7 หายนะที่จะเกิดขึ้น เมื่อคุณเดินทางไปดาวอังคาร
ในอนาคตมนุษย์อาจสามารถตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารได้ แต่ใช่ว่าจะไม่มีความเสี่ยงเลย เว็บไซต์ Vox ได้รวบรวมหายนะที่จะเกิดขึ้นในทริปเดินทางไปยังดาวเคราะห์สีแดงนี้
ในอนาคตมนุษย์อาจสามารถตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารได้ แต่ใช่ว่าจะไม่มีความเสี่ยงเลย เว็บไซต์ Vox ได้รวบรวมหายนะที่จะเกิดขึ้นในทริปเดินทางไปยังดาวเคราะห์สีแดงนี้
เมื่อไม่กี่วันก่อน อีลอน มัสก์ เพิ่งจะเสนอแผนการขนส่งผู้คนไปยังดาวอังคารของเขา ที่ฟังดูทั้งน่าเหลือเชื่อ และน่าตื่นเต้น ในขณะเดียวกันเขาเองก็เอาจริงเอาจังจนแผนดังกล่าวดูมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นจริงในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าเลยทีเดียว
แต่สิ่งหนึ่งที่มัสก์ไม่ได้กล่าวถึงคือความเสี่ยงของการเดินทางครั้งประวัติศาสตร์นี้ เว็บไซต์ Vox จึงได้รวบรวมความน่าจะเป็น 7 ประการของหายนะที่จะเกิดขึ้นกับคุณผู้อ่าน หากสนใจที่จะเดินทางไปยังดาวอังคารกับอีลอน มัสก์
1. จรวดที่คุณโดยสารอาจระเบิดตั้งแต่ยังไม่ออกจากโลก
มัสก์วางแผนที่จะขนส่งผู้คนจำนวนมากไปยังดาวอังคารด้วยจรวดขนาดใหญ่ ใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยสร้างมา แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าจรวดคือความเสี่ยงโดยแท้จริง เพราะหากมีอะไรผิดพลาดและเกิดระเบิดขึ้นมาบรรดาผู้โดยสารทั้งหมดจะเสียชีวิต
ด้วยความเสี่ยงนี้ทำให้นาซ่าระงับโปรแกรมการเดินทางด้วยกระสวยอวกาศ ซึ่งจะขนส่งผู้คนจำนวน 833 คนมาแล้ว ในช่วงปี 1981 - 2011 ค่าความเสี่ยงของการออกเดินทางไปยังอวกาศนั้นอยู่ที่ 1.6% ซึ่งอันตรายยิ่งกว่าการขับรถ และปีนยอดเขาเอเวอเรสต์เสียอีก (ในขณะที่ค่าความเสี่ยงของยานอพอลโล ที่เคยเดินทางไปยังดวงจันทร์นั้นอยู่ที่ 8-9%)
อย่างไรก็ดีเทคโนโลยีจาก SpaceX จะสร้างจรวดที่ใหม่ และทันสมัยกว่าเดิม รวมถึงมีการทดสอบการบินจริงก่อนเดินทาง แต่ก็อย่าลืมว่าไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะทำให้อัตราความเสี่ยงมีค่าที่ 0% อยู่ดี
2. คุณจะถูกรังสีจากดวงอาทิตย์แผดเผา
ในการเดินทางไปยังดาวอังคารผู้คนจะได้รับรังสีมากกว่าที่ได้รับบนโลก เพราะอวกาศนั้นไม่ได้ว่างเปล่าอย่างที่คิด แต่เต็มไปด้วยรังสีและอนุภาคต่างๆมากมาย เมื่ออยู่บนโลกเราได้รับการปกป้องจากรังสีเหล่านี้ด้วยสนามแม่เหล็ก แต่การออกเดินทางไปยังดาวอังคารนั้นต่างไปอย่างสิ้นเชิง
