posttoday

หลากหลายแนวคิดและแนวทางเรื่องวัคซีนโควิด-19 (7)

24 มีนาคม 2564

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

*******************

แนวคิดและแนวทางที่ 6 การวางแผนฉีดวัคซีนระยะยาว

ไวรัสโคโรนาที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 มีลักษณะคล้ายซาร์ส จนผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกตั้งชื่อไวรัสนี้ว่า “ซาร์ส-โคโรนาไวรัส-2” หรือ “ซาร์ส-โควี-2” แต่ธรรมชาติการระบาดของโรคนี้น่าจะไม่เหมือนโรคซาร์ส

ซาร์สแพร่ระบาดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2545 – กรกฎาคม 2546 ทำให้มีผู้ป่วย / ติดเชื้อรวม 8,096 คน ตายไป 774 คน หลังจากนั้นก็สงบ และหายสาบสูญไป ไม่มีการรายงานของโรคนี้อีกเลย

ธรรมชาติของไวรัสคือมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา ขณะนี้ก็พบการกลายพันธุ์ของเชื้อโรคโควิด-19 แล้ว 3 สายพันธุ์ ซึ่งการกลายพันธุ์โดยทั่วไปเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง คือ ทำให้แพร่โรคได้เร็วขึ้นหรือช้าลง และทำให้โรครุนแรงขึ้นหรือลดความรุนแรงลง

โดยทั่วไป ถ้าเชื้อกลายพันธุ์ทำให้เจ้าบ้าน (host) เจ็บป่วยรุนแรง และเสียชีวิตมาก เชื้อก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะไวรัสมีธรรมชาติต้องเจริญในสิ่งมีชีวิตเจ้าบ้าน อยู่ด้วยตัวเองโดดๆ ไม่ได้นาน แต่ถ้ากลายพันธุ์แล้วลดความรุนแรงลง แพร่ง่ายขึ้นเชื้อก็จะดำรงอยู่ได้นาน

สำหรับเชื้อโควิด-19 มีความเป็นไปได้สูงที่เชื้อจะกลายพันธุ์ในลักษณะคล้ายไข้หวัดใหญ่สเปน คือลดความรุนแรงลงและยังคงก่อโรคได้ในมนุษย์ต่อไปยาวนาน โดยยังทำให้เกิดโรคได้รุนแรงพอสมควร ทำให้มีความจำเป็นต้องใช้วัคซีนไปอีกในระยะยาว ไม่เหมือนไวรัสโคโรนา 4 สายพันธุ์แรกที่ทำให้เกิดโรคหวัดที่ไม่รุนแรงในมนุษย์ เป็นผลให้ไม่จำเป็นและไม่คุ้มค่าที่จะใช้วัคซีนป้องกัน

เมื่อโควิด-19 มีโอกาสสูงที่จะเป็นอย่างไข้หวัดใหญ่สเปน จึงสมควรที่จะวางแผนระยะยาวในเรื่องวัคซีน และน่าจะถูกต้องแล้วที่วงการแพทย์และสาธารณสุขไทยเตรียมการวางแผนระยะยาวสำหรับวัคซีนโควิด-19 โดยไม่ “ตื่นตูม” และไม่ “เห็นช้างขี้ขี้ตามช้าง” และก็ไม่ผิดที่มีความพยายาม “ลดกระแส” ความต้องการวัคซีนโดยการนำเข้าวัคซีน “นอกแผน” ที่กำหนดไว้เดิม

เรื่องวัคซีนโควิด-19 ต้องวางแผนและเตรียมการระยะยาว เพราะเราน่าจะต้องอยู่กับโควิด-19 ไปอีกนาน จนกว่าคนทั่วโลกจะมีภูมิคุ้มกันหมู่ต่อโรคนี้ ซึ่งจะทำให้ไม่ป่วยง่าย หรือป่วยแล้วไม่ถึงขั้นเสียชีวิตโดยไม่สมควร เหมือนการอยู่กับไข้หวัดใหญ่สเปนและไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่นๆ

