มาเลเซียทบทวนลงทุนจีน
โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา การค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา การค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
หลังจาก ดร.มหาเธร์ เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2561 ได้สั่งให้มีการทบทวนนโยบายเศรษฐกิจและความร่วมมือกับต่างประเทศในหลายโครงการ ผมพอจะสรุปนโยบายหลักๆ ที่มีการทบทวนการลงทุนและความร่วมมือ ดังนี้ 1.การเข้าร่วม "ข้อตกลงความครอบคลุมและก้าวหน้า เพื่อหุ้นส่วนการค้าภาคพื้นเอเซีย-แฟซิฟิก (CPTPP) ของ 11 ประเทศสมาชิกจาก "ข้อตกลง TPP เดิม" โดยมีญี่ปุ่นและออสเตรเลียเป็น "หัวขบวนหลัก" แทนสหรัฐอเมริกา นายกฯ มหาเธร์ มองว่า การทำ CPTPP ต้องทบทวนด้วยเหตุผลคือ มาเลเซียเสียเปรียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าการลงทุนอีก 19 ฉบับที่โยงกับแรงงาน ทรัพย์สินทางปัญญา ภาษีศุลกากร เศรษฐกิจดิจิทัล ความสามารถในการแข่งขันของรัฐวิสาหกิจ การค้าบริการและลงทุนผ่านแดน สิ่งแวดล้อมยังไม่ได้รับการปรับปรุง
ทั้งนี้ ข้อตกลง CPTPP ได้ลงนามโดยรัฐมนตรีของแต่ละประเทศที่กรุงซานติอาโก ประเทศชิลี เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2561 และจะมีผลบังคับใช้ภายใน 60 หลังสมาชิกอย่างน้อย 6 ประเทศ ที่สภาผู้แทนของประเทศตนเองให้การรับรอง คาดว่าอย่างช้าน่าจะมีผลบังคับในปี 2562 บริษัท มูดี้ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moodys) และ PWC มองว่าการเข้าร่วม CPTPP ของมาเลเซียจะทำให้ GDP มาเลเซียเพิ่มขึ้น 0.6-1.2% ต่อปี สินค้าที่จะได้ประโยชน์คือ น้ำมันปาล์ม ถุงมือยาง รถยนต์และชิ้นส่วน และ เครื่องใช้ไฟฟ้า มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 0.2-3.7 โดยเฉพาะอย่างยิ่งแคนาดาและเม็กซิโก อย่างไรก็ตาม มาเลเซียจะต้องเปิดสินค้าหลายชนิดใน 15 ปีข้างหน้า เช่น สัตว์มีชีวิตและเนื้อสัตว์ ประมง ผัก นม น้ำตาล ผลไม้ และบุหรี่ เป็นต้น
2.ทบทวนข้อตกลงการซื้อขายน้ำดื่มระหว่างสิงคโปร์กับมาเลเซีย ตามข้อตกลง "1962 Water Agreement" หรือเรียกว่า "The Johor River Water Agreement" ลงนามเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2505 ระยะเวลา 99 ปี ที่จะสิ้นสุดในปี 2605 (เหลืออีก 43 ปี) โดยสิงคโปร์ซื้อน้ำจากมาเลเซียวันละ 250 ล้านแกลลอน ในราคา 3 เซนต์/1,000 แกลลอน แสดงว่าสิงคโปร์ซื้อน้ำจากมาเลเซียวันละ 7,500 บาท เรื่องนี้เป็น "มหากาพย์" ที่ทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์หาข้อสรุปกันไม่ได้ นายกฯ มหาเธร์ มีการเจรจาเพื่อทบทวนราคาซื้อขายน้ำมาตั้งแต่ท่านเป็นนายกฯ ครั้งแรก ปี 2543 ตกลงซื้อขายกันที่ 45 เซนต์/1,000 แกลลอน ปี 2554 มาเลเซียต้องการขายที่ราคา 60 เซนต์/1,000 แกลลอน และทบทวนราคาในทุก 5 ปี แต่ทางสิงคโปร์เสนอ 45 เซนต์/1,000 แกลลอน และเป็น 60 เซนต์ ในปี 2605 เห็นได้ว่าราคาซื้อขายเป็นสาเหตุหลักที่ต้องทบทวน
3.ทบทวนการลงทุนของจีนในมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการสร้างรถไฟ 2 โครงการ คือ รถไฟมาเลเซีย-สิงคโปร์ และรถไฟ "East Coast Rail Line (ECRL)" ซึ่งทั้งสองโครงสร้างเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟสิงคโปร์-คุนหมิง ระหว่างปี 2553-2559 FDI ที่เข้าไปลงทุนในมาเลเซียปรับลดลงจาก 120 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 96 พันล้านดอลลาร์ โดย FDI จีนเพิ่มจาก 6,000 ล้านดอลลาร์ เป็น 9,000 ล้านดอลลาร์ แต่หากรวมจีน ฮ่องกง และไต้หวัน FDI ของจีนจะเป็น 22 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2559 เป็นอันดับ 2 รองจากยุโรป ในอีก 20 ปีข้างหน้า จีนจะลงทุนในมาเลเซียเพิ่มอีกเป็น 939 พันล้านดอลลาร์ รวมทั้งหมด 16 โครงการ มีทั้งร่วมทุนกับรัฐวิสาหกิจจีนกับบริษัทจีน เหตุผลหลักที่จีนสนใจลงทุนเพราะมาเลเซียอยู่บนเส้นทาง Maritime Silk Road (Fushou-GuangzhouHanoi-Malaysia-Indonesia-India-Sri Lanka-Kenya-Middle East-EU)
นายกฯ มหาเธร์ ต้องการทบทวนโครงการรถไฟ ECRL มูลค่าก่อสร้าง 17.5 พันล้านดอลลาร์ ระยะทาง 688 กิโลเมตร (กม.) จากท่าเรือกลาง รัฐสรังฮอ ปาหัง และกลันตัน เพราะกังวลว่า 1.การลงทุนจีนเหมือนกับการลงทุนในศรีลังกาที่ไม่สามารถจ่ายหนี้ให้กับจีนได้ เลยต้องเสียที่ดิน รวมถึงการให้จีนเช่าท่าเรือ "Hambantota" (อยู่ทางตอนใต้) 99 ปี เพื่อลดภาระหนี้ 2.สัญญาไม่ถูกต้อง ECRL เป็นเงินของ EXIM ของจีน แล้วให้รัฐวิสาหกิจจีนสร้าง โดยที่บริษัทมาเลเซียไม่ได้ประโยชน์อะไร 3.คนมาเลย์ไม่มีกำลังซื้อที่อยู่อาศัยแพงๆ 4.ต้นทุนในการก่อสร้างสูงเกินไป KL-Singapore วงเงิน 16 พันล้านดอลลาร์ แต่ World Bank คำนวณว่าต้นทุนการก่อสร้าง 21 ล้านดอลลาร์/กม. หรือ 7,300 ล้านดอลลาร์เท่านั้น