ย้อนที่มา "หอชมเมืองกรุงเทพฯ" องค์กรเอกชนลงทุนก่อสร้างบนที่ดินราชพัสดุ
"หอชมเมืองกรุงเทพฯ" จะลงทุนก่อสร้างโดย "มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร" ที่มีงบประมาณจากเงินกู้และเงินบริจาคจากบริษัทเอกชน
"หอชมเมืองกรุงเทพฯ" จะลงทุนก่อสร้างโดย "มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร" ที่มีงบประมาณจากเงินกู้และเงินบริจาคจากบริษัทเอกชน
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 27 มิ.ย. 2560 ได้อนุมัติให้ยกเว้นโครงการพัฒนาที่ดินราชพัสดุ เลขที่ทะเบียน กท.3275 เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เพื่อก่อสร้าง "หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร" สามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชนได้ โดยไม่ใช้วิธีประมูลตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ
โครงการหอชมเมืองกรุงเทพเกิดขึ้นสืบเนื่องจาก คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2559 ได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร บนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลข กท.3275 เขตคลองสาน กรุงเทพฯ โดยพื้นที่โครงการนี้จะตั้งอยู่ในซอยเจริญนคร 7 ถนนเจริญนคร
โครงการดังกล่าวจะดำเนินการก่อสร้างโดย "มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร" ซึ่งเป็น "องค์กรเอกชน" ได้ประเมินงบลงทุนไว้ที่ 4,621.47 ล้านบาท เป็นเงินตั้งต้นของมูลนิธิ 5 แสนบาท เงินกู้จากสถาบันการเงิน 2,500 ล้านบาท เงินบริจาคจากบริษัทเอกชนชั้นนำ 2,100 ล้านบาท
นอกจากนี้ได้มีประมาณการรายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชม 1,054 ล้านบาท/ปี ประมาณการราคาตั๋วที่ 750 บาท/คน คนไทยลด 50% มีค่าใช้จ่ายปีละ 892 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ยปีละ 38 ล้านบาท รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายนำไปบริจาคองค์กรสาธารณกุศล
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการนี้มีมูลค่าเกินกว่า 1,000 ล้านบาท และเป็นการนำที่ดินของรัฐเข้าไปร่วมดำเนินการโดยตีราคาค่าเช่าระยะ 30 ปีเป็นเงินร่วม ลงทุนกับเอกชนจำเป็นต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556
พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า "สาเหตุที่โครงการนี้ไม่ให้มีการเปิดประมูล เนื่องจากจะทำให้มีความล่าช้าและอาจส่งผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ของโครงการ รวมทั้งอาจไม่มีเอกชนรายใดสนใจดำเนินโครงการ"
สำหรับรายละเอียดเบื้องต้นของหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร จะมีความสูง 459 เมตร มีวัตถุประสงค์การสร้างและบริหารถาวรวัตถุที่มีเอกลักษณ์ของกรุงเทพฯ เพื่อเป็นแลนด์มาร์คดึงการท่องเที่ยว
ในส่วนของชั้นบนสุดของหอชมเมืองฯ จะเป็นโถงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชแห่งมหาจักรีพระบรมราชวงศ์เพื่อประดิษฐานพระบรมรูปของบูรพมหากษัตริยาธิราช ประดิษฐานรูปหล่อพระคลังมหาสมบัติ พร้อมแสดงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเป็นการเผยแพร่ศาสตร์พระราชาทุกๆ ด้าน