"มีชัย" ชี้ศาลถกมาตรา61 ไม่กระทบประชามติ

02 มิถุนายน 2559

ประธานกรธ.เผยผู้ตรวจส่งศาลตีความมาตรา61ของพรบ.ประชามติ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำประชามติ

ประธานกรธ.เผยผู้ตรวจส่งศาลตีความมาตรา61ของพรบ.ประชามติ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำประชามติ

ที่รัฐสภา นายมีชัย  ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)กล่าวถึงกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 วรรคสอง ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความตามมาตรา 45 แห่งรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ว่า อย่ากังวล ต้องรอฟังศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนจะต้องการเลื่อนการทำประชามติออกไปจากเดิมวันที่ 7 ส.ค.หรือไม่นั้น  ขณะนี้ กกต. ยังต้องจัดให้มีการทำประชามติภายใน 120 วันตามรัฐธรรม(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557  กำหนดไว้ ซึ่งวันที่ 7 ส.ค.ก็ก่อนกำหนดเพียงไม่กี่วัน ดังนั้นถ้าหากจะมีการเลื่อนการทำประชามติจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557  

“หากไม่มี มาตรา 61 วรรคสอง ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำประชามติ สามารถจัดได้ตามปกติและตามวันเวลาเดิม แต่กระบวนการก่อนทำประชามติ อาจเกิดปัญหาในเรื่องการบิดเบือน ให้ข้อมูลเท็จได้ ซึ่งจะไม่มีกฎหมายไปเอาผิดคนเหล่านั้น” นายมีชัย กล่าว

เมื่อถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยให้เสร็จก่อนวันที่ 7 ส.ค. หรือไม่  นายมีชัย กล่าวอีกว่า  ศาลรัฐธรรมนูญคงรู้ว่าจะต้องใช้ภายในเท่าไร เราต้องวางใจศาล ใครจะไปกะเกณฑ์ก็ไม่ได้ หากศาลมีคำวินิจฉัยอย่างไรเราก็เอามาพิจารณาเหตุผลแล้วค่อยคิดว่าจะทำอย่างไร  ทั้งนี้ตนไม่เห็นเหตุผลของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ส่งเรื่องกรณี มาตรา 61 วรรคสอง ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559  ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเขาพูดถึงทั้งหมดหรือเอาเฉพาะบางคำในวรรคสองที่ไม่ชัดเจน ซึ่งต้องรอดู หากเป็นคำว่า “หยาบคาย ก้าวร้าว หรือ บิดเบือน” หากแปลคำเหล่านี้ไม่ออกคงต้องเปิดพจนานุกรมกันแล้ว  อย่างไรก็ตามขณะนี้กฎหมายประชามติยังคงบังคับใช้เพราะยังไม่ถูกบอกว่าขัดรัฐธรรมนูญ  แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่ามาตรา 61 วรรคสอง ขัดต่อรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 ก็จะไม่มีผลสำหรับผู้ที่ถูกศาลตัดสินลงโทษไปแล้ว แต่ผู้ที่ยังไม่ถูกศาลตัดสินก็จะพ้นผิด เพราะมาตราดังกล่าวนี้ใช้ไม่ได้แล้ว  แต่เท่าที่ดูจนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครถูกศาลลงโทษจากการทำผิดตามมาตรา 61 วรรคสอง

นายมีชัย กล่าวถึงการลงพื้นที่เพื่อร่วมสังเกตการณ์ในการอบรมเผยแพร่สาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญแก่วิทยากรระดับอำเภอ (ครู ข.) ที่ จ.อ่างทอง เมื่อวันที่1 มิ.ย.ที่ผ่านมา  ยังไม่พบปัญหา และคำถามแปลกๆ  แต่ยอมรับว่ายากที่จะให้ ครู ข. อธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญให้ละเอียด ดังนั้นเวลาที่ กรธ. หรือเจ้าหน้าที่ของ กรธ.ลงพื้นที่ทั่วประเทศ หากเห็น ครู ข. ติดขัดตรงไหนก็จะช่วยอธิบาย  ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ที่พบ เป็นคำถามเกี่ยวกับวิธีการมากกว่า  เช่น สงสัยว่าเรื่องไหนบ้างที่ควรนำไปพูด และจะพูดอย่างไร ซึ่งกรธ.ต้องย้ำว่าอย่าไปบอกให้ประชาชน “รับ”หรือ “ไม่รับ” ต้องให้ประชาชนคิดเอง

Thailand Web Stat