ปีกว่าจัดระเบียบแผงลอย กทม.รุกทีละคืบ คืนทางเท้าคนกรุง
กทม. ยอมรับว่าการที่ผู้ค้าบางแห่งยังคงฝ่าฝืนไม่ทำตามคำสั่งจัดระเบียบทางเท้า ส่วนหนึ่งเกิดจากมีผู้อยู่เบื้องหลังให้การสนับสนุน
โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ
ผ่านไป 1 สัปดาห์ที่กรุงเทพ มหานคร (กทม.) จัดระเบียบทางเท้าบริเวณท่ามหาราชถึงท่าพระจันทร์ โดยไม่อนุญาตให้ตั้งแผงขายของ แผงเช่าพระ รวมทั้งหมด 334 ราย แม้จะมีเสียงคัดค้านออกมา แต่ก็มีทั้งผู้เห็นด้วยค่อนข้างมาก โดย กทม.ได้เตรียมพื้นที่ค้าขายใหม่ไว้ให้ คือ ตลาดพระราม 2 ไม่ก็ตลาดบางบัวทอง และเตรียมจะจัดระเบียบตลาดบางลำพูเป็นพื้นที่ต่อไปในช่วงปลายเดือน พ.ย.
สุรสิงห์ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนท่าพระจันทร์ บอกว่าในอดีตคนที่อาศัยอยู่ใกล้ท่าพระจันทร์ ส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขาย และด้วยสภาพที่อยู่ริมแม่น้ำซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมสายหลัก จึงกลายเป็นแหล่งค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ามาช้านาน แต่ทุกวันนี้ย่านท่าพระจันทร์เป็นที่รู้จัก
ในเรื่องของแหล่งรวมร้านเช่าพระเครื่อง หนังสือหายาก เฟอร์นิเจอร์ขนาดเล็กมือสอง
เหตุผลที่ทำให้ท่าพระจันทร์มีชื่อเสียงด้านตลาดพระเครื่อง หลายคนเชื่อว่าจุดเริ่มต้นมาจากการที่ชุมชนท่าพระจันทร์ตั้งอยู่ใกล้วัดมหาธาตุ ที่มีบริการเช่าพระเกิดขึ้น หลังจากนั้นมีผู้คนจากที่อื่นอีกเป็นจำนวนมากเข้ามาเปิดบริการร้านเช่าพระตามๆ กันจนทำให้กลายเป็นตลาดพระที่มีชื่อเสียงถึงทุกวันนี้ ซึ่งเขายอมรับว่าเป็นหนึ่งในผู้ค้าร้านพระเครื่องที่นำพระออกมาบริการเช่าในย่านนี้มานานแล้ว การที่ กทม.เข้ามาจัดระเบียบทางเท้า เท่ากับขับไล่พวกเขา เหมือนเป็นการทำลายอาชีพลงไปด้วย
ธงชัย เจิมอารีกุล เจ้าของร้านเช่าพระเครื่อง เล่าว่า พระเครื่องคือของสะสมคู่สังคมไทยและยังเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่ามาก ซึ่งการเล่นพระเครื่องก็เหมือนการเล่นหุ้น มีการลงทุน เก็งกำไร ปั่นราคาและขายออก ทำให้มีเงินหมุนเวียนจำนวนมหาศาล ใครๆ ก็อยากมีร้านเช่าพระเป็นของตัวเองในแหล่งที่คนส่วนใหญ่รู้จัก จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ย่านท่าพระจันทร์มีร้านเช่าบูชาพระเปิดกันอย่างหนาแน่นมาก ส่วนตัวเห็นด้วยที่ กทม.จัดระเบียบ แต่ก็เห็นใจร้านค้าแผงลอย เพราะหลายคนรู้จักมักคุ้นกันทั้งนั้น
“มูลค่าของเงินที่หมุนเวียนในตลาดพระเครื่องนั้นมาก ถ้าเป็นร้านแผงลอยอย่างน้อยต้องได้วันละหลัก 1,000 บาท เพราะพระเครื่องไม่ว่าจะของแท้ของเทียม ตลับพระ อัดกรอบใส่พระ เลี่ยมพระ ทำสร้อยคอ ทุกอย่างขายได้หมด ถือว่ามีกลุ่มลูกค้าหลากหลาย ทั้งนักสะสมของเก่า เซียนพระ ทำให้ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ตลาดพระเครื่องไม่ค่อยได้รับผลกระทบ ส่วนร้านเช่าพระรายใหญ่จะมีรายได้ต่อเดือนหลักล้านบาท” ธงชัย กล่าว
อรรถวัติ ศิริสิทธิธงไชย หรือ “บอย ท่าพระจันทร์” เจ้าของร้านเช่าบูชาพระเครื่องชื่อดัง กล่าวว่า เห็นด้วยที่ กทม.จัดระเบียบแผงเช่าพระแบกะดิน เพราะส่วนตัวมองว่าการวางพระกับพื้นเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดี ไม่ถูกต้อง และเห็นแบบนี้มานานกว่า 20 ปีแล้ว
ร้านเหล่านี้จะขายพระทั้งของแท้และของปลอม แต่ส่วนใหญ่มักเป็นของปลอม ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้มาจากต่างจังหวัดเข้ามาตั้งแผงขาย ที่ผ่านมาทุกยุคทุกสมัยมีความพยายามจัดระเบียบห้ามขายมาตลอด และเคยให้ย้ายไปที่ตลาดพญาไม้ สุดท้ายก็กลับมาเหมือนเดิม