เมื่อนาซ่าส่งยานสำรวจไปนังดาวอังคาร พวกเขาค้นพบว่าการเดินทาง 1 เที่ยวนั้นสามารถสร้างรังสีสะสมในตัวนักบินอวกาศได้ถึง 0.3 ซีเวอร์ต หรือเทียบเท่ากับการทำงานในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (1 ซีเวอร์ตจะเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็ง 5.5% ในขณะที่หากสะสมถึง 8ซีเวอร์ต ผู้สะสมจะเสียชีวิต)
ดังนั้นแล้วทริปเดินทางนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคิดหาวิธีปกป้องผู้โดยสารจากรังสี ซึ่งคริส แมคเคย์ นักวิจัยอาวุโสของนาซ่าเคยกล่าวไว้ว่า น้ำน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีในการเป็นเกราะกำบังรังสี ทั้งนี้หากเดินทางไปถึงแล้ว การอยู่อาศัยบนนั้นก็มีความเสี่ยงเช่นกัน เพราะดาวอังคารไม่มีโอโซน และสนามแม่เหล็กเหมือนโลก ผู้คนจะถูกแผดเผาจากรังสี และยูวีที่ปลดปล่อยออกมาจากดวงอาทิตย์ ซึ่งการสร้างสถานีอวกาศใต้ดินอาจเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ในอนาคต
3. ยานของคุณจะตกเมื่อพยายามลงจอดยังดาวอังคาร
ในที่สุดคุณก็ผ่านการเดินทางตลอด 6 เดือนมาได้ และมาถึงดาวอังคาร แต่ก็ใช่ว่าจะปลอดภัยจากโศกนาฏกรรมที่พบเห็นได้ทั่วไปนั่นคือ ยานตก นาซ่ากล่าวว่าชั้นบรรยากาศของดาวอังคารนั้นมีความหนาแน่นมากกว่าโลก ดังนั้นหากจะลงจอดอย่างปลอดภัย ยานจำเป็นต้องพุ่งตัวด้วยความเร็วมากๆ และต้องใช้แรงขับเคลื่อนจากเชื้อเพลิงจำนวนมากเลยทีเดียว
ทั้งนี้นาซ่าใช้วิธีการลงจอดยานสำรวจของเขาด้วยร่มชูชีพ แต่นั่นคือยานที่มีน้ำหนักเพียง 1 ตัน ซึ่งสำหรับโครงการของมัสก์แล้ว ยานของเขาอาจมีน้ำหนักมากถึง 450 ตัน การหาวิธีลงจอดคือความท้าทายแบบหนึ่ง
4. แรงโน้มถ่วงที่ต่ำของดาวอังคารจะสร้างหายนะให้กระดูกและกล้ามเนื้อ
นี่คือสิ่งที่ภาพยนตร์ไซไฟไม่ค่อยนำเสนอ แต่แรงโน้มถ่วงที่ต่ำเป็นความกังวลมากอย่างหนึ่ง ถึงแม้ว่าบรรดานักบิวอวกาศจะได้รับการฝึกฝนในเครื่องสูญญากาศก็ตาม แต่ในระหว่างดำรงชีวิตนอกโลกนั้นกระดูกกำลังสูญเสียแคลเซียมไปเรื่อยๆ ซึ่งมันจะฟื้นฟูได้อีกครั้งเมื่อกลับมายังโลก
แรงโน้มถ่วงบนนั้นมีค่าเพียง 0.38 ของโลก ถึงแม้ว่าจะมีงานวิจัยยืนยันว่ามนุษย์สามารถใช้ชีวิตบนดาวอังคารได้ก็ตาม และยังกระโดดได้สูงขึ้นอีกด้วย แต่ก็ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงแน่ชัดอยู่ดีว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายของมนุษย์
5. เมื่อเกิดอุบัติเหตุกับชุดอวกาศ เราจะขาดอากาศตาย
ในอนาคตคาดการณ์กันว่ามนุษย์จะสามารถผลิตก๊าซออกซิเจน จากคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากเครื่องจักรได้ แต่หากเกิดอุบัติเหตุเพียงนิดหน่อยบนนั้น มนุษย์จะตายทันทีจากการขาดอากาศหายใจ ซึ่งนั่นแปลว่าเที่ยวการเดินทางนอกจากผู้โดยสารแล้ว จำเป็นต้องขนส่งน้ำ, อาหาร และอากาศขึ้นไปบนนั้นอย่างมหาศาลเลยทีเดียว
