posttoday

"สุรพล"ชี้การเมืองก่อนรัฐประหารก็เผด็จการไม่ต่างกัน

27 มิถุนายน 2557

"สุรพล นิติไกรพจน์"ชี้การเมืองยุคก่อนรัฐประหารก็เผด็จการไม่ต่างกัน เพียงแต่คนใช้อำนาจเบ็ดเสร็จไม่ได้ใส่เครื่องแบบ

"สุรพล นิติไกรพจน์"ชี้การเมืองยุคก่อนรัฐประหารก็เผด็จการไม่ต่างกัน เพียงแต่คนใช้อำนาจเบ็ดเสร็จไม่ได้ใส่เครื่องแบบ

นายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนา "สู่ 10 ทศวรรษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ณ ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ ตึกโดม ท่าพระจันทร์ ระบุว่า คงปฏิเสธไม่ได้ว่าประวัติศาสตร์การก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความผูกพันกับประชาธิปไตย ระบอบการเมืองการปกครองของประเทศ เป็นมหาวิทยาลัยของประชาธิปไตย

นายสุรพล กล่าวว่า มีคำถามซึ่งเป็นคำถามของยุคสมัยว่าจะตีความธรรมศาสตร์ กับประชาธิปไตย และสิทธิเสรีภาพอย่างไร หลายคนบอกว่าธรรมศาสตร์เปลีี่ยนไป แต่ที่จริงการเมืองการปกครองเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก ประวัติศาสตร์ในช่วง 60 ปีแรกของธรรมศาสตร์ เป็นประวัติศาสตร์ของการสถาปนาระบอบการปกครองแบบใหม่ เป็นประวัติศาสตร์ของการเรียกร้องต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเผด็จการทหาร

"หลังจากช่วง 60 ปี ธรรมศาสตร์ไม่ได้เปลี่ยนแต่ว่าการเมืิองการปกครองของไทยเปลี่ยนไปเดิมค่อนข้างมาก ถ้าจะให้ชัดขึ้นคือ 17 ปีมานี้ นับจากมีรัฐธรรมนูญ 2540 เผด็จการทหารเกือบจะไม่มีที่ยืนหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ประชาธิปไตยในความหมายที่เราเคยพูดกันเดิม ก็คือการแสดงออกซึ่งอำนาจการปกครองตัวเองของประชาชน และประชาชนมีอำนาจควบคุมตรวจสอบผู้ใช้อำนาจได้"สุรพล กล่าว

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ต่างออกไปจากเดิม เราเผชิญกับการมีอำนาจเบ็ดเสร็จของคนกลุ่มใหม่ที่ไม่ใช่ทหาร นักการเมืองพลเรือนกำลังพยายามเข้ามามีอำนาจเบ็ดเสร็จภายใต้กระบวนการประชาธิปไตย

สุรพลกล่าวต่อไปว่า มีการตั้งคำถามว่าธรรมศาสตร์มีท่าทีอย่างไรกับการรัฐประหาร ธรรมศาสตร์ละทิ้งอุดมการณ์เดิมซึ่งเคยต่อสู้กับการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ จำกัดริดรอนสิทธิเสรีภาพอย่างที่เคยเป็นในอดีตหรือไม่ ซึ่งในมุมมองของตน มองว่าธรรมศาสตร์ปรับตัว เรียนรู้และตามการเมืองไทยได้

"การเมืองไทยทุกวันนี้อาจจะไม่ใช่เรื่ิองอำนาจเบ็ดเสร็จของทหาร ผมไม่ได้พูดเรื่อง 1 เดือนที่ผ่านมานะครับ ผมพูดถึง 10 ปีสุดท้าย อาจจะไม่ใช่เผด็จการทหาร แต่เป็นเผด็จการของนักการเมืองพลเรือนที่ธรรมศาสตร์เผชิญหน้ากับมัน คำถามก็คือเรายังคงนึกถึงภาพเดิม ว่าธรรมศาสตร์จะต้องเรียกร้องประชาธิปไตยในเชิงสัญลักษณ์ ต้องเลือกตั้ง หรือเราต้องการเนื้อหาที่แท้จริงของมัน ว่าระบบการเมืองที่พูดกันทุกวันนี้มีการเลือกตั้งเป็นพิธีการ ที่สำคัญจริงๆก็คือการควบคุมตรวจสอบคนที่ใช้อำนาจที่เราเลือกไป ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ"สุรพล กล่าว

อดีตอธิการบดีมธ. กล่าวว่า ธรรมศาสตร์ตามทันและรู้ว่ายังคงต่อสู้กับการใช้อำนาจที่ควบคุมตรวจสอบไม่ได้ เรายังคงผูกพันธ์กับประชาธิปไตยในเชิงความหมายมากกว่าสัญลักษณ์ และถ้าถามต่อว่ารัฐประหารครั้งนี้ถูกต้องแล้วหรือ ก็คงไม่มีใครบอกว่าถูกต้องและเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในทางการเมือง แต่ถ้าถามว่าสถานการณ์ก่อนหน้านี้เป็นอย่างไร ก็เห็นว่าไม่ได้เป็นประชาธิปไตย สถานการณ์ก่อนหน้านี้เลวร้ายพอๆกัน เพราะเป็นการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของคนกลุ่มหนึ่งเพียงแต่ไม่ได้ใส่เครื่องแบบเท่านั้น

"ผมไม่ได้ได้ยอมรับว่าการรัฐประหารดีหรือถูกต้อง ธรรมศาสตร์ก็ไม่ได้คิดแบบนั้น แต่กำลังคาดหวังอนาคตข้างหน้าในปี 3เดือน หรือ 1 ปี เราจะไปสู่การปกครองซึ่งประชาชนสามารถควบคุมตรวจสอบผู้ใช้อำนาจได้ ซึ่งเป็นอุดมการณ์ของธรรมศาสตร์ยิ่งไปกว่าการอยู่กับการเลือกตั้ง อยู่กับสิ่งที่เราเห็นในเชิงสัญลักษณ์ว่ามีการเลือกตั้งแล้วก็มีประชาธิปไตย"สุรพล กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากถามว่าธรรมศาสตร์ไม่ได้ชอบการเลือกตั้งแล้วหรือ ตอบว่าธรรมศาสตร์ยืนอยู่บนหลักการที่คิดว่าคนที่ได้อำนาจปกครองนั้นจะต้องถูกควบคุมตรวจสอบได้ ถ้าไม่ได้ ก็ไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือพลเรือนก็ตาม

"ถ้าเราบอกว่าสถานการณ์ปัจจุบันมันน่าอึดอัด มีคนใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ผมก็ยืนยันว่ามันไม่ค่อยต่างจากเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว หรือ 10 ปีที่แล้วเท่าใดนัก มันเปลี่ยนแค่เพียงรูปแบบเท่านั้น เรามีความหวังว่าสังคมไทยจะไปข้างหน้าจะดีขึ้น อุดมการณ์อย่างเดียวที่มหาวิทยาลัยนี้ตั้งเมื่อ80ปีที่แล้ว เราคิดว่าประชาชนควรมีส่วนร่วมและสามารถควบคุมผู้ใช้อำนาจองค์กรได้ ไม่ว่าผู้ใช้อำนาจนั้นจะเป็นใครก็ตาม เรากังลังคิดว่าจะมีอะไรที่ใหม่ที่จะเป็นประโยชน์ สอดคล้องกับแนวความคิดที่บอกว่าใครก็ตามที่เข้ามามีอำนาจจะต้องถูกควบคุมตรวจสอบได้ในอนาคต"สุรพล กล่าว