เมื่อต้องใช้วัคซีนเป็นอาวุธเพื่ออยู่กับโควิด-19 ต่อไป จึงถูกต้องแล้วที่จะต้องวางแผนระยะยาวให้เราสามารถพึ่งตนเองได้เรื่องวัคซีนโควิด-19

ถ้าทำได้ควรทำเหมือนการพัฒนาระบบบริการการแพทย์และสาธารณสุขโดยรวม ซึ่งพัฒนามายาวนานราวครึ่งศตวรรษ จนระบบสาธารณสุขของเราเข้มแข็ง เป็นที่ยกย่องชื่นชมขององค์การระหว่างประเทศ และบุคคลชั้นนำระดับโลก รวมทั้งเป็นที่ศึกษาดูงานของนานาประเทศในเวลานี้

ตรงข้ามกับระบบสาธารณสุข ประเทศไทยอ่อนแอมากในด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นับตั้งแต่ที่เราเข้าไปสยบอยู่ภายใต้ปีกของพญาอินทรี สมาทานระบบวัดผลการศึกษาแบบปรนัย ซึ่งส่งเสริมการเดาและทำลายทั้งความคิดและวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ ประกอบกับการส่งเสริม “ไสยศาสตร์” และ “มั้งศาสตร์” ด้วยการสร้าง “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” เต็มบ้านเต็มเมือง และข่มขู่คุกคามด้วยวาทกรรม “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” ทำให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเรามีลักษณะ “สาละวันเตี้ยลง” มาอย่างต่อเนื่อง

ในเรื่องวัคซีน ประเทศไทยเคยเป็น “หนึ่ง” ในเอเชีย ที่สามารถผลิตวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ คือ หนองฝีแห้ง โดยนักวิทยาศาสตร์ไทยเคยเป็นผู้ฝึกอบรมเทคนิคการผลิตวัคซีนนี้ให้แก่ประเทศต่างๆ ในเอเชียรวมทั้งญี่ปุ่น แต่ระบบการศึกษา และระบบการเมืองการปกครองที่อ่อนแอทำให้เราอ่อนแอลงเรื่อยๆ โรงงานวัคซีนของประเทศไทยที่เคยผลิตวัคซีนพื้นฐานใช้ในประเทศมาอย่างยาวนาน ก็ต้องเปลี่ยนไปใช้วิธีซื้อจากต่างประเทศ เพราะคุณภาพมาตรฐานสูงกว่าและราคาถูกกว่า

เมื่อเกิดการระบาดของไข้หวัดนก ประเทศไทยได้ผลักดันให้องค์การอนามัยโลกสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนเชื้อเป็นจากรัสเซียให้แก่ประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งไทย เป็นผลสำเร็จ เราได้เงินสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกหลักร้อยล้านบาท และรัฐบาลสมัย พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ก็สนับสนุนให้สร้างโรงงานวัคซีนในประเทศไทยโดยเงินงบประมาณกว่า 1,400 ล้านบาท และประเทศไทยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็นให้แก่อินเดีย คือบริษัทสถาบันซีรัมแห่งอินเดีย (Serum Institute of India : SII) ปรากฏว่าบริษัทสถาบันซีรัมแห่งอินเดีย รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปแล้ว สามารถผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็นจำหน่ายได้ในเวลาประมาณ 1 ปี แต่โรงงานของไทยยังผลิตจำหน่ายไม่ได้มาจนบัดนี้

สถานภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกี่ยวกับวัคซีนของไทยจึงอยู่ในสภาพวิกฤต

แต่วงวิชาการของไทยก็ได้พยายามเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสโดยวางแผนอย่างครบวงจร ตั้งแต่ (1) การวิจัยในห้องทดลองและสัตว์ทดลอง (2) การพัฒนาคือการทดสอบในคนระยะที่ 1-3 และ (3) การผลิต โดยเงินทุนจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และภาคเอกชน คือ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

