อนุกรรมการค่าจ้างฯชงขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 13 จังหวัด
ปลัดแรงงาน เผยอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอขอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 13 จังหวัด ตั้งแต่ 4-60 บาท ไม่มี กทม. - เตรียมส่งให้อนุกรรมการฯ 77จังหวัดวิเคราะห์อีกครั้ง ก่อนเสนอบอร์ดใหญ่ ก.ย.นี้
ปลัดแรงงาน เผยอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอขอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 13 จังหวัด ตั้งแต่ 4-60 บาท ไม่มี กทม. - เตรียมส่งให้อนุกรรมการฯ 77จังหวัดวิเคราะห์อีกครั้ง ก่อนเสนอบอร์ดใหญ่ ก.ย.นี้
เมื่อวันที่ 25ส.ค. ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) เปิดเผยถึงความคืบการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 ว่า หลังจากที่มอบหมายให้ทางคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างจังหวัด ไปสำรวจข้อมูลในแต่ละพื้นที่ก่อนรวบรวมมาเสนอยังกระทรวงแรงงานใน 3 ประเด็น อาทิ สภาพเศรษฐกิจ ค่าครองชีพของแรงงาน และความสามารถในการจ่ายของนายจ้างในพื้นที่ เพื่อให้ทางคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองวิเคราะห์ นำไปเข้าสูตรคำนวณเพื่อหาผลลัพธ์ว่าควรปรับขึ้นค่าจ้างหรือไม่ และในอัตราเท่าใดที่จะเหมาะสม ให้ได้ข้อสรุปภายในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อที่จะให้เลขานุการคณะกรรมการค่าจ้าง นำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดค่าจ้าง ที่จะประชุมในวันที่ 15 ก.ย.นี้
ม.ล.ปุณฑริก เปิดเผยอีกว่า จากข้อมูลผลสรุปของอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด 77 จังหวัดที่ส่งมา พบว่า มีจังหวัดที่ขอขึ้นค่าจ้าง 10 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเพชรบูรณ์ สกลนคร พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี กระบี่ ภูเก็ต นราธิวาส และสระบุรี ซึ่งมีการเสนอขอปรับใน 2 อัตรา คือ ฝ่ายนายจ้างเสนอเพิ่ม 15 บาท ฝ่ายลูกจ้างเสนอเพิ่ม 60 บาท ขณะที่มีอีก 2 จังหวัด ที่ทางคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ในการปรับขึ้นค่าจ้าง โดยฝ่ายลูกจ้างขอปรับ แต่นายจ้างไม่ขอปรับ คือ จังหวัดปทุมธานี ขอเพิ่มที่ 20 บาท และสมุทรสาคร 60 บาท
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า ภาพรวมการขอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 4 - 60 บาท ใน 13จังหวัด ส่วนอีก 64จังหวัดที่เหลือไม่เสนอขอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รวมถึงกรุงเทพฯด้วย