posttoday

ใช้3คลองกทม.ร่วมผันน้ำลงทะเล

20 ตุลาคม 2554

นายกฯสั่งเร่งผันน้ำผ่านฝั่งตะวันออก-3 คลองในกทม.ลงสู่ทะเล เสริมการเปิดประตูระบายน้ำ ยืนยันไม่ทำให้น้ำเอ่อท่วม พร้อมตั้งเครื่องสูบน้ำรองรับ

นายกฯสั่งเร่งผันน้ำผ่านฝั่งตะวันออก-3 คลองในกทม.ลงสู่ทะเล เสริมการเปิดประตูระบายน้ำ ยืนยันไม่ทำให้น้ำเอ่อท่วม พร้อมตั้งเครื่องสูบน้ำรองรับ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างการประชุมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ โดยระบุว่า แนวทางในการแก้ไขปัญหาขณะนี้ คือการเร่งผันน้ำทางฝั่งตะวันออกให้มากที่สุดเพื่อให้น้ำระบายออกลงสู่ทะเล และในส่วนของคันกั้นของคลองทั้ง 7 คลองที่รังสิต ขณะนี้ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว แต่จะมีการสั่งการให้ทางทหารช่างเข้าไปสำรวจเพื่อให้เกิดความแน่ใจอีกครั้ง

นอกจากนี้ จะต้องมีการเปิดประตูระบายน้ำทุกจุดและควบคุมการปิด-เปิด เพื่อให้น้ำได้ไหลออกทางตะวันออกเฉียงเหนือ และน้ำในส่วนของคลองต่างๆ จะได้ระบายไปตามธรรมชาติ ซึ่งการทำพนังกั้นน้ำรอบกทม.ขณะนี้เป็นเพียงการช่วยชะลอไม่ให้น้ำกระชากลงมาแรง แต่คงไม่สามารถหยุดน้ำได้

"เราต้องใช้วิธีการ ปิด-เปิดประตูระบายน้ำเป็นช่วงๆ เพื่อให้น้ำออกทางฝั่งตะวันออก ซึ่งถ้าน้ำได้ระบายไปตามแผนที่จะระบายตามแนวคันกั้นน้ำ น้ำจะค่อยๆ ไหลลงไปอย่างมีระบบ แต่หากการกั้นไม่เป็นผล จะทำให้ทลายเร็วขึ้น" นายกรัฐมนตรีกล่าว

สำหรับแม่น้ำท่าจีนในขณะนี้มวลน้ำทั้งหมดยังไปไม่ถึง เพราะบริเวณฝั่งแม่น้ำท่าจีนเป็นพื้นที่สูง ดังนั้นต้องเร่งผลักดันน้ำเพื่อระบายน้ำออกโดยเร็ว ส่วนคลอง 6 วา ที่กทม.รับผิดชอบ ได้มอบให้ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม ลงไปตรวจสอบในพื้นที่ และดูว่าจะมีส่วนช่วยในการเสริมพนังกั้นน้ำอย่างไรบ้าง

เร่งผันน้ำผ่านคลองในกทม.

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ในส่วนของกทม. ขณะนี้ยืนยันว่ายังสามารถควบคุมสถานการณ์ รวมคลองประปาก็ยังควบคุมได้อยู่ แต่เพื่อความสบายใจ จึงอยากแนะนำให้ประชาชนยกสิ่งของที่มีค่าไว้บนที่สูงเหนือระดับน้ำประมาณ 1 เมตร รวมถึงการเคลื่อนย้ายรถยนต์ สำหรับบ้านที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ ควรไปหาที่จอดในพื้นที่ที่ปลอดภัย ทั้งนี้อยากให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกตกใจ เพราะจะทำให้การบริหารจัดการยากมาก

ทั้งนี้ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนในส่วนของคลองต่างๆ ที่จะให้น้ำไหลผ่านไปได้สะดวก ส่วนพื้นที่ที่น้ำท่วมขังในขณะนี้ก็จะเร่งระบายน้ำออกจากให้พื้นที่ แต่คันกั้นน้ำที่ได้ทำไว้บางครั้งอาจจะพยุงน้ำไม่อยู่ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นคันดินซึ่งอยู่ได้ไม่นาน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือในอนาคตต้องมีการวางระบบแผนบริหารจัดการน้ำอย่างถาวร

สั่งจนท.เฝ้าระวังระดับน้ำไม่ให้ล้น-เตรียมเครื่องสูบน้ำระบาย

อย่างไรก็ตามนายกฯยอมรับว่า บางพื้นที่อาจจะมีน้ำท่วมขังบ้างเพราะเกิดจากการทรุดตัวของพื้นดิน ซึ่งอาจจะทำให้น้ำล้นได้ ซึ่งจะเร่งสูบน้ำเพื่อระบายออกโดยเร็ว ทั้งนี้ได้มีการประสานกับกรุงเทพมหานคร(กทม.)ไปแล้วว่าในพื้นที่ใดที่มีการผันน้ำเข้าไปก็พร้อมเปิดประตูระบายน้ำ พร้อมกันนี้เพื่อสร้างความมั่นใจในส่วนของประตูระบายน้ำทุกจุด จะมีการส่งคณะกรรมการส่วนกลางของศปภ. สำรวจประตูระบายน้ำทุกจุดเพื่อให้เกิดความมั่นใจ และสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปเฝ้าตามแนวคันกั้นน้ำ แล้วรายงานทุก 2 ชั่วโมง

ด้านนายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สำหรับทิศทางน้ำที่ต้องการให้ออกทางฝั่งตะวันออก โดยจุดเริ่มต้นตั้งแต่คลองระพีพัฒน์ไปยังพื้นที่ของคลองรังสิตซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่แก้มลิง ทั้งนี้จะพยายามลดการกระจายพื้นที่ที่น้ำท่วม และจะเปิดแนวคลองตลอดคลอง 4-12 เพื่อให้น้ำลงไปด้านล่าง และเป็นการควบคุมน้ำไปในทิศทางที่ต้องการ

เผยใช้คลองพระโขนง-แสนแสบ-ประเวศระบายน้ำ

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กทม.เริ่มระบายน้ำผ่านคลองหลัก 3 คลอง ได้แก่ พระโขนง ประเวศ และ แสนแสบ โดยจะระบายเป็นจังหวะ โดยใช้วิธีเปิดปิดประตูน้ำ ตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งศปภ.มั่นใจว่า กทม.จะปลอดภัยจากน้ำท่วม 90% แต่ยังมีส่วนที่ต้องเฝ้าระวังเผื่อเหลือเผื่อขาดอีกประมาณ 10% เพราะเท่าที่ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ตรวจดูสถานการณ์ในช่วงเช้าวันที่ 20 ต.ค.ระดับน้ำรอบ กทม.ยังทรงตัว

"ผมขอปฏิเสธว่า น้ำท่วมครั้งนี้ไม่เหมือนสึนามิน้ำจืด แต่ยอมรับว่า กังวลเรื่องการระบายมวลน้ำที่มีมหาศาลลงทะเล ว่า จะใช้วิธีการอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมา กทม.ให้ความร่วมมือกับ ศปภ.เป็นอย่างดี เวลานี้จึงอยู่ระหว่างทำคันกั้นน้ำใหม่ที่มีระยะทางยาว 26 กิโลเมตร นอกจากนี้ อีกหน่วยงานที่ต้องชื่นชมคือ กองทัพที่มีความชำนาญในการแก้ปัญหาน้ำท่วม และเข้ามาช่วยงานรัฐบาลในครั้งนี้ได้มาก” พล.ต.อ.ประชา กล่าว