แจงกม.แรงงานทางทะเลช่วยผู้ทำงานเรือได้รับสิทธิตามมาตรฐานสากล
กระทรวงแรงงาน เผย พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล ทำให้ผู้ที่ทำงานบนเรือ กว่า 4หมื่นคน ได้รับการคุ้มครองตามมาตราฐานสากล
กระทรวงแรงงาน เผย พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล ทำให้ผู้ที่ทำงานบนเรือ กว่า 4หมื่นคน ได้รับการคุ้มครองตามมาตราฐานสากล
เมื่อวันที่ 18ก.ค. นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน อธิบายสาระสำคัญของพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ.2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่า กฎหมายฉบับนี้จะทำให้ผู้ที่งานประจำเรือเดินทะเลได้รับประโยชน์ และได้รับการคุ้มครองกว่า 40,000 คน นอกจากนี้เจ้าของเรือที่มีขนาด 200 ตันกรอสขึ้นไปกว่า 1,000 ลำ จะได้ประโยชน์ทั้งในเรื่องการรับรองว่าการปฏิบัติถูกต้องตามมาตรฐานสากลภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ.2559 ขององค์การแรงงาน (ไอแอลโอ) ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันการค้าระหว่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น
สำหรับเนื้อหาสำคัญของกฎหมายฉบับนี้จะเน้นการดูแลคุ้มครองผู้ที่ทำงานประจำเรือ ทั้งด้านสภาพการทำงานบนเรือเดินทะเล สภาพการจ้าง ความปลอดภัย และสุขอนามัย ตลอดจนการคุ้มครองด้านการประกันสังคม อาทิ ห้ามใช้งานผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 16ปีทำงานประจำเรือ ต้องจัดให้ผู้ที่ทำงานมีเวลาพักผ่อนไม่น้อยกว่า 1 ชม. มีสิทธิในการลาขึ้นฝั่ง ลาคลอด รวมถึงต้องมีหนังสือข้อตกลงการจ้าง ระบบการรักษาพยาบาล การคุ้มครองชีวิต ป้องกันอุบัติเหตุ ค่าล่วงเวลาต้องไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าต่อ ชม. และต้องจัดหาคนประจำเรือให้เพียงพอกับงานให้เป็นตามมาตรฐานสากลอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เน้นย้ำให้กระทรวงแรงงาน ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอย่างใกล้ชิดทั้ง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข และเจ้าของเรือ เพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในกิจการเดินเรือทะเล และทำให้เกิดการคุ้มครองแรงงานทางทะเลตามกฎหมายเพื่อส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของไทย