ผ่าร่างพรบ.ยุทธศาสตร์ชาติ คุม 20 ปีผูกพันทุกรัฐบาล
การจัดทำและการดำเนินโยบายของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี รวมทั้งองค์กรและหน่วยงานของรัฐ ต้องอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์
โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์
การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในวันที่ 16 ก.พ. มีวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการบริหารราชการแผ่นดิน สปท.เป็นผู้เสนอ ซึ่งถ้าที่ประชุม สปท.เห็นชอบ จะดำเนินการส่งมอบให้คณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป
ร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ที่ สปท.กำลังจะพิจารณานั้นถือว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะมาตรา 263 ของร่างรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า “ให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีกฎหมายตามมาตรา 61 (พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ) ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้”
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จำนวน 61 มาตรา โดยได้กำหนดนิยามของคำว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ”มีความหมายว่า “แม่บทหลักที่เป็นกรอบกำหนดนโยบาย และแผนต่างๆ สำหรับการพัฒนาประเทศ กำหนดทิศทาง เป้าหมาย หรือแนวทางการพัฒนาประเทศ การบริหารราชการแผ่นดิน การจัดสรรงบประมาณ การจัดสรรทรัพยากร และเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาของภาคเอกชนและภาคประชาชน...
...เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน รวมทั้งมีอธิปไตยและเข้มแข็งในประชาคมโลก อย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญครอบคลุมด้านความมั่นคงทางทหาร การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เศรษฐกิจ การเกษตร การอุตสาหกรรม การบริการ การเงิน การคลัง และงบประมาณ พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสาธารณสุข การคมนาคมและเทคโนโลยีการสื่อสาร สังคม ศิลปะ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม”
ทั้งนี้ บัญญัติให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 25 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 22 คน
โดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวจะมี 12 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านความมั่นคงทางทหาร 2.ด้านการเมือง 3.ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 4.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 5.ด้านการปกครองท้องถิ่น 6.ด้านการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ 7.ด้านเศรษฐกิจและงบประมาณ 8.ด้านพลังงานทรัพยากรธรรมชาติ 9.ด้านสาธารณสุข 10.ด้านการคมนาคมและเทคโนโลยีการสื่อสาร 11.ด้านสังคม วัฒนธรรม และ 12.ด้านวิทยาศาสตร์
เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการฯ ให้นำบัญชีอัตราของประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี หรือประธานศาลฎีกา กรณีใดกรณีหนึ่งมาบังคับใช้ ส่วนกรรมการฯ ให้ได้รับค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นในการปฏิบัติหน้าที่ตามกำหนดในพระราชกฤษฎีกาภายใน 60 วัน
การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติต้องพิจารณาผลประโยชน์แห่งชาติ และให้ประธานกรรมการฯ เสนอยุทธศาสตร์ชาติต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 20 ปี และอาจพิจารณาทบทวนทุก 5 ปี หรือเมื่อมีสถานการณ์กระทบต่อวัตถุประสงค์หลักตามยุทธศาสตร์ชาติอย่างเป็นนัยสำคัญ
นอกจากนี้ การจัดทำและการดำเนินโยบายของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี รวมทั้งองค์กรและหน่วยงานของรัฐ ต้องอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ อีกทั้งยังมีผลผูกพันรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีทุกสมัย แม้จะมิใช่รัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีที่ได้ให้ความเห็นชอบหรือถือว่าได้ให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์ก็ตาม
ขณะเดียวกัน ร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ได้ให้อำนาจคณะกรรมการยุทธศาสตร์สำหรับการติดตาม ตรวจสอบ และการประเมินผลด้วย โดยบัญญัติไว้เป็น 4 แนวทาง ประกอบด้วย 1.กรณีปรากฏข้อเท็จจริงว่าไม่ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ แต่ยังไม่เกิดความเสียหาย ให้คณะกรรมการฯ แจ้งให้หน่วยงานปฏิบัติตามให้ถูกต้อง 2.กรณีพบว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งทำให้ประเทศชาติเกิดความเสียหายร้ายแรง แต่ไม่ปรากฏว่ามีการทุจริต ให้เสนอวุฒิสภาเพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ
3.กรณีพบว่าผู้ใดหรือองค์กรใดของหน่วยงานรัฐไม่ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งทำให้ประเทศชาติเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง แต่ไม่ปรากฏการทุจริต ให้เสนอคณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป และ 4.กรณีไม่ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติส่อไปในทางทุจริต หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในบทเฉพาะกาลของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีจุดที่น่าสนใจ คือ ในวาระเริ่มแรกของการบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติให้คณะกรรมการจำนวน 25 คน ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี ประธาน สนช. ประธาน สปท. เป็นกรรมการโดยตำแหนง และบุคคลซึ่ง สนช.ดำเนินการสรรหาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 22 คน โดยเมื่อพ้นกำหนด 4 ปี นับแต่วันที่คณะกรรมการฯ ชุดแรกได้รับการแต่งตั้ง ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 11 คนพ้นจากตำแหน่งโดยวิธีจับสลาก และให้ดำเนินการสรรหากรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างตาม พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ
“คำนูณ สิทธิสมาน” โฆษก สปท. อธิบายว่า คณะกรรมการฯ ไม่ได้มีลักษณะเดียวกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ที่เคยบรรจุอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ เพราะคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีอายุอยู่ถาวรตลอดไปตราบเท่าที่ พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติยังใช้บังคับอยู่ หรือดำรงตำแหน่งครบวาระ ผิดกับ คปป.มีอายุอยู่ชั่วคราวเพียง 5 ปีแล้วสิ้นสภาพไปตามรัฐธรรมนูญ อาจต่ออายุได้เพียงครั้งเดียวไม่เกิน 5 ปี โดยมติรัฐสภาหรือผลการลงประชามติ
“คปป.สามารถใช้อำนาจแทนคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาในยามวิกฤตร้ายแรงภายใต้เงื่อนไข 5 ประการภายในระยะเวลา 5 ปีแรก ต่ออายุไม่ได้ แต่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติไม่มีอำนาจเช่นว่านั้น” โฆษก สปท. ระบุ