คลังยันไม่ต่อมาตรการอสังหาฯ
คลังยันไม่ต่อมาตรการลดค่าธรรมเนียนโอน-จดจำนอง แนะประชาชนรีบโอนภายในวันที่ 28 เม.ย.
คลังยันไม่ต่อมาตรการลดค่าธรรมเนียนโอน-จดจำนอง แนะประชาชนรีบโอนภายในวันที่ 28 เม.ย.
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ "แนวทางกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล" ในงานสัมมนาของหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ต่อมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนองเหลือ 0.01% ที่จะสิ้นสุดภายในวันที่ 28 เม.ย. นี้ เพราะมองว่าใช้มาระยะเวลา 6 เดือนเพียงพอแล้ว ซึ่งประชาชนยังมีเวลาเหลืออีก 1 วันในวันพรุ่งนี้ (28 เม.ย.) โดยมาตรการดังกล่าวที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปลายเดือนต.ค. 2558 ส่งให้ผลให้คนที่ชะลอการซื้อให้เร่งการตัดสินใจได้เป็นอย่างดี มีผลไตรมาส 4/58 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/58 มากถึง 31% และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 21%
ทั้งนี้ ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่ามากถึง 5 แสนล้านบาท ซึ่งถ้ารวมธุรกิจที่เกี่ยวข้องก็ 7 แสนล้านบาท จึงมีผลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการสนับสนุนด้านอสังหาฯ ก็ทำควบคู่กับการลงทุนภาครัฐ แต่ทุกมาตรการมีเริ่มต้น ก็มีสิ้นสุด ซึ่งภาคธุรกิจเวลานี้ก็แข็งแรง โดยเฉพาะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ มีผลประกอบการที่ดี
ดังนั้น โครงการต่อไป คือ บ้านประชารัฐ ที่เน้นดูแลคนระดับล่าง โดยเมื่อวันที่ 19 มี.ค. ได้ไฟเขียวส่วนแรกที่ทำแล้ว คือ ที่อยู่อาศัยของภาคเอกชน ราคา 7 แสนบาท-1.5 ล้านบาท จะได้รับการสนับสนุนจากทั้งส่วนลดของเอกชนและได้รับการสนับสนุนด้านสินเชื่ออัตราพิเศษจากภาครัฐ โดยในส่วนของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ผ่านเกณฑ์และได้รับการอนุมัติแล้ว 2,200 ราย คิดเป็นมูลค่าวงเงินกู้ 2,000 ล้านบาท ส่วนออมสิน มีคนผ่านเกณฑ์และอนุมัติแล้ว 6,200 ราย คิดเป็นมูลค่าวงเงินกู้ 6,800 ล้านบาท กำลังจะเปิดรอบสอง
ขณะที่วันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมาจะเป็นเรื่องของกรมธนารักษ์ ให้เช่าที่ดินในราคาถูก แต่วงเงินสินเชื่อจะเล็กกว่า เพราะเป็นโครงการนำร่องของกรมธนารักษ์ อยู่บนพื้นที่ที่จะพัฒนาได้ ได้แก่ กรุงเทพฯ 2 แปลง เชียงใหม่ 1 แปลง เชียงราย 1 แปลง และชะอำ อีก 2 แปลง โดยจะพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ข้าราชการเงินเดือนไม่เกิน 2 หมื่นบาทเช่า เดือนละ 4,000 บาท ปรับอัตราค่าเช่าได้ 15% ทุก 5 ปี เมื่ออยู่ครบ 5 ปีก็ให้ย้ายออกและให้ข้าราชการรุ่นน้องมาอยู่แทน
นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดเรื่องที่อยู่อาศัยเพื่อคนสูงอายุ ซึ่งอยากให้เอกชนเข้ามาพัฒนา อาจจะเช่าที่ดินของกรมธนารักษ์ หรือที่ดินของหน่วยงานรัฐอื่นๆ เพราะเมืองไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยยังเป็นกรอบแนวคิดที่อยากโยนให้เอกชนนำไปรับช่วงต่อ เพราะผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เมื่อแข็งแกร่งแล้วก็ควรกลับมาดูแลสังคม
นายวิสุทธิ์ กล่าวอีกว่า อยากให้ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พัษนาระบบฐานข้อมูลบ้านมือสองด้วย โดยต่อไปฐานข้อมูลสำคัญมาก บ้านมือหนึ่งวันนี้ ก็คือบ้านมือสองในอนาคต ควรจัดเก็บข้อมูลประวัติการสร้างบ้านหลังนั้น โอนครั้งแรกราคาเท่าไร โอนครั้งครั้งที่สอง ครั้งที่สาม เปลี่ยนมือด้วยราคาเท่าไร พร้อมกับเก็บข้อมูลแบบและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในอนาคต
ด้านโครงการระบบระบายน้ำ เอาคนที่อยู่ในคลอง หลายชุมชนขึ้นมาอยู่บนบก เป็นการจัดระเบียบชุมชนริมน้ำ และถูกสุขลักษณะ ได้อยู่ที่ดินบริเวณเดิมและอยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยคลองในกรุงเทพฯ มีมาก แต่เริ่มที่ลาดพร้าวก่อน กรมธนารักษ์มอบสัญญาเช่า 5-6 ชุมชน รวมทั้งหมด 524 ครัวเรือน จากโครงการนำร่อง 10 ชุมชน เมื่อเข้ามาอยู่ตรงนี้ก็จะพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ดีขึ้น ต้องรักษาสิ่งแวดล้อมริมคลอง ไม่ทิ้งขยะ มีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่อย่างถูกต้อง และคืนคลองสวยงามให้คนกรุงเทพฯ อนาคตอาจจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวริมคลองได้
รัฐบาลก็พยายามเข้ามาดูแลคนทุกระดับ โดยมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและลดค่าจดจำนองเหลือ 0.01% ถือเป็นการช่วยเหลือคนระดับกลาง ต่อไปก็จะเป็นคนระดับล่าง โครงการของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) มีพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะเร่งด่วน และระยะกลาง แบ่งเป็นโครงการเพื่อขาย จำนวน 83โครงการ 2.5 หมื่นหน่วย ส่วนโครงการให้เช่า 32 โครงการ 1 หมื่นหน่วย และโครงการดินแดง รวมทั้งหมด 3.5 หมื่นหน่วย เสร็จปี 2560 ดูแลให้ครอบคลุมเพื่อให้ทุกคนมีที่อยู่อาศัย