เขาเล่าว่า สมัยก่อนเวลาจะเดินจากสนามหลวงมายังท่าพระจันทร์ด้วยทางเท้าจะต้องใช้เวลาถึง 45 นาที แต่ถ้าเสี่ยงชีวิตลงไปเดินบนถนนใช้เวลาเพียง 15 นาที ร้านเช่าพระพวกนี้กีดขวางทางเท้าแน่นไปหมด ทำแบบนี้ไม่ดี ทำให้ชีวิตคนอื่นต้องเสี่ยง
บอย กล่าวอีกว่า เหตุผลที่ทำให้ร้านเช่าพระแบกะดินเหล่านี้ยังขายได้ เพราะคนร้อยละ 99.99% มักคิดว่าตัวเองเก่งกว่าคนขาย จึงอยากได้พระเขาคิดว่าเช่าได้ในราคา 1,000 บาท แล้วจะเอาไปขายต่อได้ 3 ล้านบาท ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ใช่ อย่าคิดว่าคนขายโง่ เพราะคนขายพระแบกะดินไปซื้อพระปลอมมาจากโรงงานผลิตนำมาขายต่อ แล้วจะเป็นพระจริงได้อย่างไร ต้นทุนองค์ละ 5-10 บาท แต่พอเอามาขายได้องค์ละ 1,000 บาท
เมื่อความไม่เป็นระเบียบของร้านเช่าพระเครื่องแผงลอยแบกะดินเพิ่มจำนวนมากขึ้น มีการตั้งวางร้านค้ากีดขวางทางเท้า ทำให้ประชาชนต้องหลบเลี่ยงลงไปเดินบนถนน หลายครั้งที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกรถยนต์เฉี่ยวชน หรือแม้กระทั่งความไร้ระเบียบทิ้งขยะไม่เป็นที่
สำหรับการจัดระเบียบร้านค้าหาบเร่แผงลอยทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เริ่มในยุค คสช.ร่วมปีกว่า ทาง กทม.ดำเนินการไปแล้ว 28 จุด ใน 16 เขต รวมจำนวนผู้ค้าร้านแผงลอยที่ต้องย้ายออกกว่า 1.2 หมื่นราย จุดสำคัญ เช่น ริมคลองหลอด ถนนรามคำแหง ถนนข้าวสาร หน้าโรงหนังเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์รัชโยธิน ทางเท้าสยามสแควร์ หน้าบ้านมนังคศิลา สะพานเหล็ก
จุดที่ กทม.ต้องใช้ความพยายามเจรจามากจนกระทั่งมีการต่อรองให้กำหนดเวลาขายได้เท่านั้น คือ ตลาดโบ๊เบ๊ เลียบคลองผดุงกรุงเกษม โดยกำหนดเวลาขายใหม่แบ่งเป็น 2 รอบ คือ รอบเช้าและรอบค่ำ รวมถึงถนนสีลม กทม.กำหนดห้ามตั้งร้านขายสินค้าในเวลากลางวัน แต่อนุญาตให้ขายได้ในเวลากลางคืนตั้งแต่เวลา 19.00-02.00 น. ในบริเวณนี้เพียงแค่เริ่มต้นเจรจาก็ถูกกลุ่มผู้ค้ารวมตัวต่อต้าน ยิ่งไปกว่านั้นในทางการลงพื้นที่สำรวจของ กทม. พบว่ามีกลุ่มมาเฟียเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐให้การสนับสนุน ยักคิ้วหลิ่วตาร่วมกับผู้ค้าฝ่าฝืนกฎหมาย
อีกที่คือ รอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีร้านค้ากว่า 200 ร้าน กีดขวางทางเดิน ตั้งร้านกินพื้นที่ป้ายรถประจำทาง ซึ่งแต่ละวันมีผู้คนสัญจรบริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ ไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน แม้ว่าทาง กทม.จะอนุญาตให้ขายได้ 2 ช่วง แต่ปรากฏว่ายังมีผู้ค้าฝ่าฝืนตั้งร้านนอกเหนือพื้นที่จุดผ่อนผันเป็นจำนวนมาก
วัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. ยอมรับว่าการที่ผู้ค้าบางแห่งยังคงฝ่าฝืนไม่ทำตามคำสั่งจัดระเบียบทางเท้า ส่วนหนึ่งเกิดจากมีผู้อยู่เบื้องหลังให้การสนับสนุน พยายามหลบเลี่ยงการกวดขันของเจ้าหน้าที่ ซึ่ง กทม.ไม่สามารถเข้าไปดูแลได้ทั่วถึง จึงเป็นหน้าที่ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันรักษาผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ให้ได้
ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ กทม.ตั้งเป้า จะจัดระเบียบคืนทางเท้าให้ได้ ถือเป็นผลงานที่ทำให้กรุงเทพฯ ดูสะอาดเป็นระเบียบ และบรรเทาปัญหารถติดในบางจุดได้