posttoday

"ทักษิณ"ชี้รธน.ไทยก้าวไม่ทันโลก

10 มีนาคม 2559

'อดีตนายกฯ ทักษิณ บรรยายเวทีนครนิวยอร์ก ของสหรัฐ เชื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นำไทย ก้าวไม่ทันโลกในศตวรรษที่ 21

'อดีตนายกฯ ทักษิณ บรรยายเวทีนครนิวยอร์ก ของสหรัฐ  เชื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นำไทย ก้าวไม่ทันโลกในศตวรรษที่ 21

นายทักษิณ  ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวบรรยาย ที่งาน “สนทนาเป็นการส่วนตัวกับทักษิณ ชินวัตร” (Thaksin Shinawatra in Private Discussion) ซึ่งจัดโดยสถาบันนโยบายโลก (World Policy Institute) ที่นครนิวยอร์ก ของสหรัฐฯ ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดของไทยจะไม่สามารถวางโครงสร้างพื้นฐานในเชิงสถาบัน ที่จะส่งเสริมให้มีการลงทุน การผลิต และความร่วมมือระหว่างไทยกับต่างประเทศได้ เนื่องจากอาจเปิดช่องให้มีการแทรกแซงอำนาจฝ่ายบริหาร และ นิติบัญญัติ โดยอำนาจพิเศษของวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง และฝ่ายตุลาการ

“เมื่อพิจารณาถึงเค้าโครงของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มันคงเป็นไปได้ยากที่จะได้มาซึ่งรัฐบาลที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและความท้าทายในศตวรษที่ 21 ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ได้กำหนดให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 200 คนซึ่งจะถูกแต่งตั้งโดย “ผู้เชี่ยวชาญ” วุฒิสภาจะมีอำนาจมากยิ่งขึ้นในการยับยั้งการออกพระราชบัญญัติต่างๆ ศาลรัฐธรรมนูญจะมีขอบเขตอำนาจในการตัดสินคดีที่มากยิ่งขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจในการไต่สวนและวินิจฉัยคดี เมื่อมีบุคคลใดก็ตามได้ดำเนินการร้องเรียน โดยไม่ได้มีเงื่อนไขที่ว่ากรณีดังกล่าวต้องเป็นข้อพิพาทจริงที่องค์กรทางการเมืองหรือศาลอื่นได้ดำเนินการยื่นเรื่องแก่ศาลรัฐธรรมนูญ”  นายทักษิณ กล่าว

นายทักษิณ ระบุอีกว่า หากพวกเราคิดว่าหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย คือ รากฐานเพื่อการสร้างความเจริญเติบโตและเสถียรภาพของประเทศ หัวข้อสำคัญที่พวกเราต้องพิจารณาคงเป็นเรื่องที่ว่า อำนาจตุลาการจะล่วงล้ำอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารหรือไม่ เพื่อให้รัฐบาลสามารถบริหารเศรษฐกิจของประเทศในยุคที่เศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัว ผมหวังว่าคงจะไม่มีการใช้อำนาจตุลาการที่เกินกว่าความจำเป็นอีกในอนาคต กรณีศึกษาในประเทศต่างๆ ได้แสดงให้พวกเราเห็นว่า การใช้อำนาจพิจารณาทบทวนโดยศาล โดยไม่ได้มีการถ่วงดุลและตรวจสอบ อาจกลายเป็นการใช้อำนาจอย่างไม่ เหมาะสมและเป็น “ยุทธวิธีเตะถ่วงงาน” จนสุดท้ายก่อให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ


อดีตนายกรัฐมนตรีแสดงวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจโลกในศตวรรษที่ 21 ว่าควรให้ความสำคัญแก่การขยายความร่วมมือเพื่อสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกับประเทศคู่ค้าต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในเอเชีย ควรส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความมั่งคั่งให้แก่ประชาชนแบบระหว่างประเทศและระหว่างภูมิภาค เพราะความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วทางด้านเทคโนโลยีการผลิตแบบอุตสาหกรรมไปสู่ “สภาวะปกติใหม่ของโลกปัจจุบัน” หรือ “New Normal” จากรูปแบบ “การผลิตสินค้าในประเทศเดียว” สู่ “ระบบเครือข่ายการออกแบบ การสรรหาปัจจัยการผลิต และการผลิตที่มีลักษณะข้ามชาติ” และอีคอมเมิร์ซที่เติบโตอย่างมากโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย-โอเชียเนีย

“ประเทศไทยคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงความท้าทายของโลกในศตวรรษที่ 21 ได้ ตลอดช่วงกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยได้ถูกเชื่อมโยงเข้ากับเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง สัดส่วนมูลค่าการส่งออกต่อรายได้ประชาชาติของประเทศไทยและมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติในประเทศไทยได้แสดงให้พวกเราได้เห็นอย่างชัดเจนถึงทิศทางของเศรษฐกิจไทยที่เชื่อมโยงอย่างแน่นแฟ้นเข้ากับชะตากรรมของเศรษฐกิจโลก” -- ดร.ทักษิณ เชื่อมโยงประเด็นสถานการณ์ไทย ที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับนานาชาติ

ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีน กับ สหรัฐฯ ที่มักถูกมองแบบเหมารวมว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน  อดีตนายกฯไทยมองว่าการปกครองที่แตกต่างกัน ซึ่งนำไปสู่นโยบายเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศที่แม้จะเป็นคนละขั้ว แต่เป็นกระบวนการคู่ขนาน ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่ง จะสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมให้แก่ทั้งภูมิภาคเอเชียและโลกตะวันตก

อย่างไรก็ตามการเดินทางมาบรรยายของนายทักษิณในครั้งนี้ มีทั้งกลุ่มเสื้อแดงที่สนับสนุน และกลุ่มกปปส.นิวยอร์กที่มาคัดค้าน

\"ทักษิณ\"ชี้รธน.ไทยก้าวไม่ทันโลก กลุ่มคนเสื้อแดงที่มาให้กำลังใจ

\"ทักษิณ\"ชี้รธน.ไทยก้าวไม่ทันโลก กลุ่มกปปส.นิวยอร์คที่มาต่อต้าน