พิการตัวแต่หัวใจไม่พิการรัก! เปิดใจ "ทิน บุญมี" พ่อค้าผู้นำแซนด์วิชมาแจกฟรีให้ผู้คน
เปิดชีวิตอดีตขอทานนอนใต้สะพานสู่พ่อค้าแซนด์วิชขวัญใจคนใช้ถนนเกษตร-นวมินทร์ “ต้น” หรือ “ทิน บุญมี” ชายพิการผู้ไม่คิดแพ้โชคชะตาชีวิต แม้เกิดมามีน้อยกว่าคนอื่นแต่ก็สู้จนสำเร็จ และแบ่งปันสู่สังคม
เปิดชีวิตอดีตขอทานนอนใต้สะพานสู่พ่อค้าแซนด์วิชขวัญใจคนใช้ถนนเกษตร-นวมินทร์ “ต้น” หรือ “ทิน บุญมี” ชายพิการผู้ไม่คิดแพ้โชคชะตาต่อคืนวันในชีวิตเกิดมามีน้อยกว่าคนอื่นแต่ก็สู้จนสำเร็จ และแบ่งปันสู่สังคม
*******************
โดย…รัชพล ธนศุทธิสกุล
“แจกแซนด์วิชฟรีในวันเกิดครับ” ป้ายข้อความของพ่อค้าหนุ่มพิการหนีบไม้ค้ำยืนมอบแซนด์วิชถึงมือกลางถนน 4 แยกเกษตร-นวมินทร์ ท่ามกลางองศาแดดแผดเผ่าและรถราที่วิ่งไปมากวัดไกวได้ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวชมในโลกโซเชียลเป็นอย่างมาก
“ต้น” หรือ “ทิน บุญมี” คือชายพิการใจดีในภาพนั้นที่โพสต์ทูเดย์เราลงพื้นที่ไปสอบถามต้นสายปลายเหตุที่ออกมาทำย่อมมีมากกว่าภายใต้ประโยค “ผมอยากตอบแทนลูกค้าที่อุดหนุน” หลังเรื่องราวถูกเปิดเผยลงอินเทอร์เน็ต
และก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ที่ชายคนนี้ไม่ใช่เพียงทำดีครั้งแรกเพื่อหวังดัง หากแต่ในทุกๆ วันลมหายใจเขาออกของเขานั้นทำดีเสมอมาตลอดระยะเวลา 40 ปี
แด่ ‘นักสู้’ ร่วมโลก
“เราอยากจะตอบแทนเขา เขาก็ลำบากเหมือนกัน ไม่ใช่เฉพาะคนรวยอย่างเดียวที่อุดหนุนเรา คนระดับกลางขี่มอเตอร์ไซค์เขาก็ยังไม่รวยมาก ยังต้องทำงานเช้ากินค่ำ เขาก็ช่วยเรา เราก็อยากตอบแทนน้ำใจเขา ตอบแทนแด่นักสู้ด้วยกัน” ทิน บุญมี หรือ ต้น ชื่อที่ใครๆ รู้จักยอดคนสู้ชีวิตผู้นี้แห่งแยกเกษตร-นวมินทร์ ตลอดระยะเวลา 10 ปี เล่ามุมความคิดที่แม้เป็นผู้พิการด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่ต้องใช้ชีวิตลำบากกว่าคนปกติ แต่ก็ยังเลือกที่จะทำดีจรรโลงสังคมโดยถือว่า ‘ทำแล้วมีความสุข’
ต้นบอกว่าการที่เราทำทานคน เราจะมีความสุขอีกอย่างหนึ่ง ขณะที่การที่ทำบุญกับพระสงฆ์ก็มีความสุขอีกแบบหนึ่ง และเมื่อสิ่งที่คิดจะทำล้วนทั้ง2อย่างนี้ล้วนเป็นความสุขในตัวเขา มันก็เลยกลายเป็นเหตุผลง่ายๆ ที่ต้นทำอย่างไม่ต้องสงสัยถึงจะไม่ได้เรียนหนังสือเป็นคนอ่านไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ ด้วยซ้ำ
