นำร่องผลิตครูพันธุ์ใหม่รับยุค 4.0
สพฐ.จับมือหลายหน่วยงานจัดหลักสูตรสร้างครูคิดวิเคราะห์คิดสร้างสรรค์ ตอบโจทย์การผลิตกำลังคนในยุคอุตสาหกรรม 4.0
สพฐ.จับมือหลายหน่วยงานจัดหลักสูตรสร้างครูคิดวิเคราะห์คิดสร้างสรรค์ ตอบโจทย์การผลิตกำลังคนในยุคอุตสาหกรรม 4.0
นางเบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่าได้ร่วมกับหลายหน่วยงานจัดหลักสูตรสร้างครูคิดวิเคราะห์คิดสร้างสรรค์เพื่อตอบโจทย์การผลิตกำลังคนในยุคอุตสาหกรรม 4.0 โดยมีองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ โออีซีดีมาเป็นวิทยากรอบรมให้กับครูไทย ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ประเทศไทย โดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)ได้เป็นหนึ่งใน 14 ประเทศนำร่องการพัฒนาอบรมการใช้เครื่องมือส่งเสริมและประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์และทักษะการคิดวิเคราะห์ในชั้นเรียน จนเป็นที่มาของการวิจัยร่วมกันระหว่างโออีซีดีและภาคีการศึกษาในประเทศไทย
ทั้งนี้ ครูและศึกษานิเทศก์ที่เข้าร่วมอบรมจะสามารถนำกระบวนการสอนที่กระตุ้นให้เกิดการคิดวิเคราะห์คิดสร้างสรรค์ไปขยายผล และใช้จริงในห้องเรียนได้ทันที นอกจากนี้ เชื่อว่าการขยายผลร่วมกับภาคีวิชาการ ทั้งในส่วนม.ศรีปทุม ม.ธรรมศาสตร์ฯ จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงในการต่อยอดการวิจัยนวัตกรรมในไทย โดยมีพื้นที่ทำงานจริงในห้องเรียนเป็นห้องทดลองร่วมกัน สพฐ.ยินดีสนับสนุนช่วยเหลือเครือข่ายครูในพื้นที่ในการเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุค 4.0 ที่จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่การคิดต่างคิดสร้างสรรค์เพื่อนำสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์โลกยุคดิจิตอล
นายพอล คอลาจด์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์แห่งสหราชอาณาจักร โออีซีดี กล่าวว่า ผลวิเคราะห์ข้อมูลนักเรียนและครูในการใช้เครื่องมือการวัดประเมินทักษะความคิดวิเคราะห์และสร้างสรรค์กับโรงเรียนนำร่องจำนวน 23 แห่งในประเทศไทยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาพบว่า นักเรียนมีพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อครูสอดแทรกวิธีการสอนแบบคิดวิเคราะห์คิดสร้างสรรค์จะพบว่า เด็กระดับประถมศึกษามีความสนใจและสนุกกับการเรียนรู้มากขึ้น และห้องเรียนมีบรรยายกาศที่เปิดรับการเรียนรู้มากขึ้น โดยผู้เรียนสะท้อนว่ามีโอกาสใช้จินตนาการมากขึ้นในชั้นเรียน แม้เครื่องมือดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพัฒนา แต่ในการวิจัยระยะที่ 2 ได้มีการขยายผลสู่โรงเรียนจำนวน 110 แห่งในปี 2560 ครอบคลุมครูและโรงเรียนในประเทศไทยทุกสังกัด เพื่อให้เกิดความหลากหลาย และเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเครื่องมือให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นายท็อดด์ ลูบาร์ธ อาจารย์มหาวิทยาลัยปารีส หัวหน้าวิจัยโครงการพัฒนาเครื่องมือฯ โออีซีดี กล่าวถึงความจำเป็นในการสร้างครูพันธุ์ใหม่ให้มีวิวัฒนาการในลักษณะครูกลายพันธุ์ (Mutant) ที่เปลี่ยนให้ครูกลายเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ หรือผู้จัดกระบวนกรแทนการสอนที่เน้นแต่เนื้อหาเดิม ที่มีเป้าหมายในการป้อนเด็กเยาวชนสู่อุตสาหกรรมยุค 2.0 ซึ่งเป็นทักษะที่ตกยุกสมัยแล้ว ฉะนั้นครูพันธุ์เอ็กซ์ ต้องสามารถทำให้ห้องเรียนมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อตอบสนองทักษะในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ให้ได้ โดยจำแนกรูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ใน 4 ลักษณะได้แก่ 1) Diverger: เน้นสร้างประสบกาณ์จริงเชิงรูปธรรมผสมผสานกับการสร้างทักษะการสังเกต ไตร่ตรอง เช่น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพูดคุย 2) Accommodator : การลงมือปฏิบัติจากประสบการณ์จริงจนเกิดความชำนาญ เช่น วิชาศิลปะซึ่งเปิดโอกาสให้มีการลองผิดถูกจากประสบการณ์ตรง 3) Converger: สรุปยอดแนวคิดและทฤษฎีให้ตกผลึกก่อนนำสู่การลงมือปฏิบัติตามกระบวนการขั้นตอนที่กำหนดไว้ เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ และ 4) Assimilator เปรียบเทียบปราฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับทฤษฎีที่ศึกษามา เช่น วิชาคณิตศาสตร์ที่ครูจะท้าทายผู้เรียนด้วยคำถาม และชี้แนะด้วยทฤษฎีแต่ยังไม่ลงมือปฏิบัติ โดยผลวิจัยพบว่า ครูไทยยังติดกับการสอนแบบตามทฤษฎี เป็นอันดับที่ 1 ตามมาด้วยการสอนตามประสบการณ์ตรง อันดับที่ 2 การสอนแบบเชื่อมโยงกับทฤษฎี อันดับที่ 3 และแบบผสมผสานประสบการณ์จริงกับทักษะคิดวิเคราะห์ สังเกต ไตร่ตรอง เป็นอันดับที่ 4
นอกจากนี้ การอบรมดังกล่าว ยังได้รับความร่วมมือจาก สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ม.ศรีปทุม ม.ธรรมศาสตร์ และมูลนิธิยุวเสถียร เพื่อมุ่งขยายผลและนำไปสู่การพัฒนาเครื่องมือวัดประเมินผลเด็กและเยาวชนไทยให้มีทักษะความคิดสร้างสรรค์และทักษะการคิดวิเคราะห์รองรับการประเมินผล PISA ปี 2021 ที่โออีซีดีมีแผนจะเริ่มประเมินทักษะคิดสร้างสรรค์และคิดวิเคราะห์ต่อไป
ภาพประกอบข่าว