พระราชวังเว้ อาณาจักรต้องห้ามแห่งเวียดนาม
เว้เคยเป็นเมืองหลวงของประเทศเวียดนามราว 400 ปี ตั้งแต่ยังมีระบอบกษัตริย์
โดย...กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย
เว้เคยเป็นเมืองหลวงของประเทศเวียดนามราว 400 ปี ตั้งแต่ยังมีระบอบกษัตริย์ ทว่าความรุ่งเรืองยังมีให้เห็นที่ “พระราชวังเว้” และหมู่โบราณสถานในเมืองที่ถูกขึ้นเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2536 เมืองนี้มักนำไปเปรียบกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและสุโขทัย แต่จะเทียบกันไม่ได้ไม่ว่าด้านใด โดยเฉพาะความงามของสถาปัตยกรรมเพราะรูปแบบนั้นต่างกันสิ้นเชิง
พระราชวังเว้ได้รับอิทธิพลจากจีนมาเต็มเหนี่ยวเพราะถูกปกครองโดยจีนนับพันปี ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม สี สัญลักษณ์ จนถึงตัวอักษรที่เขียนแบบจีนแต่ออกเสียงต่างไป พระราชวังมีพื้นที่กว่า 5.2 ตร.กม. มีกำแพงเมือง 3 ชั้น ซึ่งคำในภาษาอังกฤษใช้ว่า Imperial Citadel Hue หรือป้อมปราการกษัตริย์ หรือพูดให้เข้าใจง่ายคือ อาณาจักรของกษัตริย์ภายในป้อมปราการ
ไล่เรียงกันไปในแต่ละชั้น กำแพงเมืองชั้นที่ 1 คือ ป้อมปราการเมืองหลวงเว้ (Kinh Thah Hue) ล้อมรอบเมืองเป็นสี่เหลี่ยมยาวประมาณ 10 กม. มีทางเข้า 10 ทาง และมีป้อมระวังภัย 24 ป้อม สังเกตได้ง่ายด้วยเสาธงชาติเวียดนาม ด้านซ้ายขวาจะมีซุ้มปืนใหญ่ ฟากหนึ่งมี 4 กระบอก แทนฤดูกาลทั้ง 4 คือ ร้อน ฝน ใบไม้ผลิ และหนาว ส่วนอีกฟากมี 5 กระบอก แทนธาตุทั้ง 5 ในจักรวาล ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ และโลหะ ตามความเชื่อแบบจีน
ชั้นที่ 2 ป้อมปราการหลวง (Hoang Thanh) แต่ละด้านมีความยาวมากกว่า 600 ม. ปัจจุบันประตูเมืองทั้ง 4 ประตูเปิดให้ทุกคนสัญจร ต่างจากในอดีตที่ประตูทางทิศใต้ (จุดขายตั๋ว) เป็นทางเข้าออกสำหรับกษัตริย์เท่านั้น ประตูนี้จะเปิดตรงสู่ท้องพระโรงนามว่าพระราชวังไทฮัว หรือไท่ฮัว หรือไทฮวา (Thai Hoa Palace) ซึ่งเป็นไฮไลต์ของทั้งหมด
มองจากภายนอกก็ทราบว่าพระราชวังไทยฮัวเป็นที่สำหรับกษัตริย์ เพราะกระเบื้องหลังคาสีเหลืองและลวดลายมังกรที่สงวนไว้เฉพาะกษัตริย์เท่านั้นยังคงสมบูรณ์ ส่วนด้านหน้าเป็นลานโล่งเพื่อให้จอหงวนยืนเข้าเฝ้าตามตำแหน่ง หลายคนอาจสงสัยว่าใบเสมาหน้าพระราชวังคืออะไร แท้จริงแล้วมันคือหลักศิลาที่สลักตำแหน่งของจอหงวนไว้ เพื่อความเป็นระเบียบในการเข้าเฝ้า
ส่วนภายในเป็นโถงกว้างทำจากไม้ทั้งหลัง มีเพียงบัลลังก์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ (ภายในห้ามถ่ายภาพ) ในอดีตจะมีจอหงวนที่เก่งที่สุดเพียง 4 คนเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ยืนอยู่รอบบัลลังก์ และภายในยังคงสมบูรณ์ด้วยรายละเอียดไม่ว่าจะเป็นบังลังก์ไม้สลักที่เพียงมองก็น่าเกรงขาม หรือเพดานลายวิจิตร ซึ่งความงามนี้ยิ่งน่าทึ่งถ้าได้รู้ว่าถัดไปเพียงไม่กี่ก้าวเคยถูกระเบิดทำลายจนไม่เหลือซาก บริเวณนั้นคือลานกว้างด้านหลังท้องพระโรงที่เคยเป็นห้องทรงงานของกษัตริย์มาก่อน ที่ตอนนี้ไม่เหลือแม้เค้าโครง
ถัดจากท้องพระโรงไปจะเจอกับกำแพงชั้นสุดท้ายที่แค่ชื่อก็อยากเข้าไปคือ “ป้อมปราการต้องห้าม” (Tu Cam Thanh) ภายในกำแพงเป็นที่ประทับของกษัตริย์ทั้ง 13 พระองค์ ในราชวงศ์เหงียนและครอบครัว มีอีกชื่อว่าพระราชวังสีม่วง (Purple Palace) มีที่มาลึกซึ้งจากแสงแรกของพระอาทิตย์ที่มองเห็นเป็นสีม่วง สามารถอธิบายด้วยแถบรุ้งกินน้ำที่เมื่อแสงหักเหจะเห็นเป็นสีรุ้ง ซึ่งมีสีม่วงเป็นสีแรกนั่นเอง
กำแพงชั้นนี้มีประตูเข้าออก 7 ประตู ภายในมีสิ่งปลูกสร้างที่แตกต่างกันถึง 50 หลัง เช่น วังส่วนตัวของกษัตริย์ ที่พักของพระมเหสี ที่พักของสนม ห้องมหรสพ ห้องครัวสำหรับปรุงพระกระยาหารของกษัตริย์โดยเฉพาะ ห้องอ่านหนังสือ และสวนดอกไม้ ซึ่งบางส่วนก็ทรุดโทรมไปตามเวลาและไม่เปิดให้เข้าชมทุกหลัง ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะเดินไปตามทางเดิน แวะชมบางที่อย่างห้องมหรสพ ที่พักฮองเฮา (พระมารดากษัตริย์) พิพิธภัณฑ์ราชวงศ์เหงียน รวมถึงห้องถ่ายภาพที่มีเครื่องแต่งกายให้นักท่องเที่ยวแปลงกายเป็นกษัตริย์และพระมเหสีจำลอง
ถ้าต้องการชมพระราชวังเว้ให้ครบต้องใช้เวลาครึ่งค่อนวันและใช้พละกำลังมาก เพราะต้องเดินลูกเดียวและไม่ค่อยมีร่มไม้ให้หลบร้อน แต่ก็คุ้มค่าที่จะเสียเพราะการเรียนรู้คุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมแบบไหนก็คงไม่ดีเท่าเห็นของจริง ทั้งความรุ่งเรืองของระบอบกษัตริย์ อิทธิพลอันแกร่งกล้าของจีน และความโศกของสงครามที่ยังคงคละคลุ้งอยู่ในพระราชวังต้องห้ามแห่งนี้