หน่วยวิจัยหลายหน่วยงานได้พัฒนาด้านการวิจัย เช่น ศูนย์พัฒนาวัคซีนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ร่วมกับมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย) ; คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับองค์การเภสัชกรรม ; สวทช ; บริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้มีการเตรียมการด้านการผลิตไว้ ที่สำคัญคือ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งจะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากบริษัทแอสตราเซเนกา ; บริษัท ไบโอเนตเอเชีย ซึ่งเป็นบริษัทวัคซีนเอกชน และองค์การเภสัชกรรมซึ่งเป็น รัฐวิสาหกิจ และมีโรงงานผลิตวัคซีนจากไข่อยู่แล้ว เป็นต้น

โครงการที่มีความสำเร็จสูง คือ โครงการของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เพราะเป็นการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากบริษัทข้ามชาติซึ่งมีประสบการณ์ยาวนานเรื่องวัคซีน และเป็นบริษัทที่สามของโลกที่ประกาศความสำเร็จเรื่องการวิจัยและพัฒนาวัคซีนจนเป็นผู้ “ครองตลาด” ที่สามารถผลิตวัคซีนออกสู่ท้องตลาดมากกว่าใคร เพราะมีแผนความร่วมมือการผลิตกับโรงงานวัคซีนกว่า 20 แห่งทั่วโลก โดยนโยบาย “ไม่กำไร ไม่ขาดทุน” (No profit, no lost) ทำให้ผลิตได้จำนวนมาก และตั้งราคาขายในราคาย่อมเยา โดยกำหนดราคาในประเทศไทยที่โด๊สละ 4 ดอลลาร์ ขณะที่วัคซีนอื่นราคา 10-35 ดอลลาร์

วัคซีนที่วิจัยและพัฒนาในไทยมีเกือบทุกรูปแบบ (platform) ของการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในโลก เช่น เอ็มอาร์เอ็นเอ (รูปแบบเดียวกับของไฟเซอร์ และโมเดอร์นา), ชนิดใช้ไวรัสอะดิโนเป็นพาหะ (รูปแบบเดียวกับของแอสตราเซเนกา), ชนิดอนุภาคเหมือนไวรัส , ชนิดทำจากหน่วยย่อยของโปรตีน, ชนิดทำจากหน่วยย่อยของพืช เป็นต้น

วัคซีนที่วิจัยและพัฒนาในไทยมีโอกาสทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จ และที่สำเร็จก็จะนำมาใช้ได้ไม่เร็วแต่ก็มีประโยชน์ทั้งสิ้น ทั้งการสร้างองค์ความรู้และการติดตามความก้าวหน้าในด้านนี้ และหากสำเร็จแต่นำมาใช้ได้ช้าก็จะเข้าลักษณะ “มาช้า ดีกว่าไม่มา”

ครึ่งปีแรก ของปี 2564 จำนวนวัคซีนที่ผลิตได้ทั่วโลกยังมีไม่มาก ตลาดย่อมเป็นของผู้ขาย ถ้าเรารีบร้อนทุ่มเงินซื้อมาใช้ก็อาจไม่ “คุ้มค่า” เพราะแท้จริงแล้ววัคซีนเป็น “เครื่องมือชิ้นหนึ่ง” ในการควบคุมโรค และไม่สามารถเป็นเครื่องมือที่จะเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ทันอกทันใจ

ปัญหาสำคัญก็คือ การพัฒนาศักยภาพเรื่องการวิจัย และพัฒนาวัคซีน เป็นงานที่ต้องทำต่อเนื่องระยะยาว ถ้าทำแบบ “ไฟไหม้ฟาง” ในที่สุดก็จะเหมือนกรณีการผลิตหนองฝีแห้ง และการผลิตวัคซีนพื้นฐานของเราที่ผ่านมาในอดีต ที่ทำท่าจะเจริญแล้วก็เสื่อมลงในเวลาไม่นาน

*********************