สนช.รับหลักการกม.คอมพ์ ติงโทษปรับฐานก่อความรำคาญแรงเกิน
ที่ประชุมสนช.รับหลักการร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ติงโทษปรับฐานก่อความรำคาญแรงเกินไป
ที่ประชุมสนช.รับหลักการร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ติงโทษปรับฐานก่อความรำคาญแรงเกินไป
เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติ 160 คะแนน รับหลักการในวาระที่ 1 ของร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดยที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 15 คน มีกรอบระยะเวลาในการทำงาน 60 วันก่อนส่งกลับมาให้ที่ประชุมสนช.พิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้ง
นายอุตตม สาวนายน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ชี้แจงหลักการและเหตุผล ว่า เนื่องจากพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มีบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมต่อการป้องกัน และปราบปราม การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ปัจจุบัน ซึ่งมีรูปแบบการกระทำความผิดที่มีความซับซ้อนมากขึ้นตามพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และโดยที่มีการจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ สังคม ซึ่งมีภารกิจในการกำหนดมาตรฐาน และมาตรการ ในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมทั้งการเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ด้านความมั่นคงและปลอดภัย ของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ โดยเป็นการปรับปรุงบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับผู้รักษาการตามกฎหมาย กำหนดฐานความผิดขึ้นใหม่ และแก้ไขฐานความผิดเดิม รวมทั้งกำหนดบทลงโทษของความผิดใหม่
ทั้งนี้ สมาชิกสนช.ได้สลับกันอภิปราย นายโกศล เพ็ชร์สุวรรณ์ สมาชิกสนช. อภิปรายตั้งข้อสังเกตว่า มาตรา 15 ที่ให้รัฐมนตรีออกประกาศขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลออกจากระบบคอมพิวเตอร์ หากผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่า ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรี ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษนั้น เห็นว่าควรเป็นกระบวนการพิจารณาทางศาลเท่านั้น เพื่อความรอบคอบ และเป็นสากล เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ต้องมีความน่าเชื่อถือ
ขณะที่ นายวรพล โสคติยานุรักษ์ สมาชิกสนช. อภิปรายในส่วนของ มาตรา 4 ระบุว่า ที่มีการเพิ่มโทษกรณีผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเลคทรอนิคส์แก่บุคคลอื่น อันเป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาทนั้น ต้องมีลักษณะหรือพฤติกรรมอย่างไร การเสนอโทษปรับไว้สูงมีหลักการแนวคิดอย่างไร เพราะมีข้อสังเกตว่า น่าจะเป็นการกระทำให้เกิดความรำคาญเท่านั้น ไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายมาก และกังวลว่าจะกระทบสิทธิเสรีภาพมากไปหรือไม่ บางครั้งจะตีความอย่างไรในการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ เพราะระดับความรำคาญของคนไม่เท่ากัน
นายอุตตม กล่าวว่า สำหรับประเด็นในมาตรา 4 ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนว่าการกระทำลักษณะใดที่เข้าข่ายกระทำการก่อความรำคาญต่อไป