“ผมได้รับโอกาสจากคนอื่นทำให้ผมมีวันนี้ ตอนเด็กๆ จำความได้อยู่ที่วงเวียนใหญ่พอพ่อตายก็ย้ายมาอยู่ใต้สะพานกลับรถวัดบางบัว เขตบางเขน ตอนนั้นยังไม่มีอุโมงค์กรมทหารราบ 11 ตั้งแต่ 3-4 ขวบ แม่ต้องขอทานเลี้ยงน้องชายอีก 2 คน ผมก็ขอทานช่วยแม่ ไม่ได้ไปวิ่งเล่นแบบเด็กคนอื่นเขา”
เช้าตรูตี 5 ตื่นเดินไปสถานีรถไฟโรงเรียนหอวังมาตลาดบางซื่อ ตกสายพอตลาดวายก็นั่งรถไฟกลับเอาเงินมาให้แม่ซื้อกับข้าวซื้อนมให้น้องกิน กระทั่งในคืนหนึ่งของอายุ 7 ขวบ วันนั้นเกิดฝนตกจนน้ำท่วมใต้สะพาน ต้นต้องกุลีกุจอเก็บเสื้อผ้าใส่ถุงพลาสติกไม่ให้เปียกน้ำก่อนจะนั่งหนาวสะท้านจนพล่อยหลับไปและตื่นสายกว่าวันอื่นๆ จังหวะที่เดินทางไปขึ้นขบวนรถไฟเพื่อขอทาน รถไฟได้วิ่งออกจากชานชาลาแล้ว ต้นจึงวิ่งตามและเคราะห์เจ้ากรรมก็ซัดร่างเขาล่วงหล่นตุบเฉียดล้อของม้าเหล็กไม่ถึงคืบ
“เราไม่อยากจะรอขบวนใหม่จะได้กลับบ้านไว้ๆ ก็วิ่งๆ ไปให้ทัน แต่จังหวะที่พอเกาะได้แล้วจู่ๆ ขามันก็ไม่มีแรง เราก็เลยร่วงตกรถไฟ ใครๆ ก็บอกว่าโชคดีที่ไม่โดนรถไฟทับ แต่มันก็โชคร้ายในความโชคดี วันนั้นทำให้ผมได้พบกับหลวงตาที่สั่งสอนผมให้เป็นแบบนี้ และก็ออกค่ารักษาทั้งหมดจนทำให้ผมรู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ชอบเดินๆ แล้วล้มให้คนอื่นหัวเราะในว่าเป็นมุขหลอกขอทาน ตั้งแต่นั้นมาเลยเช้าๆ จะมาหาหลวงตาเป็นเด็กวัดเดินตาม ล้างบาตร จัดอาหารให้ท่าน และก็เอากับข้าวไปให้แม่กิน”
หลวงตาเปี๊ยก วัดบางนานอก สอนให้ต้นรู้จักเก็บออมขอทานได้ก็จะสะสมเงิน สอนให้ต้นต่อสู้โชคชะตาในยามท้อที่โดนดูถูกจากการขอทาน ท่านว่าคนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราเลือกสิ่งที่เราจะทำได้ ดังนั้นถึงแม้ต้นจะเป็นขอทานแต่ไม่เคยพูดปด ลักทรัพย์ ดื่มสุราและใช้ยาเสพติด ต้นถูกปลูกฝั่งความดีอย่างน้อยๆ ก็ครบศีล 5 และให้มั่นทำความดีเสมอ โดยเฉพาะเรื่องการปิดทองหลังพระไม่จำเป็นต้องไปบอกเขา วันหนึ่งมันล้นออกไปจนคนเห็นเอง
“รู้จักควบคุมสติอารมณ์ โดนรังแกก็ให้คิดว่าคนที่รังแกเราคือไฟ เมื่อไฟไหม้จะถึงตัว เราจะวิ่งเข้าหากองไฟให้เผาเราหรือเราจะเลือกวิ่งไปหาน้ำ และให้เราพอใจสิ่งที่เรามีอยู่ เราไม่ควรจะอยากได้อยากมีที่เกินตัว ไม่มีรถไม่ต้องไปยืมเงินไปออกรถ อย่างนั้นเท่ากับเราเอาทุกข์มาให้ตัวเอง เราพอใจในสิ่งที่เรามีอยู่เราจะมีความสุขมากกกว่า”
