อาเซียนแล้งหนักถ้วนหน้า ผลผลิตเสียหาย-ขาดแคลนอาหาร
ประเทศในกลุ่มอาเซียนเผชิญอากาศร้อนจัด-ภัยแล้งรุนแรง ทำผลผลิตการเกษตรเสียหาย-เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร
ประเทศในกลุ่มอาเซียนเผชิญอากาศร้อนจัด-ภัยแล้งรุนแรง ทำผลผลิตการเกษตรเสียหาย-เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร
ไม่เฉพาะไทยเท่านั้นที่กำลังเผชิญกับภาวะอากาศร้อนเป็นประวัติการณ์ เพื่อนบ้านหลายประเทศในกลุ่มอาเซียนยังตกที่นั่งเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นภาวะแห้งแล้งและร้อนจัด ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อมนุษย์เท่านั้น แต่เริ่มสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตทางการเกษตรซึ่งเป็นที่พึ่งพิงของชาวโลก
หนังสือพิมพ์นิวสเตรตส์ไทม์สรายงานว่า รัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาเตือนให้เตรียมรับมือกับภาวะอากาศร้อนจัดที่กำลังถล่มมาเลเซียอย่างหนักหน่วง และคาดว่าจะเลวร้ายเท่ากับสถานการณ์เมื่อปี 1997-1998 หรือเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว และมีทีท่าว่าอากาศร้อนจัดจะยืดเยื้อไปจนถึงเดือน มิ.ย. แทนที่จะสิ้นสุดในเดือน เม.ย.ตามปกติ
เฟรโดลิน ตังอัง ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยกาบังกาเซม เตือนว่า ภัยแล้งยืดเยื้อในมาเลเซียเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนินโญ่ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว อาจก่อให้เกิดไฟป่าและปัญหาหมอกควันรุนแรงอันเป็นวิกฤตการณ์เรื้อรังในอาเซียนส่งผลกระทบมาถึงภาคใต้ของไทย
เมื่อผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจสอบลักษณะของปรากฏการณ์ในคราวนี้ พบว่ามีความคล้ายคลึงกับเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นวิกฤตจากสภาพอากาศแปรปรวนที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมาในประวัติศาสตร์ อุณหภูมิสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส และทำให้ปะการัง 16% ของโลกตายจนหมดสิ้น
รัฐบาลมาเลเซียไม่มีทางหลีกเลี่ยงวิกฤตการณ์นี้ แต่พยายามวางมาตรการรับมือล่วงหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับมือกับปัญหาขาดแคลนน้ำ การตรวจวัดระดับมลพิษในน้ำที่จะเพิ่มสูงขึ้นในสัดส่วนที่ผกผันกับปริมาณน้ำที่ลดลง รวมถึงการสกัดกั้นผู้วางเพลิงเผาป่าหรือพื้นที่เกษตรซึ่งอาจลุกลามกลายเป็นอัคคีภัยครั้งใหญ่จนเกิดหมอกควันไฟปกคลุมหลายพื้นที่ในภูมิภาค
ด้านอินโดนีเซีย สถานการณ์คับขันเช่นกันและอาจจะหนักหน่วงยิ่งกว่ามาเลเซียในขณะนี้ เนื่องจากภัยแล้งทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารเนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ส่งผลกระทบต่อประชาชนถึง 1.2 ล้านคน โดยเฉพาะใน จ.นูซา เตงการา ตุิมูร์ จนต้องขอรับความช่วยเหลือด้านอาหารจากรัฐบาล
ส่วนพื้นที่อื่นๆ มีแนวโน้มที่การทำนาอาจไม่ได้ผล เพราะชาวนาไม่สามารถเพาะปลูกได้ และทำให้เกษตรกรที่ยากจนต้องลดรายจ่ายและเผชิญกับความอดอยากกันถ้วนหน้า แม้ว่ารัฐบาลจะยืนยันว่ามีอาหารเพียงพอรองรับปัญหานี้ แต่สำนักข่าวอัลญะซีเราะฮ์ทำการสัมภาษณ์ อูจุง ซูปาร์มัน ผู้เชี่ยวชาญด้านภาคเกษตรซึ่งแนะให้รัฐบาลเร่งตรวจสอบสต๊อกอาหารในทันที เพื่อให้มั่นใจว่ามีปริมาณเพียงพอจริงๆ และควรเริ่มแจกจ่ายอาหารให้กับผู้ประสบภัยได้แล้ว
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันซึ่งอินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตอันดับ 1 ของโลกได้รับพิษภัยจากภาวะเอลนินโญ่เช่นกัน โดยสำนักข่าวจาการ์ตา โกลบ ได้สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมด้านนี้พบว่าปริมาณการผลิตอาจลดลงราว 32.1 ล้านตันในปีนี้ ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1998 หรือปีที่เกิดเอลนินโญ่ครั้งใหญ่เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน และอาจทำให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียลดลงครั้งแรกในรอบ 5 ปี
ส่วนฟิลิปปินส์ ผู้ผลิตน้ำมันมะพร้าวรายใหญ่ที่สุดในโลก คาดว่าปริมาณการผลิตจะลดลง 11% เนื่องจากเอลนินโญ่ ก่อนหน้านี้การผลิตข้าวและข้าวโพดได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปรากฏการณ์นี้เช่นกัน และรัฐบาลคาดว่าเอลนินโญ่อาจยืดเยื้อจนถึงช่วงกลางปีนี้
ที่มา www.m2fnews.com
ภาพ...เอเอฟพี