posttoday

ฝ่ายหนุนอียูพลิกขึ้นนำ หวั่น"เบร็กซิต"ก่อโดมิโนล้มยุโรป

20 มิถุนายน 2559

แม้อังกฤษจะตัดสินใจอยู่ต่อ แต่การลงประชามติจะก่อให้เกิดทัศนคติด้านลบต่ออียูของคนอังกฤษซึ่งจะกลายเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษ หรือเบร็กซิต จัดทำโดยบริษัทวิจัยตลาด 2 แห่ง เปิดเผยเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่าคะแนนเสียงของผู้ที่ต้องการโหวตอยู่ต่อในอังกฤษกลับมามีคะแนนขึ้นนำได้อีกครั้ง

ผลสำรวจความเห็นเมื่อวันที่ 16-17 มิ.ย.ที่ผ่านมาของยูโกฟ ในหนังสือพิมพ์ ซันเดย์ ไทมส์ พบว่า ชาวอังกฤษที่ต้องการโหวตอยู่ต่อในอียูมีคะแนนนำอยู่ที่ 44% ต่อ 43% อย่างไรก็ดี ซันเดย์ ไทมส์ ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงในความเห็นดังกล่าวไม่ได้เป็นผลมาจากเหตุการณ์ฆาตกรรม โจ ค็อกซ์ สมาชิกรัฐสภาหญิงจากพรรคฝ่ายค้าน ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสนับสนุนแคมเปญอยู่ต่อในอียูที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.

“ตอนนี้เราอยู่ในสัปดาห์สุดท้ายของโครงการรณรงค์ลงคะแนนเสียงประชามติแล้ว และโมเมนตัมของคะแนนเสียงก็ได้เปลี่ยนกลับมาอยู่ในสถานะที่ทั้งสองฝ่ายมีคะแนนเสียงใกล้เคียงกัน” แอนโทนี เวลส์ กรรมการของบริษัทวิจัย ยูโกฟ ระบุ

นอกจากนี้ เวลส์ ระบุว่า การหันมาสนับสนุนให้อยู่ต่อในอียูเป็นผล โดยหลักมาจากความกังวลผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่า โดยผลสำรวจความเห็นของยูโกฟในวันที่ 15-16 มิ.ย. พบว่าฝ่ายโหวตออกมีคะแนนนำลดลง โดยทิ้งห่างฝ่ายโหวตอยู่เพียง 2% เท่านั้น ทั้งที่ในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้ผลสำรวจความคิดเห็นในอังกฤษ 5 แห่งพบว่าคะแนนโหวตออกจากอียูมีคะแนนนำทิ้งห่าง ซึ่งก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดทุนโลกและยังได้ฉุดค่าเงินปอนด์ให้อ่อนค่าลงอย่างหนัก

อย่างไรก็ดี สำนักข่าวเอพี เปิดเผยว่า ผลสำรวจความเห็นล่าสุดเมื่อวันที่ 17-18 มิ.ย. หลังเกิดเหตุฆาตกรรมค็อกซ์ โดย เซอร์เวชั่น เปิดเผยว่า ฝ่ายโหวตอยู่มีคะแนนนำเพียง 3% หรือ 45% ต่อ 42% สวนทางกับผลสำรวจเดียวกันในช่วงก่อนเกิดเหตุสะเทือนขวัญดังกล่าว ที่ฝ่ายโหวตออกที่มีคะแนนนำ 3% ซึ่งทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตว่าการเพิ่มขึ้นของกลุ่มสนับสนุนอียู อาจจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งดังกล่าว ร่วมกับความกังวลด้านเศรษฐกิจ ขณะที่สำรวจของโอพิเนียมพบว่าทั้งสองฝ่ายมีคะแนนเท่ากันที่ 44%

ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ตั้งข้อหากับมือปืน โทมัส แมร์ วัย 52 ปี ในข้อหาฆาตกรรม ส่วนบรรดานักการเมืองได้ร่วมส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียวผ่านการร่วมไว้อาลัยที่รัฐสภาในวันที่ 20 มิ.ย.นี้

ทั้งนี้ เหตุการฆาตกรรมค็อกซ์ ทำให้โครงการรณรงค์ของทั้งสองฝ่ายต้องยุติลงตลอดสองวันหลังเกิดเหตุ ต่อมาวันที่ 19 มิ.ย. นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ได้ออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง โดยระบุผ่าน ซันเดย์ เทเลกราฟ ว่า หากผลการลงประชามติให้ออกจากอียูแล้วจะไม่สามารถกลับมาเปลี่ยนแปลงได้อีก รวมทั้งยังอาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอังกฤษอีกด้วย ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนเบร็กซิต อย่าง ไมเคิล โกฟ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมอังกฤษ ระบุกับหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันว่า อังกฤษจะไม่เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่กลับจะเติบโตดีขึ้นหากออกจากอียู