ต้นปฏิบัติตามคำสอนหลวงตาเป็นอย่างดีซึ่งไม่นานต้นก็สามารถเก็บเงินย้ายออกจากใต้สะพานมาเช่าบ้านครั้งแรกในชีวิต ต้นได้อาบน้ำให้ห้องน้ำสะอาด ปะแป้งตัวหอมฟุ้งนอนมองแสงจ้าของหลอดไฟดวงกลมสีส้มเปล่งประกายกลางบ้านพร้อมกับพัดลมเย็นๆ ไม่มียุ่ง ไม่มีเศษดินหรือหินทิ่ม
“มันมีความสุขมากเลยวันนั้นผมจำไม่ลืม ก็ต้องขอบพระคุณหลวงตาที่สั่งสอน และท่านก็สอนอีกว่าเมื่อมีก็แบ่งปันอันนี้ท่านย้ำเตือนมาก ก่อนท่านสิ้นท่านก็ย้ำ และมันก็ทำให้มีวันนี้ที่ชีวิตครบ เพราะพอขอทานได้บางทีชาวบ้านให้ข้าวมาเราก็เอาไปให้คนที่เขายังไม่มีข้าวกินยังเดินยกมือขอข้าว ไม่ก็เด็กหรือคนแก่ หลายๆ คนก็มองผมนะว่าให้เขาทำไม แต่ผมมีแล้วผมก็ให้ ผมคิดแค่นั้น ผมให้จนภรรยาผมที่เขาให้ข้าวผมกินชอบผมและร่วมกันสร้างครอบครัวที่มีความสุขแม้จะไม่ร่ำรวย หรืออาชีพขายแซนด์วิชก็ได้มาจากผู้ใหญ่ที่เห็นผมขอทานหลังจากสมัครงานที่ไหนไม่มีใครรับจากร่างกายเราที่เป็นแบบนี้ เขาก็ให้เงินทุนมาตั้งตัวขายน้ำส้มและก็มีผู้ใหญ่อีกคนสอนทำแซนด์วิช”
‘ความดี’ ธงนำชีวิตมีสุข
ความมีน้ำใจและเอื้อเฟื้อของต้นไม่ใช่เฉพาะวันพิเศษอย่างวันเกิดที่ 25 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมาเพียงครั้งเดียว แต่แทบในทุกๆ วันที่แซนด์วิชกว่า 70 ชิ้น ถูกหยิบนำใช้สอยแลกรอยยิ้มแทนตัวเงิน
“รถซาเล้งขับมามีลูก 3 คน เขาร้องจะกิน แม่ไม่ซื้อให้ ผมให้ไปเลย เอาหน้าพริกเผาหมูหยอง หรือหน้าโบโลน่า ปูอัด ทูน่า แฮมไก่ หนูหยิบเลยให้เลือกเองเลย ลุงให้คนละ 2 กล่อง เด็กๆ เขายิ้ม แม่เขายิ้ม มันมีความสุขข้างในนะ หรืออย่างบางคนถามว่าราคาชิ้นละ 30 บาท เขาขอดูเงินในกระเป๋าก่อน ก็บอกว่ามีเท่าไหร่เอาเท่านั้นครับ 10 บาทก็รับหมด คือผมเชื่อว่าการช่วยคนได้บุญ ผมอาจจะช่วยไม่เยอะ แต่วันหนึ่งเวลาเราตกทุกข์ได้ยากบุญนั้นจะย้อนมา แต่ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง ชีวิตผมก็เป็นแบบนี้นะ”
สำหรับคนที่มองชีวิตอีกแบบที่เหนือความเชื่อผลกรรม ในทางหลักวิทยาศาสตร์ต้นก็มีความเชื่อที่ทำให้เขามีวันนี้ได้คือการทำชีวิตให้เสมอต้นเสมอปลาย ทุกอย่างต้องเสมอกัน ไม่ใช่ต่อหน้าทำดี ลับหลังทำอีกอย่าง ใช้ชีวิตเหมือนเชือก ที่ตึงเสมอกัน นั้นคือความสุขที่แท้จริงสำหรับเขา
“บางคนก็ถามนะว่าเป็นการเกินตัว ไฟในเรือนตัวเองยังไม่สว่างจะไปส่องให้คนอื่นก็ป่วยการ แต่ผมก็ทำแต่พอดีตัว พอดีกับที่กำลังผมมี แจก 35 อัน ขายที่เหลือก็เท่าทุน แต่วันๆ หนึ่งเจอคนลำบาก 10 คน แจก 10 อันแลกรอยยิ้มที่เติมใจผม ผมก็ยิ่งอยู่ได้”
