เอกชนแห่เกาะรถไฟฟ้าสาธารณูปโภครัฐโตไม่ทัน
การเติบโตเมืองอย่างไร้ทิศทางและการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคของรัฐที่ไม่ทันการเติบโตของเมือง
โดย..สุกัญญา สินถิรศักดิ์
จากเวทีสัมมนา "รถไฟฟ้ามาหา…นคร พลิกโฉมเมืองเร่งเครื่องลงทุน" จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ซึ่งฉายภาพโครงการรถไฟฟ้าที่กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้ภาคเอกชนตัดสินใจลงทุน หลังจากที่โครงการรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ๆ ของทุกหน่วยงานภาครัฐมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งส่วนที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและเส้นทางใหม่ๆ ที่กำลังอนุมัติ ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทุกรูปแบบขยายการลงทุนเกาะเส้นทางรถไฟฟ้ามากขึ้น
แต่สิ่งที่น่าสนใจนับจากนี้คือ การเติบโตเมืองอย่างไร้ทิศทางและการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคของรัฐที่ไม่ทันการเติบโตของเมือง ซึ่งเกิดขึ้นเร็วอย่างก้าวกระโดดทันทีที่รถไฟฟ้าผ่าน สะท้อนได้จากหลายพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ที่เริ่มเห็นสารพัดปัญหาจากความเจริญของเมืองหลังมีรถไฟฟ้า
วันชัย ถนอมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ที่ผ่านมาผังเมืองรวมกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งประกอบด้วย 4 ผังด้วยกัน คือ ผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน (ผังสีและเอฟเออาร์) ผังโครงข่ายคมนาคม ผังสาธารณูปโภคและสาธารณูปการและผังพื้นที่โล่ง สิ่งแวดล้อมและการระบายน้ำ ยังไม่สอดคล้องกับการขยายตัวของหลายพื้นที่ที่มีรถไฟฟ้าผ่านแล้ว โดยเฉพาะสาธารณูปโภคทั้งระบบประปา ไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอ เนื่องจากพอมีรถไฟฟ้าผ่าน โครงการที่อยู่อาศัย โครงการเชิงพาณิชย์เกิดขึ้นทันที แต่ระบบน้ำ ระบบไฟฟ้าในพื้นที่เหล่านั้นไม่ได้ขยายได้เร็วเท่า
"หลายพื้นที่เริ่มเห็นปัญหา เช่น จ.นนทบุรี ที่เพิ่งมีรถไฟฟ้าสายสีม่วงผ่านคอนโดมิเนียมจึงเกิดขึ้นจำนวนมาก ไฟฟ้า ประปา มีปัญหา หรือในบางพื้นที่รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายผ่านตามชานเมืองก็เช่นกัน ซึ่งหน่วยงานรัฐต้องเร่งแก้ปัญหา"
นอกจากนี้ เรื่องการจราจรก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน เช่น สถานีบางหว้า ซึ่งเป็นสถานีปลายทางส่วนต่อขยายของสายสีเขียวเส้นสีลม ปัจจุบันเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญที่คนลงจากรถมาต่อรถไฟฟ้า ทำให้การจราจรในช่วงเวลาเร่งด่วนทั้งเช้าและเย็นติดขัดหนักมาก เป็นปัญหาที่ กทม.ต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจราจร โดยที่ผ่านมา กทม.ได้ให้คำแนะนำให้บริหารพื้นที่การจราจรรอบสถานี แยกโซนการใช้ประโยชน์ของรถสาธารณะประเภทต่างๆ เป็นต้น ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ควรมีการวางแผนล่วงหน้าและต้องเร่งแก้ปัญหาโดยเร็ว
ด้าน เอกชัย สุมาลี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสมาร์ท ซิตี้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าของมหานครทั่วโลกมีลักษณะคล้ายกัน นั่นคือผลประกอบการในการให้บริการอาจจะขาดทุน หรือกำไรต่ำ แต่พื้นที่รอบสถานีกลับมีมูลค่าสูง ทำให้ในหลายเมืองใหญ่เริ่มมีแนวคิดที่จะทำให้การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมกับภาคอสังหาริมทรัพย์ส่งเสริมกัน เช่น ในฮ่องกง หรือญี่ปุ่น มีบางสถานีเป็นโมเดลนำร่องที่วางมาสเตอร์แพลนพื้นที่รอบสถานี และเลือกให้เอกชนเข้ามาลงทุนพื้นที่รอบสถานี ซึ่งเอกชนจะทราบเวลาที่โครงการรถไฟฟ้าแล้วเสร็จ แล้วจะเริ่มลงทุนในจังหวะที่เหมาะสม ซึ่งทำให้เกิดมูลค่าการลงทุนสูงสุด
การวางมาสเตอร์แพลนดังกล่าวยังวางเรื่องระบบสาธารณูปโภครองรับไว้ด้วย ทำให้พื้นที่รอบสถานีมีความเจริญเกิดขึ้นโดยไม่มีปัญหา อีกทั้งยังสามารถควบคุมดีมานด์และซัพพลายให้สมดุลกัน เช่น ฮ่องกง มีบางสถานีที่วางมาสเตอร์แพลนให้ก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์รอบสถานีมากถึง 48 เฟส รอบรับคนได้ 2 แสนคน ซึ่งการที่ประเทศไทยจะเป็นก้าวสู่ความเป็นสมาร์ท ซิตี้ก็ต้องมีการผังรอบด้านทั้งโครงข่ายคมนาคม การใช้ประโยชน์ที่ดิน ควบคู่กับการพัฒนาสาธารณูปโภคให้เพียงพอ