สำหรับน้ำมัสก์เคยกล่าวไว้ว่าอาณานิคมของมนุษย์บนดาวอังคารอาจใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ หรือความร้อนใต้พิภพ และหากทำให้ดาวอังคารอุ่นขึ้นได้ มันก็จะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง น้ำแข็งจะละลายและช่วยให้มนุษย์มีน้ำใช้ ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจเป็นเช่นนั้นก็ได้
6. คนเราอาจตายจากพิษในดินของดาวอังคาร
นักวิทยาศาสตร์กังวลกันว่าดินของดาวอังคารนั้นเป็นพิษ และเต็มไปด้วยสารเพอโคเรท เกลือชนิดหนึ่งที่จะสร้างความเสียหายแก่ต่อมไทรอยด์ของมนุษย์ สารนี้หากสัมผัสไม่เกิดอันตราย แต่หากทานลงไปจากอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนมันอันตรายมาก และไม่เหมาะที่จะเพาะปลูกใดๆ
ด้านแมคเคย์เคยกล่าวไว้ว่าตัวเขามั่นใจว่าไม่มีสิ่งมีชีวิตใดๆบนดาวอังคาร แต่ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัด อย่าลืมว่าข้างนอกนั่นยังมีสิ่งที่ไม่รู้อีกมาก และบนดาวอังคารอาจมีจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อเราก็เป็นได้
7. เพื่อนร่วมทางของคุณอาจกลายเป็นบ้า
หนึ่งในความท้าทายก็คือจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเพื่อนร่วมทางของคุณ ไม่เกลียดคุณ ในระหว่างที่เขาต้องจากบ้าน ครอบครัว และเพื่อนๆของเขามาเป็นเวลานาน ในสภาพแวดล้อมใหม่ ในช่วงปี 2007 - 2011 นาซ่าเคยทำการทดลองนำคน 6 คนมาอยู่ร่วมกัน ในภารกิจที่สมมุติว่าพวกเขาอยู่บนดาวอังคาร หลังเสร็จสิ้นภารกิจตลอด 520 วันไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามไม่มีวิธีคัดกรองทางจิตวิทยาที่จะทราบได้ สำหรับการคัดเลือกคนจำนวนมากในการอาศัยอยู่บนดาวอังคาร
ทั้งนี้สิ่งที่เกิดขึ้นตอกย้ำความสำคัญอบ่างมากว่าผู้ที่จะเดินทางไปยังดาวอังคารต้องมีความพร้อมทั้งทางกาย และจิตใจอย่างมาก เพราะเรื่องดราม่าเพียงเล็กๆน้อยๆ อาจหมายถึงชีวิตเลยทีเดียว
การเดินทางไปยังดาวอังคารมีความเสี่ยงก็จริง แต่ใช่ว่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้คุณผู้อ่านไม่กล้าออกไป ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาความอยากรู้อยากเห็นเป็นหนึ่งในคุณสมบัติของมนุษย์ และทุกๆการสำรวจให้อะไรกลับมาเสมอ แน่นอนในชีสิตทุกคนมีความเสี่ยงอยู่แล้วแม้เป็นเพียงการขับรถยนต์ หรือข้ามถนนก็ตาม ฉะนั้นแมคคีย์แนะนำให้ผู้กล้าทุกคนยอมรับความเสี่ยงเหล่านี่้ และออกเดินทางทำตามดังใจฝันเสีย