posttoday

สูตรคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ ในอินโดนีเซีย

08 กุมภาพันธ์ 2561

เมื่อต้นปีนี้ทางรัฐบาลไทยได้ประกาศอัตราค่าแรงขั้นต่ำออกมา ที่อินโดนีเซียเองก็ได้ประกาศค่าแรงขั้นต่ำใหม่เช่นกัน โดยออกประกาศไปเมื่อเดือน ต.ค. 2560

โดย...ดิลก ถือกล้า

เมื่อต้นปีนี้ทางรัฐบาลไทยได้ประกาศอัตราค่าแรงขั้นต่ำออกมา ที่อินโดนีเซียเองก็ได้ประกาศค่าแรงขั้นต่ำใหม่เช่นกัน โดยออกประกาศไปเมื่อเดือน ต.ค. 2560 แต่ที่น่าสนใจเกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำที่อินโดนีเซียมี 2 ประเด็น คือ หนึ่งการกำหนดสูตรการคำนวณ และสอง การแบ่งโซนในการกำหนดค่าแรง

ในเรื่องการกำหนดสูตรในการคำนวณได้มีการกำหนดและประกาศไว้อย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2558 ด้วยเหตุผลคือ ทางรัฐบาลอินโดนีเซีย เขาต้องการที่จะให้ผู้ประกอบการได้เห็นแนวทางในการปรับค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อจะพอคาดการณ์แนวโน้มค่าแรงที่จะปรับขึ้นได้ในอนาคต แม้รัฐบาลอาจจะยังไม่กำหนดก็ตาม โดยได้กำหนดสูตรคำนวณไว้ ได้กำหนดไว้ดังนี้ คือ

ค่าแรงขั้นต่ำ = ค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบัน + (ค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบัน X (อัตราเงินเฟ้อ + % GDP ที่ขึ้นระหว่างปี)

ดังนั้น เมื่อจะกำหนดค่าแรงขั้นต่ำในปี 2561 รัฐบาลก็นำสูตรการคำนวณมาแทนสูตรก็จะได้ออกมาคือ

อัตราเงินเฟ้อในปี 2560 จะอยู่ที่ 3.72% และการเติบโตของ GDP จะอยู่ที่ 4.99% เมื่อสองตัวนี้รวมกันก็จะตกอยู่ที่ 8.17% สูตรที่จะใช้ปรับก็จะออกมาเป็นค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบัน + (ค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบัน X 8.17%)

ตัวอย่างเช่น ที่จาการ์ตาค่าแรงขั้นต่ำปี 2560 จะอยู่ที่ 3,355,750 รูเปียห์ (7,818 บาท) เมื่อเข้าสูตรคำนวณก็จะได้เป็น 3,355,750 รูเปียห์ คูณ 8.71% ได้ออกมา 292,285 รูเปียห์ (681 บาท) รวมแล้วจะได้ค่าแรงขั้นต่ำใหม่ที่ 3,355,750 + 292,285 = 3,648,035 รูเปียห์ (8,499 บาท) เป็นค่าแรงขั้นต่ำปี 2561 ของกรุงจาการ์ตา และตัวเลขคำนวณนี้จะใช้เป็นสูตรคำนวณทั้งประเทศด้วยการใส่ค่าแรงขั้นต่ำปี 2560 ลงไป

ในเรื่องการแบ่งโซนในการกำหนดค่าแรงที่อินโดนีเซียจะแบ่งโซนการขึ้นค่าแรงเป็น 2 โซนใหญ่ๆ คือ หนึ่ง เขตเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจมีทั้งหมด 9 เมืองสำคัญ เช่น จาการ์ตา สุราบายา เบกาสี เป็นต้น กับสอง เขตจังหวัดรอบนอกมีทั้งหมด 29 เมือง เช่น อาเจะห์ กาลิมันตันตะวันตก กาลิมันตันตะวันออก เป็นต้น โดยเขตจังหวัดรอบนอกเริ่มมีการกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป โดยอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่จังหวัดรอบนอกไม่จำเป็นจะต้องต่ำกว่าเขตเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจเสมอไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยประกอบกันหลายปัจจัย

นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากที่รัฐบาลอินโดนีเซียกำหนดสูตรไว้แบบนี้ เพราะในด้านผู้ประกอบการเองเขาสามารถคำนวณต้นทุนในอนาคตได้คร่าวๆ ทำให้สามารถวางแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกัน ลูกจ้างเองก็ได้มองเห็นว่า ค่าจ้างที่ตนพึงได้น่าจะอยู่ที่เท่าไร ทำให้ไม่เกิดความคาดหวังที่มากเกินที่ควรจะเป็น