชัย ค้อวัง จ.ยโสธร
6.แม่น้ำมูล อ.ป่าติ้ว คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ 7.ลำเชบาย อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี 8.แม่น้ำป่าสัก อ.หนองไผ่ บึงสามพัน วิเชียรบุรี ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี และ 9.แม่น้ำเจ้าพระยา อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้สั่งการให้สำรวจพื้นที่ทั้ง 12 จังหวัดซึ่งประสบอุทกภัย เร่งให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งการจัดตั้งโรงครัว เปิดสถานีตำรวจเป็นที่พักชั่วคราวให้กับผู้ประสบอุทกภัย และป้องกันไม่ให้กลุ่มมิจฉาชีพก่อเหตุซ้ำเติมประชาชน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับแจ้งเหตุลักษณะดังกล่าว พร้อมคาดโทษหากพื้นที่ใดปล่อยปละละเลยไม่ให้การช่วยเหลือประชาชน
ด้านสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำป่าจากภาคเหนือที่หลากท่วมพื้นที่ จ.สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่จุดวัดน้ำหน้าค่ายจิรประวัติ จ.นครสวรรค์ พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำจาก 1,300 ลบ.ม./วินาที เป็น 1,400 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนสูงขึ้น 10 เซนติเมตร จะส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ลงไปถึง จ.สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นอีก 10-15 เซนติเมตร ประชาชนริมตลิ่ง โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำใน ต.บางหลวงโดด อ.บางบาล และ ต.บ้านกระทุ่ม ต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ควรเฝ้าระวัง และติดตามประกาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิด