แพทย์ติง"ครู" ไม่ควรประจานเด็กให้กราบหน้าเสาธง
"หมอโอ๋ แห่งเพจเฟซบุ๊กเลี้ยงลูกนอกบ้าน โพสต์ตำหนิครูบังคับนักเรียนกราบขอขมาหน้าเสาธง
"หมอโอ๋" แห่งเพจเฟซบุ๊กเลี้ยงลูกนอกบ้าน โพสต์ตำหนิครูบังคับนักเรียนกราบขอขมาหน้าเสาธง
จากกรณีที่โลกออนไลน์เผยแพร่คลิปวิดีโอ ครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ของโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.สุรินทร์ บังคับให้นักเรียนหญิงชั้นป.6 กราบเท้าขอขมาหน้าเสาธงต่อหน้าเพื่อนนักเรียนจำนวนมาก หลังจากเชื่อว่าเด็กคนดังกล่าวโกหกว่าแพ้อาหารหลังกินแกงจืดเต้าหู้เป็นมื้อกลางวัน จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ก.ย. แพทย์หญิงจิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี หรือหมอโอ๋ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก เลี้ยงลูกนอกบ้านว่า การประจานเด็กนักเรียนหน้าเสาธงต่อหน้าเพื่อนถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ข้อความดังนี้
"#ความรุนแรงที่หน้าเสาธง
หมอได้ดูคลิปที่เด็กหญิงคนหนึ่งกำลังร้องห่มร้องไห้ถูกพี่ชายและครูบังคับให้กราบที่หน้าเสาธงของโรงเรียนท่ามกลางสายตาเด็กนักเรียนอีกหลายร้อย
เนื้อข่าวบอกว่า เด็กทานอาหารกลางวันแล้วผื่นขึ้น ไปหาหมอแล้วกลับมาบอกครูว่าสงสัยแพ้เต้าหู้ไข่ที่โรงเรียน
สัมภาษณ์ครู ครูบอกว่าเด็กไม่มีประวัติแพ้ ไม่เคยขอยาแก้แพ้ ไม่เชื่อว่าจะแพ้ ครูเป็นนักวิทยาศาสตร์ จะเชื่ออะไร "ต้องมีหลักฐาน" จึงให้เด็กมากินเต้าหู้ไข่ต่อหน้าและถ่ายรูปเก็บหลักฐานไว้ ผลปรากฏว่าไม่ได้แพ้จริง จากนั้นครูจึงสั่งให้เด็กมากราบขอขมาเพราะคิดว่าเด็กโกหก เป็นการทำร้ายโรงเรียน ทำให้โรงเรียนเสียชื่อเสียง
หมออยากให้เราเรียนรู้เหตุการณ์นี้ร่วมกันดังนี้นะคะ...
1. หลายครั้งสาเหตุของการแพ้ หมอเค้ายังทำได้แค่สงสัย เพราะสารต่างๆ บนโลกมีมากมาย ใครแพ้อะไรอาจจะได้จากประวัติและการคาดเดา (การทดสอบการแพ้ จะทำเมื่อแพ้ซ้ำๆหรือแพ้รุนแรง แต่ก็ทำได้ในสารเฉพาะอย่าง)
2. ไม่มีประวัติแพ้ ไม่เคยขอยาแก้แพ้ ไม่ได้แปลว่าแพ้ไม่ได้
3. ข้อนี้สำคัญมาก!! การทดสอบการแพ้ "ไม่ควรทำเองโดยพละการ" บางคนแพ้แบบรุนแรง หลอดลมบวม หายใจไม่ได้ ความดันตก เสียชีวิตได้ทันที คนแพ้อาหารหลายคนจึงต้องพกยาฉีดฉุกเฉินไว้กับตัว นี่คือเรื่องที่เป็นอันตรายถึงชีวิต และเป็นสิ่งที่ใครก็ไม่ควรใช้อำนาจบังคับใครให้ทำเพื่อเป็นการพิสูจน์สิ่งที่ตนสงสัย
4. "การแพ้อาหาร" เป็นปัญหาส่วนบุคคล ไม่ได้เกิดจากอาหารสกปรก ถ้าพ่อแม่ไม่ได้แจ้งการแพ้ไว้ แล้วครูเผลอเอาให้เด็กกิน ก็ไม่ได้เป็นอะไรที่โรงเรียนต้องรู้สึกเสื่อมเสียชื่อเสียง
5. ถ้าคิดว่าเด็กโกหก สิ่งที่ครูควรทำ คือการคุยกับเด็กเพื่อหา "ที่มา" ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เด็กต้องโกหก
6. การบังคับกราบ ไม่ได้ช่วยปรับพฤติกรรมอะไรในตัวเด็ก เพราะตราบใดที่สาเหตุไม่ได้รับการมองหาหรือแก้ไข การกราบก็อาจเป็นเพียงสัญลักษณ์ว่าอีกฝ่ายยอม อีกฝ่ายได้ชัยชนะ
7. การนำความผิดเด็กมาประจานด้วยการให้กราบกรานหน้าเสาธง ส่งผลกระทบกระเทือนกับจิตใจ ส่งผลให้อับอาย และส่งผลร้ายในการพัฒนาเด็ก
8. หลายครั้ง เด็กซึมซับ "ความรุนแรง" "ความก้าวร้าว" "ความเอาชนะ" "ความสะใจ" มาจากต้นแบบที่ได้เห็น "ในโรงเรียน"
น่าเศร้าที่หลายครั้งต้นแบบนั้นมาจาก "ครู" ... คนที่เด็กเชื่อถือและศรัทธา
รักลูก(ศิษย์)... ช่วยกันคิดมองหาสาเหตุแล้วแก้ไข มากกว่าการทำอะไรแค่เพื่อประจานการกระทำนะคะ เพราะนั่น... จะทำให้เราไม่มีวันช่วยเหลือลูก(ศิษย์)ได้อย่างแท้จริง
หมอเชื่อว่า ความเจ็บป่วยก็เกิดได้กับหมอ ความไม่รู้ก็เกิดได้กับครูเช่นกัน"