posttoday

การแก้ปัญหาความยากจน แบบเจาะจงของจีน

13 กรกฎาคม 2561

ปัจจุบันมีชาวจีน 25 ล้านคน ซึ่งยากจนมากและส่วนใหญ่อยู่ในชนบทห่างไกล วันนี้จีนใช้วิธี “แก้ปัญหาความยากจนแบบเจาะจง” เพื่อขจัดความยากจนให้สิ้นภายในปี 2020

ปัจจุบันมีชาวจีน 25 ล้านคน ซึ่งยากจนมากและส่วนใหญ่อยู่ในชนบทห่างไกล วันนี้จีนใช้วิธี “แก้ปัญหาความยากจนแบบเจาะจง” เพื่อขจัดความยากจนให้สิ้นภายในปี 2020

*************************

โดย...รศ.ดร. Yu Haiqiu ผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา สถาบันวิจัยสังคมศาสตร์แห่งมณฑลยูนนาน

จีนเปิดและปฏิรูปประเทศ 40 ปี ทำให้คนจีน 800 ล้านคนพ้นความยากจน ปัจจุบันเหลือคนจน 25 ล้านคน ซึ่งยากจนมากและส่วนใหญ่อยู่ในชนบทห่างไกล วันนี้จีนใช้วิธี “แก้ปัญหาความยากจนแบบเจาะจง” เพื่อขจัดความยากจนให้สิ้นภายในปี 2020 (เกณฑ์คนจนของจีนคือมีรายได้ต่ำกว่า 1.5 แสนบาท/ปี)

ในเวทีเรื่อง Independent Choice of Development Model of China and Indochina Countries : Opportunities and Challenges สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ ร่วมกับสถาบันการทูตและการต่างประเทศ วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต และศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยสังคมศาสตร์แห่งประเทศจีน (CASS) จัดให้ผู้เขียนในฐานะผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา สถาบันวิจัยสังคมศาสตร์แห่งมณฑลยูนนาน เล่าประสบการณ์ตรงเรื่องการขจัดความยากจนแบบเจาะจงในจีน ซึ่งเป็นนโยบายล่าสุดที่จีนนำมาใช้ โดยเจาะจงถึงระดับบุคคลและครัวเรือนเพื่อให้แม่นยำถึงผู้ที่ควรได้รับความช่วยเหลือแท้จริง โดยให้หน่วยงานของรัฐแต่ละหน่วยจับคู่กับพื้นที่เป้าหมายในหมู่บ้านห่างไกล ให้ผู้บริหารและข้าราชการหน่วยงานเหล่านั้นแต่ละคนจับคู่กับครัวเรือนยากจนอย่างน้อยคนละสองครัวเรือนจนกว่าจะสำเร็จ

หน่วยงานผู้เขียนคือสถาบันวิจัยสังคมศาสตร์แห่งมณฑลยูนนาน จับคู่กับหมู่บ้านยากจนแห่งหนึ่งในเมืองลี่เจียง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลยูนนาน ห่างเมืองคุนหมิง เมืองหลวงมณฑลยูนนาน 600 กม. เดินทางโดยรถยนต์ 16 ชม. หมู่บ้านอยู่บนเขา หนาวติดลบในหน้าหนาว ประชากร 650 คน มีอาชีพปลูกข้าวโพด ใบยาสูบ เลี้ยงสัตว์

ข้าราชการที่รับผิดชอบต้องไปเยี่ยมครอบครัวที่ตนดูแลอย่างน้อย 4 ครั้ง/ปี หากครอบครัวนั้นเดือดร้อนต้องใช้เงินไม่เกิน 2,000-3,000 บาท ข้าราชการต้องออกเงินส่วนตัวช่วยเหลือ และติดชื่อ ตำแหน่ง เบอร์ติดต่อของตนหน้าบ้านครอบครัวที่รับผิดชอบ เพื่อให้ติดต่อเมื่อมีเรื่องด่วน

ครอบครัวแรกที่ผู้เขียนจับคู่ดูแลเป็นของชายยากจนวัย 50 ปี ที่ติดสุราและอาศัยอยู่คนเดียว พ่อแม่พี่น้องเสียชีวิต มีอาชีพปลูกข้าวโพด บ้านเรือนไม่มีแม้แต่เก้าอี้นั่งและห้องน้ำ ต้องขับถ่ายตามป่าทุ่ง สาเหตุความยากจนของชายผู้นี้มาจากการคมนาคมจากบ้านสู่ภายนอกลำบาก ผลผลิตเข้าถึงตลาดยาก และเขาไม่มีทักษะไปประกอบอาชีพอื่น และติดสุรา มาตรการลดความยากจนแก่เขา คือ 1) ทำแผนลดความยากจนที่เหมาะกับความเป็นอยู่ของเขา 2) มอบทุนตั้งต้นสำหรับประกอบอาชีพ โดยขอเงินอุดหนุนจากรัฐให้เขาซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดไปปลูกเนื่องจากเขาไม่มีเงินพอ 3) รัฐจัดซื้อเฟอร์นิเจอร์พื้นฐานให้เขา 6 ชิ้น (ไม่ให้เงินไปซื้อเองเพื่อมิให้นำไปซื้อสุรา) มูลค่ารวมไม่เกิน 3 หมื่นบาท 4.สร้างห้องน้ำถูกสุขลักษณะให้

อีกครอบครัวที่ผู้เขียนจับคู่ช่วยเหลือเป็นบ้านพ่อลูกคู่หนึ่ง พ่อตาบอด ลูกคนโตไปเป็นคนงานในโรงงานที่มณฑลกวางตุ้ง ลูกชายคนเล็กดูแลพ่อที่บ้าน แม่เสียชีวิต บ้านของครอบครัวนี้อยู่เชิงเขา ต้องเดินขึ้นลงเขาหลายชั่วโมง สาเหตุหลักของความยากจนเกิดจากความเจ็บป่วยที่พ่อตาบอดดูแลตัวเองไม่ได้ ลูกชายต้องดูแลพ่อ ไปทำงานไม่ได้ ผู้เขียนได้ทำแผนลดความยากจนที่เหมาะกับครอบครัวนี้ และประสานให้รัฐช่วยรักษาตาของผู้เป็นพ่อฟรีตลอดชีพ และเนื่องจากบริเวณนั้นแผ่นดินถล่ม รัฐจึงให้เงินอุดหนุน  4 แสนบาท เพื่อสร้างบ้านใหม่

นักวิจัยหรือข้าราชการแต่ละคนที่ลงไปช่วยเหลือต้องบันทึกหลักฐานการทำงานและการใช้จ่ายเงินของตนอย่างละเอียด เพื่อให้คณะกรรมการระดับมณฑลและชาติตรวจสอบ ภารกิจของข้าราชการเหล่านี้จะเสร็จสิ้นและจะออกจากพื้นที่นั้นได้ถาวรเมื่อครอบครัวที่รับผิดชอบพ้นเส้นความยากจน โครงการนี้สำคัญกว่างานวิจัยของพวกเรา เพราะหากไม่ทำให้สำเร็จ รัฐบาลก็จะไม่ให้งบประมาณทำวิจัย อาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐในจีนส่วนใหญ่ก็ต้องไปจับคู่กับคนยากจนในชนบทของจีนด้วย โดยถือเป็นภารกิจที่สำคัญกว่าการสอนหนังสือ

เพราะหากชนบทยากจนของจีนยังไม่พัฒนา ประเทศจีนก็ไม่มีวันที่จะพัฒนาได้อย่างแท้จริง