posttoday

นโยบาย "ทรัมป์" สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังสหรัฐได้ผู้นำใหม่

10 พฤศจิกายน 2559

ส่องนโยบาย "โดนัลด์ ทรัมป์" ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐและผลกระทบต่อประเทศไทย

ส่องนโยบาย "โดนัลด์ ทรัมป์" ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐและผลกระทบต่อประเทศไทย

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 45 เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา นับว่าเป็นหนึ่งในผลการเลือกตั้งที่พลิกความคาดหมายครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์สหรัฐ เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีวัย 70 ปีจากพรรครีพับลิกันได้รับชัยชนะเหนือ ฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งจากพรรคเดโมแครต

ทั้งนี้ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่จะเข้าสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค. 2560 ซึ่งหากไล่เรียงนโยบายที่ ทรัมป์เคยประกาศไว้ในช่วงหาเสียง ก็พอจะสรุปนโยบายสำคัญที่จะนำไปสู่การปฏิบัติในยุคที่สหรัฐมีประธานาธิบดีชื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ดังนี้

แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ

-สนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ แต่ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการลงทุน

การสร้างงาน

-เสนอมาตรการภาษีเอื้อต่อภาคการผลิต

-ตั้งกำแพงภาษีสำหรับสินค้านำเข้าจากจีนและเม็กซิโก เพื่อให้บริษัทของสหรัฐฯกลับมาลงทุนภายในประเทศ

การกระจายรายได้

-สนับสนุนขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 10ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมงทั่วประเทศโดยกระตุ้นให้รัฐเพิ่มอัตราแรงงานขั้นต่ำที่เหมาะสมกับค่าครองชีพ

-ปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลต่างๆ และยกเลิกภาษีมรดกและภาษีสมรส

แรงงานต่างชาติ

-สร้างกำแพงที่เขตแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโกเพื่อป้องกันผู้ลักลอบเข้าเมือง

-สนับสนุนกฎหมายเพื่อลดการจ้างงานแรงงานผิดกฎหมาย และผลักดันแรงงานผิดกฎหมายกว่า 11 ล้านคนออกนอกประเทศ

-ห้ามชาวมุสลิมเดินทางเข้าสหรัฐฯ เพื่อป้องกันการก่อการร้าย

การค้าระหว่างประเทศ

-ยกเลิกการเจรจาข้อตกลงการค้า TPP

-แก้ไขข้อตกลงทางการค้า the North American Free Trade Agreement (NAFTA) และความตกลงการค้าเสรีเกาหลีใต้-อเมริกา (Korea-US Free Trade Deal)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐว่า  ผลการเลือกตั้งที่เหนือความคาดหมายทำให้ความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นผลลบต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม และทำให้นักลงทุนตื่นตระหนกในระยะสั้นคล้ายกับในกรณีของ Brexit เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากนโยบายสุดโต่งที่ ทรัมป์ ใช้ในการหาเสียงเป็นไปในทิศทางที่ต่อต้านความเชื่อเดิม (anti-establishment) อย่างการตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีนและเม็กซิโก หรือการเนรเทศแรงงานผิดกฏหมายกว่า 11 ล้านคนออกนอกสหรัฐฯ ซึ่งหากนโยบายดังกล่าวมีการนำมาใช้จริงอาจจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวได้

อย่างไรก็ดี นโยบายส่วนใหญ่อย่างการลดภาษีรายได้จะต้องได้รับการเห็นชอบจากสภาคองเกรส ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีพรรครีพับลิกันเป็นเสียงส่วนใหญ่แต่ก็มีความขัดแย้งภายในพรรคสูงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยจากอดีตที่ผ่านมาสภาคองเกรสที่เป็นรีพับลิกันค่อนข้างให้ความสำคัญต่อการลดการขาดดุลการคลัง และสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งต่างจากนโยบายของ ทรัมป์ ดังนั้น ความน่ากังวลจึงอยู่ที่สิ่งที่ประธานาธิบดีมีอำนาจสั่งการโดยไม่ผ่านสภาคองเกรส อาทิ สามารถตั้งกำแพงภาษีระยะสั้น นโยบายความสัมพันธ์ทางการทูตและทหาร เป็นต้น

สำหรับไทย อีไอซีมองผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะมาจากด้านการค้า หากเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยอย่างสหรัฐฯ และจีนมีการชะลอตัว การส่งออกไทยที่ฟื้นตัวในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาก็อาจจะสูญเสียแรงส่งไป การค้าโลกโดยรวมอาจจะหดตัวหากนโยบายการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ทวีความรุนแรงจนเป็นสงครามการค้า นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยอาจจะได้รับผลกระทบจากตลาดการเงินโลกที่จะผันผวนรุนแรงขึ้นจากความไม่แน่นอนของนโยบาย ทรัมป์ อีกด้วย ในปี 2017 ยังคงมีอีกหลายเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญที่ต้องจับตามอง ทั้งกรณี Brexit รวมถึงการเลือกตั้งในฝรั่งเศสและเยอรมนี ซึ่งล้วนแล้วแต่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

ภาพ...เอเอฟพี