“รถหน่วยคัดกรองมะเร็งนรีเวช” พร้อมลงพื้นที่ห่างไกล ตรวจฟรีไม่มีค่าบริการ
กฟฝ. ร่วมสนับสนุนโครงการ “หน่วยคัดกรองมะเร็งนรีเวช” เคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ พร้อมให้บริการสตรีในพื้นที่ห่างไกลต้นปี 2568 ฟรีไม่มีค่าบริการ
มะเร็งปากมดลูกภัยเงียบที่คร่าชีวิตผู้หญิงจำนวนมาในแต่ละปี ส่วนหนึ่งมาจากการตรวจพบที่ช้าเกินเยียวยา เพราะหากผู้หญิงสามารถทำการตรวจภายในทุกปีและตรวจมะเร็งทุกๆ 5 ปีได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะสามารถลดความเสี่ยงในการสูญเสียชีวิตได้หากพบเชื้อมะเร็งไวในระยะเริ่มแรกไม่ใช่ระยะที่ลุกลามจนยากต่อการรักษา
รู้จักภัยเงียบที่ผู้หญิงหวาดกลัว
มะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรีเป็นมะเร็งที่ค่อนข้างมีปัญหาในการวินิจฉัย เนื่องจากเป็นอวัยวะที่อยู่ในอุ้งเชิงกรานซึ่งสามารถวินิจฉัยได้โดยการตรวจภายใน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่อยากไปพบแพทย์เพราะอายและกลัวเจ็บจากการตรวจ ทำให้การวินิจฉัยเป็นไปด้วยความลำบากและล่าช้า ซึ่งเป็นผลเสียต่อการรักษา เพราะการรักษาในระยะเริ่มแรกจะได้ผลดีกว่าการรักษาในระยะลุกลาม
มะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรีที่พบบ่อยที่สุดและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญที่สุด ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โดยมะเร็งปากมดลูกพบได้ประมาณ 17 คน ต่อ 100,000 คน มะเร็งรังไข่พบได้ ประมาณ 8 คน ต่อ 100,000 คน และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกพบได้ 7 คน ต่อ 100,000 คน
ในมหามงคลสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ในโอกาสนี้มูลนิธิกาญจนบารมีจึงได้จัดทำ โครงการ “หน่วยคัดกรองมะเร็งนรีเวช” เคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ และเห็นความสำคัญของการรณรงค์ให้สตรีที่อยู่ห่างไกลและด้อยโอกาสและที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการป่วยจากมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรีให้ได้รับการตรวจค้นหามะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรีระยะเริ่มแรก โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น โดยการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนออกรณรงค์ให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการป้องกันมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรี และตรวจคัดกรองค้นหามะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรี หากพบความผิดปกติจะได้ส่งต่อเข้ารับการรักษาตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข
และในโอกาสที่เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองการดําเนินงาน ครบรอบ 55 ปี ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ร่วมสนับสนุนโครงการ “หน่วยคัดกรองมะเร็งนรีเวช” เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยสนับสนุนรถหน่วยคัดกรองมะเร็งนรีเวช จำนวน 1 คัน พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น กล้องส่องตรวจปากมดลูก เครื่องที่ทำลายเนื้อเยื่อปากมดลูก เครื่องนึ่งฆ่าเชื้อโรคและอุปกรณ์การตรวจภายใน ด้วยงบประมาณที่ กฟผ. มอบแก่มูลนิธิกาญจนบารมีรวมเป็นจํานวนเงิน 78,960,400 บาท
โดยรถตรวจคัดกรองมะเร็งนรีเวชที่ กฟผ. สนับสนุนจะออกหน่วยไปพร้อมขบวนรถตรวจมะเร็งเต้านมซึ่งจะออกให้บริการทุกวัน ในเวลาราชการวันละ 1 อําเภอ เพื่อให้สามารถตรวจคัดกรองครอบคลุมทุกจุดที่อาจเกิดมะเร็งกับผู้หญิง และอํานวยความสะดวกให้กับประชาชนสามารถเดินทางมา ตรวจได้ในวันเดียว
พญ.พิสมัย เจริญปัณญวิชย์ สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งนรีเวช อธิบายเติมเพิ่มถึงขั้นตอนการตรวจ จะมีการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่มูลนิธิกาญจนบารมี ร่วมกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ระดับตำบล (รพ.สต.) และ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ออกตรวจพร้อมกับรถหน่วยคัดกรองมะเร็งนรีเวช โดยผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงจะเป็นสตรีอายุ 30-60 ปี หากพบความผิดปกติจะส่งต่อเข้ารับการรักษาตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป โดยเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถรองรับผู้เข้ารับการตรวจภายในได้ถึงวันละ 30 คน
ทั้งนี้ รถหน่วยคัดกรองมะเร็งนรีเวช 1 คันมีห้องตรวจ 2 ห้องที่พร้อมให้บริการและยังสามารถทำหัตถการได้หากเกิดกรณีที่ต้องทำการผ่าตัด โดยสามารถทำการผ่าตัดปากมดลูกด้วยการเครื่องมือทั้งแบบจี้ร้อนและจี้เย็นได้เพื่อรักษาความผิดปกติของปากมดลูกระยะก่อนมะเร็งขั้นที่ 2 และ 3 ซึ่งจะใช้ในการรักษาอย่างรวดเร็วและจะไม่เจ็บปวด
และยังประกอบด้วยเครื่องตรวจเคลื่อนเสียงความถี่สูง หรือ เครื่องอัลตราซาวด์ ตรวจมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก/มะเร็งมดลูก หรือการหนาตัวผิดปกติก่อนเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เช่น มดลูกมีก้อน หรือ มดลูกโต รวมถึงยังดูขนาดของรังไข่ ก้อนเนื้องอก และซีสต์หรือถุงน้ำรังไข่ที่เป็นส่วนหนึ่งอาจเกิดมะเร็งได้ เมื่อพบความผิดปกติและทำการรักษาเบื้องต้นแล้วจะส่งให้กับโรงพยาบาลจังหวัดเพื่อติดตามและวางแผนการรักษาแบบครบวงจรให้หายขาดได้
รถหน่วยคัดกรองมะเร็งนรีเวชจะทำการลงพื้นที่ที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดแรกในวันที่ 2 มกราคม 2568
การตรวจคัดกรองมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรีสามารถทำได้หลายวิธีดังนี้
1. การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear) 2. การตรวจชนิด ติน แพร็พ แป๊ป เทสต์ (ThinPrep Pap Test) 3. การตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ด้วยวิธีการตรวจ DNA 4. การตรวจด้วยเครื่องส่องปากมดลูก (Colposcopy) 5. การขูดมดลูก (Curettage) 6. การทำอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) 7. การส่องกล้องในโพรงมดลูก (Hysteroscopy) 8. การฉีด Vaccine ป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV Vaccine)