ไฟความสุขของการทำดีต้นไม่ใช่แค่ผ่านมุมมองบุญ-บาป และความรู้สึกเอื้อเฟื้อมีน้ำใจเพียงอย่างเดียว แต่ยังอยู่บนพื้นฐานความถูกต้อง ความรับผิดชอบต่อสังคม ยึดส่วนรวมเป็นหลัก ทำอะไรครั้งใดเดือดร้อนสังคมหรือไม่ ทำอย่างนี้จะสร้างปัญหาให้เขาหรือปล่าอีกด้วย
“เพราะผมอยากให้สังคมเห็นว่าคนพิการก็ไม่ได้แปลว่าเป็นภาระให้สังคม ผมก็สามารถทำงานได้ ขายของได้ หาเงินเลี้ยงชีพตัวเองได้ ไม่ได้มาเป็นภาระให้สังคม และผมอยากให้ทุกๆ คนสู้ โดยเฉพาะกับคนพิการแบบพวกเรา หากเราท้อ เราเกิดพิการก็แย่อยู่แล้ว ท้ออีกก็ยิ่งแย่ สู้ซิครับวันหนึ่งมันจะสำเร็จ”
ปัญหามีไว้พุ่งชน ‘เคล็ดความสำเร็จ’ ของคนสู้
“ปัญหาวิ่งเข้าไปหาปัญหา พอมันเกิดอะไรเราก็แก้ไขได้ แน่นอนมันมีทั้งสมหวังและผิดหวัง เมื่อมีผิดหวังก็แปลว่ามีหวังรออยู่ข้างหน้า นั้นคือความสุขความสมหวัง และเมื่อมีสมหวังก็ต้องมีผิดหวังรออยู่เราต้องรอรับมัน ชีวิตมันก็แค่นั้น” ต้นเผยแง่งามของชีวิตข้อสุดท้ายที่ทำให้เขามีวันนี้ จากอดีตเด็กขอทานเป็นพ่อค้าขายแซนด์วิชที่มีแฟนคลับติดตามและอุดหนุนชนิดที่แทบไม่เคยมีเกิดขึ้นในประเทศไทย
“ที่ผ่านมายิ่งทำให้ผมรู้ว่าสิ่งที่เราทำมันก่อเกิดขึ้นแล้ว ผมเป็นแค่พ่อค้าแซนด์วิชริมถนน แต่ลูกค้าซื้อเค้กมาเซอร์ไพรส์หลังจากเห็นป้ายวันเกิดแจกฟรี แล้วก็วนรถกลับมาอีก ลงมาจากรถตู้มาเกาะกลางแล้วร้องเพลงแฮปปี้เบิร์ดเดย์วันเกิดให้ผม ชีวิตมันสุดแล้วครับ มันอิ่มไปหมดวันนั้น ผมก็จะทำอย่างนี้ต่อไปจนหมดลมหายใจ เพราะอย่างที่บอกผมมีวันนี้ได้ก็เพราะสิ่งเหล่านี้จากพวกเขาที่ทำให้ผม”
ตลอดระเวลากว่าเกือบ 10 ปี ในทุกๆ เช้าตั้งแต่ 7 โมงหลังไปส่งลูกสาวน้องใบบัววัย 7 ขวบไปโรงเรียน จึงเป็นภาพชินตาของชาวบ้านในย่านคู้บอนที่มักจะเห็นสองสามีภรรยาขี่มอเตอร์ไซค์แบกตะกร้าด้วยรอยยิ้มหยิบยื่นแซนด์วิชให้ลูกๆ หลานๆ ตัวน้อยได้อิ่มท้อง ด้วยรอยยิ้มที่หยิบยืนให้เห็นเป็นภาพตัวแบบอย่างของการลุกขึ้นสู้และที่สำคัญเลยคือ ‘ทำดี’ แม้ในวันที่อะไรต่ออะไรไม่เป็นใจหวัง เพื่อเป็นกำลังแก่ทุกๆ คน
และนี้ก็คือเรื่องราวพ่อค้าขายแซนด์วิชริมถนนผู้พิการแต่เพียงร่างกายเท่านั้น แต่หัวใจของเขาเปี่ยมไปด้วยพละกำลังและความคิดที่ยิ่งใหญ่ที่จรรโลงสังคมใบนี้ให้น่าอยู่ขึ้น