ล่าสุด ฌอง อัสเซลบอร์น รัฐมนตรีต่างประเทศลักเซมเบิร์ก ระบุว่า การออกจากอียูของอังกฤษอาจจะกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวภายในประเทศของประเทศสมาชิกอียูอื่นๆ โดยเฉพาะยุโรปตะวันออก ที่อาจจะเรียกร้องให้มีการลงมติออกจากอียูตามมา ในลักษณะของผลกระทบแบบโดมิโนและยังโจมตีการตัดสินใจเปิดทางให้มีการลงมติของ
คาเมรอนว่าเป็นความผิดพลาดครั้งประวัติศาสตร์

“แม้อังกฤษจะตัดสินใจอยู่ต่อ แต่การลงประชามติจะก่อให้เกิดทัศนคติด้านลบต่ออียูของคนอังกฤษซึ่งจะกลายเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้” อัสเซลบอร์น กล่าว

อัสเซลบอร์น ระบุว่า ก่อนหน้านี้ได้มีความคิดแยกตัวออกจากยุโรปแพร่หลายในโปแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในฝั่งยุโรปตะวันออก และยังเป็นประเทศที่ได้เงินทุนสำหรับปรับโครงสร้างก้อนใหญ่ที่สุดในอียู โดยพรรคอนุรักษนิยมในโปแลนด์ที่มีแนวคิดต่อต้านอียูได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว และรัฐบาลโปแลนด์ได้วิจารณ์กฎระเบียบของอียูมาตลอด โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก ประชาธิปไตย พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ขณะที่ฝ่ายต่อต้านอียูก็ได้ยกประเด็นเรื่องเศรษฐกิจและเงินกองทุนที่อังกฤษต้องจ่ายให้อียูมาเป็นประเด็นชูโรงในการรณรงค์

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าววีโอเอเปิดเผยรายงานของสถาบันวิจัยพิวรีเสิร์ช พบว่าอียูกำลังได้รับการยอมรับลดลงจากประชากรยุโรปหลายประเทศ ซึ่งสร้างความกังวลว่าการลงประชามติของอังกฤษอาจทำให้ประเทศยุโรปอื่นๆ ต้องการลงประชามติตามมาด้วย โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวยุโรปยอมรับอียูลดลง มาจากวิกฤตผู้อพยพ ซึ่งชาวยุโรป 94% ไม่พอใจนโยบายผู้อพยพของอียู

รายงานสำรวจความเห็นประชากรยุโรป 1 หมื่นคน พบว่าชาวยุโรปส่วนใหญ่ไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของอียู นอกจากนี้ยังพบว่าจำนวนชาวฝรั่งเศสที่มีทัศนคติด้านบวกต่ออียูลดลงมาอยู่ที่ 38% จาก 69% เมื่อปี 2004

ทิม โอลิเวอร์ นักวิเคราะห์จากมหาวิทยาลัยแอลเอสอี ในกรุงลอนดอนของอังกฤษ ระบุว่า การลงมติของอังกฤษจะกลายเป็นตัวอย่างให้ประเทศยุโรปอื่นๆ และคาดการณ์ว่าอียูอาจจะหาทางลงโทษอังกฤษในทางเศรษฐกิจ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยในประเทศอื่นๆ หากอังกฤษออกจากอียู

นอกจากนี้ นิก โคเฮน คอลัมนิสต์ประจำหนังสือพิมพ์ ดิออบเซอร์ฟเวอร์ ในอังกฤษ ระบุว่า เห็นได้ชัดว่าในขณะนี้ กลุ่มอนุรักษนิยมฝ่ายขวาจัดกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งหากอังกฤษออกจากอียูจะถือเป็นการสะท้อนชัยชนะของฝ่ายขวาเหล่านี้ อย่างไรก็ดีแม้จะออกจากอังกฤษแล้ว โคเฮนเชื่อว่าปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน ปัญหาสิ่งแวดล้อม และอุดมการณ์การเมืองชาตินิยมผิวขาวจะยังเกิดขึ้นต่อไป

ล่าสุด องค์การการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกรายงานเตือนว่า หากอังกฤษออกจากอียูจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเครือข่ายเศรษฐกิจทั้งหมด พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทั่วโลกเตรียมรับมือเพื่อลดความผันผวนที่จะเกิดขึ้น