posttoday

ฝรั่งเศสติดหล่ม แก้ปัญหาศก.เรื้อรัง

11 ธันวาคม 2561

เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาอาจกล่าวได้ว่าเหตุประท้วงต่อต้านรัฐบาลของกลุ่ม “เสื้อกั๊กเหลือง” ในฝรั่งเศส ทวีความรุนแรงจนถึงขีดสุดนับตั้งแต่เกิดการชุมนุมลุกฮือขึ้นมาในวันที่ 17 พ.ย.

นรินรัตน์ พรหมพิทักษ์

เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาอาจกล่าวได้ว่าเหตุประท้วงต่อต้านรัฐบาลของกลุ่ม “เสื้อกั๊กเหลือง” ในฝรั่งเศส ทวีความรุนแรงจนถึงขีดสุดนับตั้งแต่เกิดการชุมนุมลุกฮือขึ้นมาในวันที่ 17 พ.ย. โดยกลุ่มผู้ประท้วงต่างบุกเข้าไปทำลายร้านค้า จุดไฟเผารถยนต์จำนวนมากทั่วกรุงปารีส จนตำรวจรวบตัวผู้ก่อเหตุรุนแรงไปกว่า 1,200 คน ในวันที่ 8 ธ.ค.

แม้ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่เกิดการชุมนุมประท้วงขึ้นบ่อยครั้ง แต่เหตุการณ์ล่าสุดสะท้อนให้เห็นความเดือดดาลอย่างรุนแรงต่อรัฐบาล ทั้งจากจำนวนผู้เข้าร่วมการชุมนุมเกินหลักแสน และโพลสำรวจโดยนิตยสาร เลอ ฟิกาโร พบว่า 78% ของชาวฝรั่งเศสเชื่อว่ากลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองกำลังต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของคนในชาติ

เหตุประท้วงล่าสุดกำลังกลายเป็นปัจจัยฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจฝรั่งเศส ซึ่งจะเป็นความท้าทายใหญ่บั่นทอนอนาคตแผนปฏิรูปของรัฐบาลประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ทั้งสำหรับในฝรั่งเศสและอาจรวมถึงสหภาพยุโรป (อียู)

ล่าสุดนั้น ธนาคารกลางฝรั่งเศสปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจฝรั่งเศส (จีดีพี) ช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ โดยคาดว่าจะขยายตัว 0.2% จากไตรมาสก่อนหน้า ลดลงมาจากคาดการณ์เดิม ซึ่งคาดว่าจะขยายตัว 0.4% เนื่องจากการประท้วงของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองทั่วประเทศส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ

การหั่นคาดการณ์จีดีพีดังกล่าวส่งผลให้ฝรั่งเศสอาจไปไม่ถึงเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ 1.7% สำหรับตลอดทั้งปี 2018

ด้าน บรูโน เลอ แมร์ รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศส มองว่า การประท้วงของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองจะฉุดจีดีพีของฝรั่งเศสลง 0.1% ในไตรมาส 4 พร้อมเสริมว่า เหตุดังกล่าวคือ “หายนะ” สำหรับภาคธุรกิจ โดยเตือนว่ารายได้ของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกจะหายไปถึง 1,000 ล้านยูโร (ราว 3.7 หมื่นล้านบาท)

สำหรับชนวนเหตุที่เป็นฟางเส้นสุดท้ายจุดระเบิดการประท้วงขึ้นมา คือเรื่องการจะขึ้นภาษีน้ำมันในปีงบประมาณ 2019 โดยตั้งเป้าว่าภาษีดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลมีรายได้จากภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 1,900 ล้านยูโร (ราว 7.1 หมื่นล้านบาท) และจากภาคธุรกิจอีก 1,000 ล้านยูโร (ราว 3.7 หมื่นล้านบาท)

รัฐบาลมาครง ระบุว่า จุดมุ่งหมายของการขึ้นภาษีน้ำมัน คือเพื่อเอาเงินไปใช้ลงทุนพลังงานหมุนเวียนตามเป้าหมายต่อสู้กับภาวะโลกร้อนร่วมกันของอียู

อย่างไรก็ดี แผนการดังกล่าวนับว่าเกิดขึ้นผิดที่ผิดเวลา เพราะรถส่วนใหญ่ในฝรั่งเศสราว 52% ยังคงใช้เครื่องยนต์ดีเซลอยู่ การปรับขึ้นภาษีดังกล่าวจึงส่งผลให้ชาวฝรั่งเศสต้องแบกค่าน้ำมันมากขึ้น ท่ามกลางราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้นมาแล้ว 23% ตลอดช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

ราคาน้ำมันแพงถือเป็นหนึ่งในปัญหาเรื้อรังที่ชาวฝรั่งเศสต้องเผชิญ โดยนิวยอร์ก ไทม์ส รายงานว่า ราคาเชื้อเพลิง 1 แกลลอนในฝรั่งเศสอยู่ที่ 6 ดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า โดยภาษีคิดเป็นสัดส่วน 60% ของราคาเชื้อเพลิง เมื่อเทียบกับในสหรัฐที่เฉลี่ย 3 ดอลลาร์

แม้เหตุประท้วงรุนแรงล่าสุดทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศชะลอการขึ้นภาษีน้ำมันออกไปอีก 6 เดือน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากการโละภาษีน้ำมันเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเดียวของปัญหาเท่านั้น ท่ามกลางปัญหาเรื้อรังอื่นๆ มากมายรุมเร้า โดยเฉพาะเรื่องการต้องจ่ายภาษีสูงและค่าครองชีพแพง สวนทางกับรายได้ที่ลดลง

ล่าสุดนั้น ข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ระบุว่า ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่เก็บภาษีสูงที่สุดในโลกเมื่อปี 2017 โดยรายได้จากภาษีของรัฐบาลฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 46.2% ของจีดีพี สูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มโออีซีดีที่ 34.2% ของจีดีพี

ขณะที่รายได้ต่อครัวเรือนของชาวฝรั่งเศสลดลงเฉลี่ย 440 ยูโร (ราว 1.6 หมื่นบาท) ในช่วงปี 2008-2016 ตามข้อมูลของหน่วยงานวิจัยเศรษฐกิจฝรั่งเศส (โอเอฟซีอี) โดยรายได้เฉลี่ยรายเดือนต่อครัวเรือนก่อนหักภาษีอยู่ที่ราว 1,500-1,700 ยูโร (ราว 5.2-6.3 หมื่นบาท) ซึ่งสวนทางกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าไฟฟ้า ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10 ยูโรเมื่อปีที่แล้ว มาอยู่ที่ราว 100 ยูโร (ราว 3,752 บาท)

แม้เมื่อไม่นานนี้ รัฐบาลประกาศให้เงินช่วยเหลือครอบครัวรายได้ต่ำรวม 500 ล้านยูโร (ราว 1.8 หมื่นล้านบาท) แต่ก็ไม่สามารถบรรเทาความโกรธของผู้ประท้วงได้ โดยกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองเรียกให้รัฐบาลจัดการปัญหาอื่นๆ ด้วยเช่นกัน อาทิ การร้องขอขึ้นค่าแรง ลดภาษีส่วนอื่นๆ จ่ายเงินบำนาญมากขึ้น รวมถึงการขอผ่อนกฎให้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยให้ง่ายขึ้นด้วย

นอกจากการประกาศระงับแผนขึ้นภาษีน้ำมันจึงยังไม่ใช่แนวทาง แก้ปัญหาที่ตรงจุดแล้ว ยังอาจส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายลดสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณของฝรั่งเศสด้วยเช่นกัน โดยรัฐบาลมาครงต้องการลดสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณลงมาอยู่ที่ 2.8% ต่อจีดีพี ใกล้เคียงกับเพดานจำกัดของอียูที่ 3%

ในกรณีที่ฝรั่งเศสไม่สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ ยังเสี่ยงบั่นทอนเสียงของมาครงในการผลักดันการปฏิรูปด้านงบประมาณภายในอียู ซึ่งอียูจะหารือเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวในการประชุมสิ้นปีวันที่ 13-14 ธ.ค.นี้

เหตุการณ์ประท้วงครั้งล่าสุดจึงเป็นสัญญาณบ่งชี้สำคัญว่า ฝรั่งเศสต้องหาทางออกจัดการปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรังนี้อย่างจริงจัง ก่อนปัญหาดังกล่าวจะยิ่งทับถมหนักขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่ปะทุขึ้นในอนาคต